ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 261
Small_font Large_font

ขิง : Jiang (姜)

คำจำกัดความ

ขิง หรือ เจียง คือ เหง้าของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale (Willd.) Rosc. วงศ์ Zingiberaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

ขิง, ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทบุรี); ขิงเผือก (เชียงใหม่); สะเอ (กระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) [2]

ชื่อจีน

เจียง (จีนกลาง), เกีย (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Zingiber (Dried Ginger) [1]

ชื่อเครื่องยา

Rhizoma Zingiberis [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวเหง้าในฤดูหนาวเมื่อใบเหี่ยวเฉา แยกเอาใบ รากฝอย ดินและทรายออก ตากแดดหรือทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ขิงแห้ง เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรมาล้างน้ำให้สะอาด หมักไว้จนกระทั่งน้ำแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา หั่นเป็นแว่นหนา ๆ หรือเป็นชิ้น ๆ นำไปตากให้แห้งในที่ร่ม [1, 3]
วิธีที่ 2 ขิงปิ้ง (ขิงคั่ว) เตรียมโดยนำทรายที่สะอาดใส่ในภาชนะที่เหมาะสม ให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูง เติมตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ลงไป คนอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งตัวยากรอบ ผิวด้านนอกเป็นสีน้ำตาลดำ นำออกจากเตา ตั้งทิ้งให้เย็น [3]
วิธีที่ 3 ขิงถ่าน เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ นำไปผัดโดยใช้ไฟแรง ผัดจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีดำไหม้ เนื้อในเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม พรมน้ำเล็กน้อย นำออกจากเตา ทิ้งไว้ให้เย็น [3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี จะต้องเป็นชิ้นใหญ่ สมบูรณ์ และอวบหนา [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ขิงสด รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ขับเหงื่อ กระทุ้งพิษ สรรพคุณแก้หวัดจากการกระทบความเย็น มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากภาวะที่กระเพาะมีความเย็นสูง มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่ปอด ระงับไอ แก้ไอจากการกระทบความเย็น [1]
ขิงแห้ง รสเผ็ด ร้อน มีฤทธิ์เสริมความอบอุ่น ขับความเย็นและฟื้นฟูหยางชี่ของม้ามและกระเพาะอาหาร สมานระบบกระเพาะอาหารทำให้ชี่ลงต่ำ ระงับอาการคลื่นไส้อาเจียน [1, 3]
ขิงปิ้ง รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่เส้นลมปราณ ห้ามเลือด ใช้รักษาอาการเย็นพร่องแล้วอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ตกเลือดทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร แก้ปวด หยุดถ่าย [1, 3]
ขิงถ่าน รสขม อุ่น มีฤทธิ์ห้ามเลือดแรงกว่าขิงปิ้ง แต่ฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่เส้นลมปราณอ่อนกว่าขิงปิ้ง จึงใช้รักษาอาการเย็นพร่องแล้วทำให้เลือดออก เช่น เลือดออกมาก และเลือดออกชนิดเฉียบพลัน [3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ขิงสด รสหวาน เผ็ดร้อน มีสรรพคุณแก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายออกและเรอ [5, 6]
ขิงแห้ง รสหวาน เผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ไข้ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน [5, 6]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
การแพทย์แผนไทย ใช้เหง้าแก่ 5 กรัม ทุบพอแตก ฝานเป็นแว่น ๆ ชงน้ำร้อน 1 ถ้วย ปิดฝาไว้ 5 นาที ใช้น้ำที่ชงได้ดื่มวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร หรือใช้ผงขิงแห้ง 0.6 กรัม ชงน้ำดื่มหลังอาหาร แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ ใช้เหง้าสดตำคั้นเอาน้ำผสมกับมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบแก้ไอ ขับเสมหะ [5, 7, 8]

ข้อควรระวัง

น้ำขิงที่เข้มข้น จะออกฤทธิ์ตรงข้ามกัน ควรใช้ในปริมาณที่ไม่เข้มข้นเกินไป (การแพทย์แผนไทย) [5]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. น้ำคั้นขิงสดมีฤทธิ์ต้านการอาเจียนได้ผลดี และน้ำคั้นในระดับความเข้มข้นต่ำ ๆ จะเพิ่มแรงบีบตัวของลำไส้หนูโดยไม่ทำให้ความตึงตัวของลำไส้เปลี่ยนแปลง แต่ในระดับความเข้มข้นสูง ๆ จะลดแรงบีบตัวและความตึงตัวของลำไส้อย่างชัดเจน รวมทั้งสามารถเพิ่มแรงบีบตัวของลำไส้เล็กสุนัข7 นอกจากนี้น้ำคั้นขิงแก่ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราในช่องปาก [9]
  2. เมื่อให้สารสกัด 50 % แอลกอฮอล์ทางปากหนูถีบจักรในขนาด 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อให้ในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ระงับปวดได้อย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อให้สารสกัดดังกล่าวทางปากกระต่ายในขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดและมีฤทธิ์ต้านการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง สารสกัดอะซีโตนหรือ 50% แอลกอฮอล์ เมื่อให้แก่สุนัขทางปากในขนาด 25, 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดจำนวนครั้งของการอาเจียนที่เกิดจากยาต้านมะเร็งได้ ส่วนผลต่อการชะลอการเริ่มเกิดการอาเจียนครั้งแรกนั้น เฉพาะสารสกัดอะซีโตนขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือสารสกัด 50% แอลกอฮอล์ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เท่านั้นที่สามารถชะลอการเริ่มเกิดการอาเจียนได้อย่างมีนัยสำคัญ [10]
  3. ขิงสดมีสรรพคุณรักษาโรคไข้หวัดจากการกระทบลมเย็น แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แก้ท้องเสีย [11]
  4. ผงขิงในขนาด 940 มิลลิกรัม มีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดอาการเมารถเมาเรือได้ดี เมื่อให้หญิงมีครรภ์รับประทานขิงผงบรรจุแคปซูลขนาด 1 กรัม นาน 4 วัน ให้ผลในการต้านการอาเจียนเนื่องจากตั้งครรภ์ และไม่พบอาการข้างเคียงแต่ประการใด8 นอกจากนี้ยังพบว่าขิงช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการบวมของข้อ และยังทำให้การทำงานของข้อฟื้นตัวดีขึ้นในผู้ป่วยโรคปวดข้อรูมาตอยด์ และผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง [11]
  5. การทดสอบความเป็นพิษพบว่า เมื่อฉีดน้ำคั้นขิงสดที่มีความเข้มข้น 20% เข้าหลอดเลือดดำหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 1500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาการพิษที่ทำให้สัตว์ตาย คือ ชักและหยุดหายใจ12 เมื่อป้อนสารสกัด 80% แอลกอฮอล์ ขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม จะทำให้เกิดอาการพิษในหนูถีบจักร13 การใช้สารสกัด 50% หรือ 90% แอลกอฮอล์ ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย 50% เท่ากับ 178 และ 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ [14, 15] การฉีดสารสกัด 90% แอลกอฮอล์เข้าหลอดเลือดดำกระต่ายขนาด 2 มิลลิลิตร ทำให้กระต่ายตาย16 สารสกัดด้วยอีเทอร์เมื่อให้ผู้ใหญ่รับประทานมีอาการพิษเกิดขึ้นได้ [17]
  6. ยังไม่พบรายงานเกี่ยวกับการเกิดพิษจากการใช้ขิงแห้งเพียงอย่างเดียว และผลการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ ไม่พบว่าขิงก่อให้เกิดอาการพิษแต่อย่างใด เมื่อให้สารสกัดขิงด้วยน้ำมันงาในขนาดสูงถึง 1 กรัม/กิโลกรัม แก่หนูขาวที่ตั้งท้องในช่วงที่ตัวอ่อนมีการสร้างอวัยวะ ไม่พบพิษต่อตัวแม่และตัวอ่อนในท้อง [10]
  7. ขิงสดปิ้งมีสรรพคุณแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แก้ท้องเสีย [11]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
  6. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  7. สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการใช้สมุนไพร เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : หจก. เอช-เอน การพิมพ์, 2527.
  8. วันดี กฤษณพันธ์, เอมอร โสมนะพันธุ์, เสาวณี สุริยาภณานนท์. สมุนไพรในสวนครัว. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เมดิคัลมีเดีย,2541.
  9. สร้อยศิริ ทวีบูรณ์. ขิง. ใน: บพิตร กลางกัลยา นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ (คณะบรรณาธิการ). รายงานผลการศึกษาโครงการ การประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาสมุนไพร. นนทบุรี : บริษัท เอส อาร์ พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด, 2544.
  10. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ขิง. ใน: บพิตร กลางกัลยา นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ (คณะบรรณาธิการ). รายงานผลการศึกษาโครงการ การประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาสมุนไพร. นนทบุรี : บริษัท เอส อาร์ พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด, 2544.
  11. Zhao GB. Rhizoma Zingiberis Recens: sheng jiang. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
  12. สถาบันวิจัยสมุนไพร. เอกสารวิชาการสมุนไพร. นนทบุรี : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2543.
  13. Mascolo N, Jain R, Jain SC, Capasso F. Ethnopharmacologic investigation of ginger (Zingiber officinale). J Ethnopharmacol 1989; 27(1/2): 129-40.
  14. Aswal BS, Bhakuni DS, Goel AK, Kar K, Mehrotra BN, Mukherjee KC. Screening of Indian plants for biological activity: Part X. Indian J Exp Biol 1984; 22(6): 312-32.
  15. Woo WS, Lee EB, Han BH. Biological evaluation of Korean medicinal plants. III. Arch Pharm Res 1979; 2: 127-31.
  16. Emig HM. The pharmacological action of ginger. J Amer Pharm Ass 1931; 20: 114-6.
  17. Weber ML. A follow-up study of thirty-five cases of paralysis caused by adulterated Jamaica-ginger extract. Med Bull Vet Admin 1937; 13: 228-42.


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย