ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 1544
Small_font Large_font

กะเม็ง : Hanliancao (旱莲草)

คำจำกัดความ

กะเม็ง หรือ ฮั่นเหลียนเฉ่า คือ ส่วนเหนือดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eclipta prostrate L. วงศ์ Compositae [1]

ชื่อภาษาไทย

กะเม็ง, กะเม็งตัวเมีย, คัดเม็ง (ภาคกลาง); หญ้าสับ, ฮ่อมเกี่ยว (ภาคเหนือ) [2]

ชื่อจีน

ฮั่นเหลียนเฉ่า (จีนกลาง), อั่วโหน่ยเช่า (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Yerbadetajo Herb [1]

ชื่อเครื่องยา

Herba Ecliptae [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวส่วนเหนือดินในระยะออกดอก ตากแดดหรือตากในที่ร่มให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

หลังเก็บเกี่ยวสมุนไพรแล้ว แยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ล้างน้ำอย่างรวดเร็วให้สะอาด ผึ่งไว้ให้แห้งหมาด ๆ นำมาหั่นเป็นท่อน ๆ ตากให้แห้ง [1, 3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีลำต้นกลมสีเขียวเข้ม มีลายเส้นตามแนวยาว เมื่อนำลำต้นและใบมาแช่น้ำจะมีสีเขียวผสมสีหมึก [3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

กะเม็ง รสเปรี้ยวอมหวาน เย็น มีฤทธิ์บำรุงตับและไต ใช้แก้อาการมึนศีรษะ ตาลาย ผมหงอกเร็ว ปวดเมื่อยบริเวณเอวและหัวเข่า หูอื้อ ฝันเปียกจากภาวะยินของตับและไตพร่อง และมีฤทธิ์ห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น ใช้แก้อาการเลือดออกเพราะภาวะยินพร่อง ทำให้เลือดร้อน เช่น เลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด ปัสสาวะ ถ่ายเป็นเลือด ตกเลือดในสตรี [1]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ต้นกะเม็ง รสขมเฝื่อนเย็น สรรพคุณ แก้ลมให้กระจาย แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ห้ามเลือด บำรุงเลือด แก้โรคโลหิตจาง แก้ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด แก้ไอกรน แก้ริดสีดวงทวาร แก้เจ็บตา แก้เจ็บคอ ใช้ทาพอก แก้ผื่นคัน แก้ฝีพุพอง รักษาแผลตกเลือด [4]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อควรระวัง

การแพทย์แผนจีน ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ม้ามพร่อง ไตยินพร่อง และพวกปัสสาวะบ่อย ๆ ไม่หยุด หรือถ่ายเป็นน้ำมาก ๆ [5]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. มีรายงานว่าสารสกัดน้ำและสารสกัดบิวทานอลมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ในหลอดทดลอง และสารสกัดมีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ carbontetrachloride ในหนูตะเภาเพศเมียได้ผลดี5,6 ยาต้มจากต้นกะเม็งมีสรรพคุณแก้โรคบิด โดยทั่วไปรับประทานครั้งเดียวก็เริ่มเห็นผล [6]
  2. ต้นกะเม็งผงมีฤทธิ์ห้ามเลือดในสุนัขเมื่อใช้ภายนอกได้ผลดี และยังช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจของหนูตะเภาดีขึ้น เมื่อให้หนูขาวที่ได้รับสาร cyclandelate ขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รับประทานสารสกัดแอลกอฮอล์ในขนาด 0.4 มิลลิลิตร เทียบเท่ากับผงสมุนไพร 60 กรัม/กิโลกรัม ทุกวัน ติดต่อกัน 4 วัน พบว่าจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น 483 เซลล์/ตารางมิลลิเมตร แสดงว่าสารสกัดแอลกอฮอล์สามารถลดฤทธิ์ของ cyclandelate ต่อการลดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ [6]
  3. การศึกษาพิษเฉียบพลันโดยให้ผงยาทางปากหนูถีบจักร พบว่าค่า LD50 มีค่าเท่ากับ 163.4 กรัม/กิโลกรัม [6]
  4. การทดลองทางคลินิกพบว่า เมื่อให้ผู้ป่วยโรคหัวใจรับประทานสารสกัดต้นกะเม็งในขนาด 15 กรัม/ครั้ง (เทียบเท่าผงยา 30 กรัม) วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 1 เดือน พบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดเค้นอก ปวดหลัง หายใจขัด หรือแน่นหน้าอกได้ผลดี นอกจากนี้ต้นกะเม็งมีสรรพคุณลดไข้ในเด็ก สามารถใช้รับประทานหรือต้มน้ำอาบก็ได้ [6, 7]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.1. English Edition. Beijing: Chemical Industry Press, 2000.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
  4. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
  5. ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ, วชิรา แดนตะวัน, สุนทรี วิทยานารถไพศาล, สำลี ใจดี, วิบูลย์ โชคชัยวัฒนพร, นภาพร วิทิตภัทรภาคย์, ขวัญจิต ภู่สาระ. การใช้สมุนไพร เล่ม 1: รายงานการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยของโครงการพัฒนาเทคนิคการทำยาสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522.
  6. Zhang Y, Lin ZB. Herba Ecliptae: mo han lian In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
  7. Institute of Medicinal Plant Development and Institute of Materia Medica, Chinese Academy of Medicinal Sciences. Chinese Materia Medica. Vol. IV. 2nd ed. Beijing: Renmin Weisheng Publishing House, 1988


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย