ค้นหา Lab Tests

อ่าน: 2009
Small_font Large_font

การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ : Complete Blood Count

ชื่อภาษาอังกฤษ

Complete Blood Count


ชื่อภาษาไทย

การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์


ชื่อหลัก

Complete Blood Count (การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์)


ชื่ออื่น

ซีบีซี (CBC); Hemogram; CBC with differential


การทดสอบที่เกี่ยวข้อง

  • Blood smear (การทำให้เลือดแผ่กระจายออกไปบนแผ่นสไลด์ เพื่อศึกษาโดยใช้กล้องจุลทรรศน์);
  • Hemoglobin;
  • Hematocrit;
  • Red blood cell (RBC) count (การนับปริมาณเม็ดเลือดแดง);
  • White blood cell (WBC) count (การนับปริมาณเม็ดเลือดขาว);
  • White blood cell differential count (การนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว);
  • Platelet count (การนับปริมาณเกร็ดเลือด)

ความรู้ทั่วไป

ตรวจเพื่ออะไร

ซีบีซีใช้เป็นการตรวจคัดกรองพื้นฐานเพื่อตรวจดูสภาวะสุขภาพโดยทั่วไปและเพื่อตรวจคัดกรองและติดตามตรวจสอบความผิดปกติหลายสภาวะ เช่น โลหิตจาง การติดเชื้อและโรคอื่นอีกหลายโรค โดยทั่วไปแล้วเป็นชุดการทดสอบที่ทำเพื่อตรวจดูส่วนต่างๆของเลือดที่ประกอบ ด้วย

  • การนับจำนวนเม็ดเลือดขาว (White blood cell (WBC) count) เป็นการนับจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวต่อหน่วยปริมาตรของเลือด ทั้งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นสิ่งที่สำคัญ
  • การนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว (White blood cell differential) เพื่อตรวจว่ามีเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดในจำนวนเท่าใด เพราะเม็ดเลือดขาวประกอบด้วยเซลล์ต่างกัน 5 ชนิดคือ นิวโทรฟิลล์ (neutrophil), ลิมโฟไซต์ (lymphocyte), โมโนไซต์ (monocyte), อีโอสิโนฟิลล์ (eosinophil), และเบโสฟิลล์ (basophil) ซึ่งแต่ละชนิดมีหน้าที่ของตนเองในการป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย
  • การนับจำนวนเม็ดเลือดแดง (Red blood cell (RBC) count) เป็นการนับจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดงต่อหน่วยปริมาตรของเลือด การที่มีจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงอาจบ่งบอกถึงสภาวะผิดปกติของร่างกาย
  • ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เป็นการวัดความเข้มข้นของเลือด โดยวัดปริมาณของโปรตีนที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนในเลือด
  • ฮีมาโตคริต (hematocrit) เป็นการวัดปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ได้เป็นจำนวนร้อยละของเม็ดเลือดแดงต่อหน่วยปริมาตรของเลือด
  • การนับจำนวนเกร็ดเลือด (Platelet count) วัดปริมาณเกร็ดเลือดต่อหน่วยปริมาตรของเลือด การที่มีปริมาณมากขึ้นหรือลดลงบ่งบอกถึงความผิดปกติของการมีเลือดออกมากหรือมีการแข็งตัวของเลือด เครื่องวัดจะคำนวณค่าเฉลี่ยปริมาตรเกร็ดเลือด (Mean platelet volume: MPV) ซึ่งแสดงถึงขนาดเฉลี่ยของเกร็ดเลือด เกร็ดเลือดที่สร้างใหม่จะมีขนาดใหญ่กว่าและการที่มี MPV สูงขึ้น พบในสภาวะที่มีการสร้างเกร็ดเลือดเพิ่มขึ้น แพทย์จะใช้ค่านี้เพื่อประเมินการสร้างเกร็ดเลือดในไขกระดูก
  • ปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือด (Mean corpuscular volume:MCV) เป็นการวัดขนาดโดยเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดง ค่าจะสูงขึ้นเมื่อขนาดของเม็ดเลือดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเรียกว่า แมคโครไซติก (macrocytic) พบได้ในภาวะ เช่น โลหิตจางที่เกิดจากการขาดวิตะมินบี 12 และค่าต่ำลงจะพบเมื่อมีขนาดของเม็ดเลือดแดงเล็กกว่าปกติ ซึ่งเรียกว่า ไมโครไซติก (microcytic) เช่นที่พบในภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็กหรือในโรคธาลัสซีเมีย
  • ค่าเฉลี่ยปริมาณของฮีโมโกลบินที่มีอยู่ในเม็ดเลือดแดง (Mean corpuscular hemoglobin: MCH) เป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของปริมาณฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนที่ขนส่งออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงแบบแมคโครไซติกนั้นมีขนาดใหญ่จึงมีค่า MCH สูงในขณะที่แบบไมโครไซติก จะมีค่าต่ำ
  • ความเข้มข้นของงฮีโมโกลบินเฉลี่ยในเม็ดเลือดแดง (Mean corpuscular hemoglobin concentration: MCHC) เป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ค่า MCHC ต่ำลงซึ่งเรียกว่า ไฮโปโครเมีย (hypochromia) พบในภาวะที่มีฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงเจือจางกว่าปกติ เช่นในภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็กและในโรคธาลัสซีเมีย ค่า MCHC สูงขึ้นซึ่งเรียกว่า ไฮเปอโครเมีย (hyperchromia) พบในภาวะที่มีฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงเข้มข้นกว่าปกติ เช่นในคนไข้ไฟไหม้น้ำร้อนลวกและภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีเม็ดเลือดแดงมีลักษณะกลมและเล็กกว่าปกติ spherocytosis ซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย
  • การตรวจความแตกต่างของประชากรของเม็ดเลือดแดง (Red cell distribution width: RDW) เป็นการคำนวณความแตกต่างของขนาดเม็ดเลือดแดง ในโรคโลหิตจางบางชนิดเช่น เพอนิเชียส (pernicious anemia) ความแตกต่างของขนาดเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่า อนิโสไซโตสิส (anisocytosis) ร่วมกับการที่มีเม็ดเลือดแดงหลากหลายรูปร่างที่เรียกว่า พอยกิโลไซโตสิส (poikilocytosis) เป็นสาเหตุของการมี RDW สูงขึ้น


ตรวจเมื่อใด

ซีบีซีเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายพื้นฐานทั่วไป หรือตามการตัดสินใจของแพทย์ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพื่อพิจารณาสุขภาพโดยทั่วไป ว่าแข็งแรงมีจำนวนประชากรของเม็ดเลือดที่เป็นปกติ จากนั้นจะไม่ต้องตรวจซ้ำจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะสุขภาพหรือเมื่อแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องตรวจ

หากผู้ป่วยมีอาการเช่น เมื่อยล้า อ่อนเพลียหรือมีการติดเชื้อ การอักเสบ รอยฟกช้ำ มีเลือดออก แพทย์อาจสั่งตรวจซีบีซีเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ การพบปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นมากอาจช่วยยืนยันว่ามีการติดเชื้อและจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมอย่างอื่นเพื่อค้นหาเชื้อต้นเหตุ การพบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลงที่เรียกว่าภาวะเลือดจาง (anemia) จะต้องประเมินต่อว่ามีความเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเม็ดเลือดแดงอย่างไร เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุว่าเกิดจากการสร้างลดลง การสูญเสียเพิ่มขึ้น หรือมีการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง ส่วนการที่พบเกร็ดเลือดต่ำหรือสูงมากอาจช่วยยืนยันสาเหตุของการมีเลือดออกมากหรือมีการแข็งตัวและยังมีความเกี่ยวข้องกับโรคของไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย)
มีหลายสภาวะที่มีผลในการเพิ่มหรือลดประชากรเม็ดเลือด ซึ่งบางสภาวะอาจต้องทำการรักษา ในขณะที่บางอาการอาจหายได้เอง โรคบางอย่างเช่นมะเร็ง (และการรักษาด้วยเคมีบำบัด) มีผลกระทบต่อการสร้างเซลล์ในไขกระดูก การสร้างเซลล์ชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นอาจไปมีผลกับการสร้างเซลล์อื่นๆหรือมีการลดการสร้างเซลล์โดยรวม ยาบางชนิดมีผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวและการขาดวิตะมินและเกลือแร่บางชนิดทำให้เกิดโลหิตจาง แพทย์อาจสั่งตรวจซีบีซีเป็นระยะๆเพื่อติดตามภาวะเหล่านี้และติดตามการใช้ยาในการรักษาอาการ


สิ่งส่งตรวจที่ต้องใช้

เลือดที่เจาะจากเส้นเลือดดำที่แขนหรือเจาะจากปลายนิ้วหรือส้นเท้า (ในเด็กแรกเกิด)


แหล่งอ้างอิง

  1. http://www.labtestsonline.org/understanding/analytes/hepatitis_a/glance.html
  2. http://www.i-medipro.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=234115&Ntype=3
  3. http://th.wikipedia.org/wiki/การตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์
  4. บังอร ตัณฑ์เกยูร: บทที่ 7 การศึกษาสเมียร์เลือด: สุนารี องค์เจริญใจ, กฤษณา ปทีปโชติวงศ์ บรรณาธิการ. เทคนิคพื้นฐานทางโลหิตวิทยา (Basic Hematological Techniques):ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก, คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2548: 59 – 64.
  5. วนิดา (อัศวะมหาศักดา) อิฐรัตน์. โลหิตวิทยาทันยุค (Modern Hematology)กรุงเทพมหา นคร: เรือนแก้วการพิมพ์ ; 2545: 106-107, 109.
  6. http://th.wikipedia.org/wiki/โลหิตจาง

ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจสอบ

ห้องปฎิบัติการโลหิตวิทยา



28 มกราคม 2554 21 สิงหาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย