ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 199
Small_font Large_font

เร่วดง : Sharen (砂仁)

คำจำกัดความ

เร่วดง หรือ ซาเหริน คือ ผลสุกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum villosum Lour. หรือ A. villosum Lour. var. xanthioides T.L.Wu et Senjen หรือ A. longiligulare T.L. Wu วงศ์ Zingiberaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

เร่วดง (ตราด) [2]

ชื่อจีน

ซาเหริน (จีนกลาง), ซายิ้ง (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Villous Amomum Fruit [1]

ชื่อเครื่องยา

Fructus Amomi [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวผลสุกในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วง ตากแดดให้แห้งในทันที หรือทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ ในการป้องกันการเสื่อมสภาพของเมล็ดและการระเหยของน้ำมันอย่างรวดเร็ว ไม่ควรแกะเมล็ดก่อนเมล็ดแห้ง เก็บรักษาเมล็ดแห้งในกระสอบป่านหรือถุงพลาสติก เก็บไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1, 3]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 เร่วดง เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรมาแยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ทุบให้แตกก่อนใช้ [4]
วิธีที่ 2 เร่วดงผัดน้ำเกลือ เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มาใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้จนกระทั่งน้ำเกลือแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยาแห้ง นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น (ใช้เกลือบริสุทธิ์ 2 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [4]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีขนาดผลใหญ่ แข็งและมีเนื้อมาก เนื้อในเมล็ดสีน้ำตาลแดง กลิ่นหอมฉุนมาก รสเผ็ดและเย็นมาก [5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

เร่วดง รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์สลายความชื้น ทำให้ชี่หมุนเวียน ใช้รักษาอาการชี่ติดขัด ทำให้จุกเสียด แน่นท้อง มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร ระงับอาเจียน ท้องเสีย ใช้แก้กระเพาะอาหารและลำไส้เย็นเกินไป ทำให้ท้องเสีย อาเจียน และมีฤทธิ์บำรุงครรภ์ แก้อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหารในสตรีมีครรภ์ [1, 6]
เร่วดงผัดน้ำเกลือ รสเผ็ดจะลดลง มีฤทธิ์ช่วยนำตัวยาลงสู่ส่วนล่างของร่างกาย เพิ่มฤทธิ์ให้ความอบอุ่นกับไตและบำรุงครรภ์ [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ผล รสร้อนเผ็ดปร่า แก้ริดสีดวง แก้หืดไอ แก้ระดูขาว แก้ไข้สันนิบาต [7]
เมล็ด รสร้อนเผ็ดปร่า ขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ริดสีดวง หืดไอ กัดเสมหะ แก้ไข้สันนิบาต ขับน้ำนม บำรุงธาตุ [7]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-6 กรัม หรือมากกว่านี้ตามอาการของโรค ต้มเอาน้ำดื่ม (ถ้าต้มกับยาอื่นควรใส่ทีหลัง) [1, 6] โดยมีรายละเอียดการใช้ทางคลินิก ดังนี้

  1. แก้อาการแพ้ท้อง อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ให้ใช้เมล็ดบดเป็นผงชงกับน้ำขิงต้ม รับประทานวันละหลาย ๆ ครั้ง [6]
  2. แก้อาการเป็นพิษ ให้ใช้เมล็ดบดเป็นผง รับประทานกับน้ำอุ่น [6]
  3. บำรุงธาตุ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง โดยใช้เมล็ดเร่วดง หัวแห้วหมู รากชะเอมเทศ และขิงแห้งร่วมกัน [6]
  4. แก้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ ให้ใช้ผลเร่วแห้งรางไฟจนแห้งกรอบ แล้วบดเป็นผงชงน้ำรับประทานบ่อย ๆ [6]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. PROSEA: ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12(1) พืชสมุนไพรและพืชพิษ เล่ม 1. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, 2546.
  4. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  5. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  6. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรไทย-จีน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2547.
  7. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. ย่อเภสัชกรรมไทยและสรรพคุณสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : บริษัทศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์, 2546.


24 มิถุนายน 2553 29 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย