ค้นหา Lab Tests

อ่าน: 2314
Small_font Large_font

อิเล็กโทรไลต์ : Electrolytes

ชื่อภาษาอังกฤษ

Electrolytes


ชื่อภาษาไทย

อิเล็กโทรไลต์


ชื่อหลัก

Electrolyte Panel


ชื่ออื่น

Electrolytes


การทดสอบที่เกี่ยวข้อง

Sodium, Potassium, Chloride, Bicarbonate (or total CO2), CMP, BMP


ความรู้ทั่วไป

ตรวจเพื่ออะไร

อิเล็กโทรไลต์ คือคือ สารที่เมื่ออยู่ในตัวทำละลายเช่นในน้ำ จะแตกตัวเป็นประจุหรือไอออน (ion) ประเภทที่มีประจุบวก (cation) ได้แก่โซเดียม (Na+), โปตัสเซียม (K+), แมกนีเซียม (Mg2+), แคลเซียม (Ca2+), ประเภทที่มีประจุลบ (anion) ได้แก่คลอไรด์ (Cl-), ไบคาร์บอเนต (HCO3-), ฟอสเฟต, ซัลเฟต, แลคเตต (lactate), ไพรูเวต (pyruvate), อะซีเตต (acetate) และโปรตีน (protein)

ในภาวะปกติเลือดจะประกอบด้วย น้ำ 93% และอีก 7% เป็นของแข็งที่ประกอบด้วย อิเล็กโทรไลต์ โปรตีน และไขมัน สารที่ละลายน้ำแล้วไม่ให้ประจุไฟฟ้าจะไม่เรียกว่าอิเล็กโทรไลต์ ได้แก่ กลูโคส, โปรตีนและไขมัน ส่วนโปรตีนเป็นตัวสำคัญที่จะอุ้มน้ำไว้ในหลอดเลือด ในภาวะปกติโปรตีนในเลือดมีโมเลกุลใหญ่ไม่สามารถผ่านผนังเซลล์เข้าไปอยู่ในเซลล์ได้ แต่ถ้าสามารถแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้าได้ โปรตีนในเลือดที่สำคัญ ได้แก่อัลบูมิน (albumin), โกลบูลิน (globulin) และไฟบริโนเจน (fibrinogen)

อิเล็กโทรไลต์มีการกระจายตัวไม่สม่ำเสมอในแต่ละส่วนของร่างกาย ซึ่งบางชนิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างอิสระ แต่บางชนิดมีขอบเขตจำกัดในการแลกเปลี่ยน น้ำภายในเซลล์และภายนอกเซลล์จะมีอิเล็กโทรไลต์คล้ายกันแต่มีปริมาณแตกต่างกัน อิเล็กโทรไลต์บางชนิดมีความสำคัญกับน้ำนอกเซลล์ บางชนิดมีความสำคัญกับน้ำในเซลล์ ดังนี้คือ น้ำนอกเซลล์มี โซเดียม เป็นประจุบวก (cation) และคลอไรด์ เป็นประจุลบ (anion) ที่สำคัญ น้ำภายในเซลล์จะมีโปแตสเซียมเป็นประจุบวก (cation) และ ฟอสเฟตเป็นประจุลบ (anion) ที่สำคัญ น้ำระหว่างเซลล์และพลาสม่าเป็นน้ำที่อยู่ภายนอกเซลล์จะมีส่วนประกอบต่างๆ ใกล้เคียงกัน แต่ที่มีความแตกต่างกันมากคือ โปรตีน ในพลาสม่ามีโปรตีนมากส่วนน้ำระหว่างเซลล์มีโปรตีนน้อย เนื่องจากว่าโปรตีนที่อยู่ในพลาสม่าเป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่ จึงไม่สามารถผ่านผนังของหลอดเลือดหรือออกมาได้เพียงเล็กน้อย

อิเล็กโทรไลต์มีความสำคัญอย่างยิ่งในขบวนการเผาผลาญ (metabolic process) ทุกชนิด โดยมีหน้าที่

  • ปรับความดันออสโมติก (osmotic pressure) ให้น้ำกระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้สมดุลตลอดเวลา
  • ปรับภาวะความเป็นกรดด่าง (pH)ภายในร่างกายให้เหมาะสม อยู่ในระดับปกติ
  • ปรับการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อต่าง ๆ และระบบประสาท
  • ร่วมในปฏิกิริยาออกซิเดชั่น-รีดักชั้น (oxidation-reduction) โดยช่วยปรับดุบของประจุบวกและประจุลบที่อยู่ในส่วนที่เป็นของเหลว (fluid compartment) ต่าง ๆ ให้มีค่าเท่ากัน
  • เป็นปัจจัยร่วม (cofactor) สำคัญในปฏิกิริยาการออกฤทธิของเอนไซม์

ระดับของอิเล็กโทรไลต์ที่ผิดปกติชี้บ่งความผิดปกติภายในร่างกาย ร่างกายจะรักษาดุลของอิเล็กโทรไลต์โดยจัดการส่วนที่ได้รับเข้าไปในร่างกายกับส่วนที่ขับออกจากร่างกายให้มีปริมาณเท่ากัน โดยส่วนใหญ่ร่างกายได้รับอิเล็กโทรไลต์จากอาหารซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ แล้วดูดซึมเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร และมีการขับถ่ายอิเล็กโทรไลต์ส่วนเกินออกได้ 3 ทางใหญ่ ๆ คือ ทางไต เป็นทางที่ขับออกมากที่สุด ทางระบบทางเดินอาหาร และทางผิวหนัง

ในภาวะปกติ ไตจะทำหน้าที่ในการควบคุมความสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ โดยอาศัยฮอร์โมนต่าง ๆ คือเรนิน-แองจิโอเทนซิน (rennin-angiotensin), อัลโดสเตอโรน (aldosterone) และแอนตี้ไดยูเรติกฮอร์โมนหรือเรียกว่าเอดีเอช (antidiuretic hormone: ADH) ดังนั้นการตรวจอิเล็กโทรไลต์ในสารน้ำของร่างกายจึงมีความสำคัญทางคลินิก

การสั่งตรวจอิเล็กโทรไลต์ทางเคมีคลินิก หมายถึงการวิเคราะห์ 4 ชนิดคือโซเดียม (Na+), โปตัสเซียม (K+), คลอไรด์ (Cl-)และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เนื่องจากเป็นไอออนที่สำคัญในร่างกาย ซึ่งเป็นอิเล็กโทรไลต์ส่วนใหญ่ในสารน้ำในเซลล์ (intracellular fluid: ICF) และสารน้ำนอกเซลล์ (extra cellular fluid: ECF)

เหตุที่นิยมตรวจทั้งสี่ชนิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอิเล็กโทรไลต์ชนิดใดชนิดหนึ่งมีผลทำให้อิเล็กโทรไลต์ชนิดอื่นเปลี่ยนแปลงด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลทางประจุ


ตรวจเมื่อใด

การสั่งตรวจอิเล็กโทรไลต์เป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบประจำที่ใช้ในการวินิจฉัยเมื่อผู้ป่วยมีอาการเช่น บวม, คลื่นไส้, อ่อนแรง, มีอาการสับสน, หัวใจเต้นผิดปกติ และถูกใช้บ่อยในการสั่งตรวจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และช่วงเวลาปกติเมื่อผู้ป่วยมีโรค หรือใช้ยาที่มีผลต่อสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ ส่วนใหญ่การตรวจอิเล็กโทรไลต์ใช้เพื่อติดตามการรักษา รวมทั้งโรคความโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคตับและโรคไต


สิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้

เจาะเลือดจากเส้นเลือดดำที่แขน


แหล่งอ้างอิง

  1. http://www.labtestsonline.org/understanding/analytes/electrolytes/glance.html
  2. http://www.medtechzone.com/data/chem/Elyte.php
  3. นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล, วัฒนา เลี้ยววัฒนา, ดาราวรรณ วนชิวนาวิน, มงคล คุณากร และวนิดา วงศ์ถิรพร พยาธิวิทยาคลินิก พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ สมาคมพยาธิวิทยาคลินิกไทย (สพคท.) 2545:107-8.

ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจสอบ

ห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก



14 กุมภาพันธ์ 2554 13 เมษายน 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย