ค้นหา Lab Tests

อ่าน: 530
Small_font Large_font

เฮทเทอโรไฟล์แอนติบอดี : Heterophile antibody

ชื่อภาษาอังกฤษ

Heterophile antibody


ชื่อภาษาไทย

เฮทเทอโรไฟล์แอนติบอดี


ชื่อหลัก

Heterophile antibody test


ชื่ออื่น

monospot test, Mononucleosis spot test, mononuclear heterophil test, heterophil antibody titer, Mono test


การทดสอบที่เกี่ยวข้อง

Tests for antibodies to Epstein-Barr virus (EBV) antigens, Paul-Bunnell test


ความรู้ทั่วไป

ตรวจเพื่ออะไร

การตรวจเฮทเทอโรไฟล์แอนติบอดี (heterophile antibody) เป็นวิธีการตรวจที่ใช้มานานและยังมีประโยชน์ ผลจะเป็นบวกในผู้ที่เป็นโมโนนิวคลีโอซิส (mononucleosis) จากเอ็พสไตน์บาร์ไวรัส (Epstein-Barr virus) หรืออีบีวี (EBV)

อีบีวี (EBV) เป็นไวรัสในตระกูลเฮอร์ปีส์วิริดี (Family Herpesviridae) ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นดีเอ็นเอ (DNA) เส้นตรง นอกจากนี้ยังพบว่าเมเจอร์ฮิสโตคอมแพททาบิลิตี้คอมเพล็กซ์ (Major Histocompatibility Complex) หรือเอ็มเอชซีคลาสทู (MHC class II) เป็นปัจจัยร่วมในการติดเชื้ออีกด้วย อีบีวี (EBV) จะถอดรหัสให้โปรตีนมากเกือบ ๑๐๐ ชนิด ระหว่างที่ไวรัสมีการแบ่งตัว โปรตีนเหล่านี้มีความสำคัญในการควบคุมการแสดงออก (expression) ของยีนของไวรัส ในการเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอ (DNA) ในการสร้างโครงสร้างของไวรัส และการเปลี่ยนแปลงภูมิคุ้มกันของโฮสต์ เป็นต้น การติดเชื้ออีบีวี (EBV) ในเซลล์เยื่อบุผิว (epithelial cells) จะทำให้เกิดการแบ่งตัวของไวรัสอย่างมากมายและนำไปสู่การทำลายเซลล์ (cell lysis) ในที่สุด ในทางตรงกันข้าม การติดเชื้ออีบีวี (EBV) ในบีเซลล์ (B cells) จะทำให้เกิดติดเชื้อแบบแอบแฝง (latent infection) และทำให้บีเซลล์ (B cells) สามารถโตไปได้เรื่อยๆ (Immortalisation) โดยในการติดเชื้อชนิดนี้อีบีวีดีเอ็นเอ (EBV DNA) จะเปลี่ยนจากเส้นตรงไปเป็นวงกลม (episome) ส่วนใหญ่แล้วอีบีวี (EBV) ในบีเซลล์ (B cells) เหล่านี้จะแอบแฝงอยู่ในเซลล์โดยไม่แบ่งตัว

อีบีวี (EBV) ก่อโรค หรือมีความสัมพันธ์กับโรคหลายชนิด ตั้งแต่โรคที่ไม่มีความรุนแรงและหายได้เอง เช่นอินเฟ็คเชียสโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious mononucleosis) ไปจนถึงโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma) ในคนส่วนใหญ่แล้วอีบีวี (EBV) เป็นไวรัสที่ไม่มีอันตราย แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี อีบีวี (EBV) อาจจะเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และได้รับยากดภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับการแบ่งตัวของลิมโฟไซต์ที่เกี่ยวข้องกับอีบีวีหลังปลูกถ่ายอวัยวะ (EBV-associated post-transplant lymphoproliferative diseases) หรือพีทีแอลดี (PTLD) ส่วนผู้ป่วยโรคเอดส์มีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของระบบประสาทส่วนกลาง (Primary Central Nervous System Lymphoma) หรือพีซีเอ็นเอสแอล (PCNSL) อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าในโรคอื่นๆที่สัมพันธ์กับการติดเชื้ออีบีวี (EBV) อาจจะสัมพันธ์กับการลดลงของภูมิคุ้มกันเช่นกัน แต่เป็นการลดลงในระดับที่เห็นได้ไม่ชัดเจน หรือในโรคเอดส์ หรือในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรืออาจจะมีภูมิคุ้มกันจำเพาะต่ออีบีวี (EBV) เท่านั้นที่ลดลง ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มในส่วนอื่นยังปกติดีอยู่ และยากที่จะสังเกตว่าผู้นั้นมีภูมิคุ้มกันลดต่ำลงไป

อีบีวี (EBV) นับว่าเป็นไวรัสที่ประสบความสำเร็จในการแพร่เชื้อมาก การแพร่กระจายเชื้อของอีบีวี (EBV) จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งเป็นไปได้โดยการสัมผัสน้ำลายที่ติดเชื้อ ในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ประชากรจะมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการติดเชื้อเป็นครั้งแรกช้าลง โดยพบว่าส่วนใหญ่การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงอายุวัยรุ่น การติดเชื้อในวัยเด็กเล็กมักเป็นการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ (subclinical infection) ส่วนการติดเชื้อในวัยรุ่น หรือในวัยผู้ใหญ่จะมีอาการของโรคติดเชื้ออีบีวี (EBV) ที่เรียกว่าอินเฟ็คเชียสโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious mononucleosis) นอกจากการติดเชื้อผ่านทางน้ำลายแล้วอีบีวี (EBV) อาจจะแพร่เชื้อผ่านทางการให้เลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด และการปลูกถ่ายอวัยวะได้

การติดเชื้ออีบีวี (EBV) จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันทั้งด้านสารน้ำ (Humoral immunity) และภูมิคุ้มกันทางด้านเซลล์ ในขณะที่แอนติบอดีถึงแม้จะไม่มีประโยชน์ในการควบคุมการติดเชื้อ แต่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ส่วนภูมิคุ้มกันด้านเซลล์นั้น มีหลักฐานยืนยันว่ามีบทบาทสำคัญในการควบคุมการติดเชื้ออีบีวี (EBV) แอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้ออีบีวี (EBV) มีทั้งที่จำเพาะต่ออีบีวี (EBV) และจำเพาะต่อสิ่งอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับอีบีวี (EBV) แอนติบอดีประการหลังนี้ เรารู้จักกันดีในชื่อเฮทเทอโรไฟล์แอนติบอดี (heterophile antibody) ซึ่งจะพบในสัปดาห์แรก ถึงสัปดาห์ที่สองหลังจากมีอาการของอินเฟ็คเชียสโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious mononucleosis) และจะหายไปภายในสัปดาห์ที่สี่ ถึงสัปดาห์ที่หก ส่วนแอนติบอดีที่จำเพาะต่ออีบีวี (EBV) นั้น มีหลายชนิดด้วยกัน ชนิดแรกที่ตรวจพบได้แก่ แอนติบอดีต่อแคพซิสแอนติเจนของไวรัส (viral capsid antigen) หรือแอนติวีซีเอแอนติบอดี (Anti-VCA Ab) ซึ่งจะขึ้นสูงสุดในสัปดาห์ที่สองสำหรับไอจีเอ็ม (IgM) และลดลงจนตรวจไม่พบในเดือนที่สามหลังจากมีอาการ ส่วนไอจีจี (IgG) นั้นจะตรวจพบสูงสุดในสัปดาห์ที่สามถึงสัปดาห์ที่สี่ และคงอยู่ตลอดชีวิต แอนติบอดีอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญได้แก่ แอนติบอดีต่ออีบีเอ็นเอวัน (EBNA1) ซึ่งสามารถตรวจพบได้ประมาณหนึ่งเดือนหลังมีอาการ และจะคงอยู่ตลอดชีวิตของผู้ติดเชื้อ


ตรวจเมื่อใด

การตรวจเฮทเทอโรไฟล์แอนติบอดี อาจทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการของโมโนนิวคลีโอซิส (mononucleosis) แต่ผลการตรวจเป็นลบ หรือสงสัยว่าติดเชื้ออีบีวี (EBV) หรือไม่ และเมื่อสตรีมีครรภ์มีอาการเป็นไข้ และแพทย์ต้องการตรวจสอบว่ามีอาการเนื่องจากอีบีวี (EBV) หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ซึ่งการแสดงอาการเช่น อ่อนเพลีย มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบตับและม้ามโต

อินเฟ็คเชียสโมโนนิวคลีโอซิส (infectious mononucleosis) หรือ แกลนดูล่าร์ฟีเวอร์ (glandular fever) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดที่เกิดจากอีบีวี (EBV) มักเกิดในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อาการเช่นไข้ เจ็บคอ มีน้ำหนองที่เรียกว่าเอ็กซูเดต (exudate) ต่อมน้ำเหลืองทั่วไปโต และม้ามโต


สิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้

เลือด (เจาะจากหลอดเลือดดำที่แขน)


แหล่งอ้างอิง

  1. http://www.cai.md.chula.ac.th/lesson/lesson4705/html/antibody.html
  2. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/applications/pics/EBV.html

ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจสอบ

ห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก



24 เมษายน 2554 12 สิงหาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย