ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 1160
Small_font Large_font

ว่านน้ำ : Zangchangpu (藏菖蒲)

คำจำกัดความ

ว่านน้ำ หรือ จั้งชางผู คือ เหง้าแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acorus calamus L. วงศ์ Araceae [1]

ชื่อภาษาไทย

ว่านน้ำ, ว่านน้ำเล็ก, ฮางคาวผา (เชียงใหม่); ทิสีปุคอ (แม่ฮ่องสอน); ตะไคร้น้ำ (แพร่); ไคร้น้ำ (เพชรบูรณ์); คาเจี้ยงจี้, ผมผา, ส้มชื่น, ฮางคาวน้ำ, ฮางคาวบ้าน (ภาคเหนือ) [2]

ชื่อจีน

จั้งชางผู (จีนกลาง), เจี่ยงเชียงพู้ (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Tibet Sweetflag Rhizome [1]

ชื่อเครื่องยา

Rhizoma Acori Calami [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวเหง้าในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว แยกเอารากฝอยและดินทิ้ง ตากให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

หลังเก็บเกี่ยวสมุนไพรแล้ว แยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปใส่ในภาชนะที่เหมาะสม คลุมด้วยผ้าขาวบาง ตั้งทิ้งไว้จนตัวยาอ่อนนุ่ม หั่นเป็นแว่นเฉียง ๆ หรือหั่นตามขวาง ทำให้แห้งในที่ร่มหรือตากแดด [1, 3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ด้านหน้าตัดต้องมีสีออกขาว กลิ่นหอมฉุน [5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ว่านน้ำ รสขมเผ็ด สุขุม มีฤทธิ์ขับลม ขับเสมหะ สงบประสาท ใช้รักษาอาการไอ ตื่นเต้นลืมง่าย สลึมสลือ บิด ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดข้อ แผลฝีหนอง และขับพยาธิ [1, 6]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

เหง้า มีกลิ่นหอม รสร้อน สรรพคุณเป็นยาแก้บิด แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ขับเสมหะ แก้ไอ ระงับประสาท แก้ปวดตามข้อ แก้แผลฝีหนอง ขับพยาธิ แก้ปวดฟัน เลือดออกตามไรฟัน [7-8]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-6 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้างหรือบดเป็นผงผสมทา [1, 5]

ข้อควรระวัง

การแพทย์แผนจีน ควรระมัดระวังในการใช้ในผู้ป่วยที่เหงื่อออกบ่อย ๆ หรือเหงื่อออกง่าย [5]
การแพทย์แผนไทย ห้ามกินมากกว่าครั้งละ 2 กรัม เพราะจะทำให้อาเจียน (อาจใช้ประโยชน์ในกรณีผู้ป่วยกินสารพิษ และต้องการขับสารพิษออกจากทางเดินอาหารด้วยการทำให้อาเจียน) [9]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. น้ำมันหอมระเหย และสารสกัดน้ำมีฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของหนูที่ทดลอง น้ำมันหอมระเหยสามารถเพิ่มฤทธิ์สงบประสาทและทำให้นอนหลับของโซเดียมเพนโทบาร์บิทาล ไลเซอจิกแอสิดไดเอทิลเอไมด์ และไดเบนซิลีน เสริมฤทธิ์ของรีเซอปีนในการลดพิษของแอมเฟทามีนในหนู รวมทั้งมีฤทธิ์บรรเทาปวด และป้องกันหนูชักจากการทดลองช็อคด้วยไฟฟ้า สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้ามีฤทธิ์คล้ายกันสามารถเพิ่มฤทธิ์ของยาชาเฉพาะที่ และสามารถลดพิษของแอมเฟทามีนในหนูที่ทดลองได้ [5]
  2. น้ำมันหอมระเหย สารสกัดแอลกอฮอล์ และสารสกัดน้ำจากเหง้าสามารถลดความดันโลหิตของสัตว์ทดลองที่สลบได้ สารสกัดน้ำมีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจ น้ำมันหอมระเหยสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจสุนัขและกบ [5]
  3. น้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ระงับอาการไอที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในหนูทดลอง ฤทธิ์ระงับอาการไอนี้เด่นชัดมาก และจากการทดลองใช้หลอด capillary ต่อหลอดลมเพื่อวัดปริมาตรของเมือกสารที่ขับออกมาในหลอดลมของกระต่าย พบว่าน้ำมันหอมระเหยแสดงฤทธิ์ขับเสมหะ [5]
  4. น้ำคั้นจากเหง้าสดสามารถเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในคนที่มีกรดในกระเพาะอาการน้อย ยาเตรียมจากเหง้าว่านน้ำใช้เป็นยาเจริญอาหาร ช่วยให้อยากอาหาร ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น และน้ำมันระเหยง่ายในขนาดน้อย ๆ จะมีฤทธิ์ขับลม [5]
  5. น้ำมันหอมระเหย สารสกัดน้ำ และสารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิในสัตว์ทดลองน้ำมันหอมระเหยในขนาด10ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรคได้ สารสกัดแอลกอฮอล์สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ มีบางรายงานว่าสามารถใช้เป็นยาขับและฆ่าพยาธิได้ [5]
  6. จากการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากเหง้าว่านน้ำ พบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง [10]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xian: World Library Publishing House, 2002.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ, วชิรา แดนตะวัน, สถาพร ลิ้มมณี, ชะนะ ครองรักษา, ทิพวัลย์ ทรัพย์เจริญ. สมุนไพร อันดับที่ 3: การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยของโครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.
  6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. PROSEA: ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12(1) พืชสมุนไพรและพืชพิษ เล่ม 1. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, 2546.
  7. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. สมุนไพรก้าวใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ที.พี. พริ้น จำกัด, 2537.
  8. ชยันต์ วิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  9. พร้อมจิต ศรลัมภ์, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์ (คณะบรรณาธิการ). สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2543.
  10. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.


24 มิถุนายน 2553 29 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย