ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 557
Small_font Large_font

ผลเลี่ยน : Chuanlianzi (川楝子)

คำจำกัดความ

ผลเลี่ยน หรือ ชวนเลี่ยนจื่อ คือ ผลสุกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melia toosendan Sieb. et Zucc. วงศ์ Meliaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

ผลเลี่ยน, ผลเคี่ยน, ผลเลี่ยนใบใหญ่ (ภาคกลาง); ผลเกรียน, ผลเฮี่ยน (ภาคเหนือ) [2]

ชื่อจีน

ชวนเลี่ยนจื่อ (จีนกลาง), ชวนเหลี่ยนจี้ (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Szechwan Chinaberry Fruit [1]

ชื่อเครื่องยา

Fructus Toosendan [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวผลสุกในฤดูหนาว แยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ผลเลี่ยน เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอมมาทุบให้แตกก่อนใช้ [1, 3]
วิธีที่ 2 ผลเลี่ยนผัด เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มาหั่นเป็นแว่นหรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวนอกมีสีเหลืองไหม้หรือสีน้ำตาลไหม้ นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก [1, 3]
วิธีที่ 3 ผลเลี่ยนผัดน้ำเกลือ เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มาหั่นเป็นแว่นหรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้จนกระทั่งน้ำเกลือแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวนอกมีสีเหลืองเข้ม นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก (ใช้เกลือบริสุทธิ์ 2 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องเป็นผลขนาดใหญ่ มีเนื้อมาก ผิวนอกสีเหลืองทอง เนื้อในผลสีขาวเหลือง [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ผลเลี่ยน รสขม เย็น มีฤทธิ์ทำให้ชี่หมุนเวียน บรรเทาปวด สรรพคุณคลายเครียด แก้ร้อนใน บรรเทาอาการปวดต่าง ๆ และมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ หิด กลาก เกลื้อน แก้ปวดท้องเนื่องจากพยาธิต่าง ๆ [1]
ผลเลี่ยนผัด จะช่วยให้รสขมและเย็นลดลง ลดพิษ มีฤทธิ์ช่วยให้ชี่หมุนเวียนและบรรเทาปวด ใช้รักษาอาการปวดบริเวณใต้ชายโครงและปวดท้อง [3]
ผลเลี่ยนผัดน้ำเกลือ จะช่วยนำตัวยาลงสู่ส่วนล่างของร่างกาย (ตั้งแต่ใต้สะดือลงมาจนถึงท้อง) ใช้รักษาอาการไส้เลื่อน อัณฑะปวดบวม [3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ผลเลี่ยน ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม แก้โรคเรื้อน และฝีคันทะมาลา [5, 6]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 4.5-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
การแพทย์แผนไทย ใช้ขนาด 15-20 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม5 และใช้ภายนอกโดยนำผลเลี่ยน 5-7 ผลมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมันพืช แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าจะหาย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ผลที่โตเต็มที่สด ๆ 10-15 ผล โขลกให้ละเอียด เติมน้ำมันมะพร้าว 3-4 ช้อนแกงชโลมผมที่เป็นเหาทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วสระให้สะอาด สระติดต่อกัน 2-3 วัน [6]

ข้อควรระวัง

ผลเลี่ยนมีพิษเล็กน้อย ไม่ควรใช้ปริมาณมากหรือใช้ต่อเนื่องนาน ๆ (การแพทย์แผนจีน) อาการพิษที่พบ ได้แก่ หายใจขัด แขนขาไม่มีแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน [1, 7]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สารสกัดแอลกอฮอล์และสารทูเซนดานิน (toosendanin) มีฤทธิ์ถ่ายพยาธิ สารทูเซนดานินมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบในกระต่าย และสารสกัดแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 10 % มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา [8]
  2. สารพิษที่พบในผลเลี่ยนคือ แอลคาลอยด์ azaridine ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้คลื่นไส้อาเจียน และท้องร่วงอย่างแรง เป็นอัมพาต หายใจไม่สม่ำเสมอ หายใจขัด เด็กเล็ก ๆ ถ้ากินผลเลี่ยนเข้าไปเพียง 6-8 ผล จะเป็นอันตรายถึงตายได้ การรักษาทำได้โดย ทำให้อาเจียน ให้ดื่มนมหรือไข่ขาวเพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล อาจให้น้ำเกลือเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ และรักษาตามอาการ [9]
  3. ยาเม็ดทูเซนดานินมีสรรพคุณถ่ายพยาธิทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ [8]
  4. เมื่อฉีดสารทูเซนดานินเข้าช่องท้อง หลอดเลือดดำ ใต้ผิวหนังและให้ทางปากหนูถีบจักร พบว่าขนาดสารทูเซนดานินที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 13.8, 14.6, 14.3 และ 244.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ เมื่อฉีดสารดังกล่าวเข้าใต้ผิวหนังและให้ทางปากหนูขาว และฉีดเข้าหลอดเลือดดำกระต่าย พบว่าขนาดสารดังกล่าวที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย ร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 9.8, 120.7 และ 4.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ [8]
  5. มีรายงานการทดลองทางคลินิก พบว่าผลเลี่ยนมีสรรพคุณรักษาอาการต่อมน้ำนมแข็งกระด้างชนิดเฉียบพลัน และแก้กลากเกลื้อนบนหนังศีรษะได้ผลดี [6]
  6. มีรายงานการทดสอบความเป็นพิษพบว่า สารสกัดผลด้วยคลอโรฟอร์ม เมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูตายร้อยละ 50 เท่ากับ 1.5 กรัม/กิโลกรัม ส่วนสารสกัดผลด้วยอีเทอร์ เมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้หนูตายร้อยละ 50 เท่ากับ 1.04 กรัม/กิโลกรัม [8]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. สมุนไพรก้าวใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เมดิคัล มีเดีย จำกัด, 2537.
  6. สุนทรี สิงหบุตรา. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2536.
  7. Institute of Materia Medica, Chinese Academy of Medicinal Sciences. Chinese Materia Medica. Vol. III. 2nd ed. Beijing: Renmin Weisheng Publishing House, 1984.
  8. Qu SY. Fructus Toosendan: chuan lian zi. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
  9. สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือฐานข้อมูลพืชพิษ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, 2545.


24 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย