ค้นหายาสมุนไพร
โกฐจุฬาลำพา : Qinghao (青蒿)
โกฐจุฬาลำพา หรือ ชิงเฮา คือ ส่วนเหนือดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua L. วงศ์ Compositae [1]
โกฐจุฬาลำพา (ภาคกลาง) [2, 3]
ชิงเฮา (จีนกลาง), แชเฮา (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Sweet Wormwood Herb [1]
Herba Artemisiae Annuae1
เก็บเกี่ยวส่วนเหนือดินในระยะออกดอก คัดแยกเอาลำต้นแก่ทิ้ง ทำให้แห้งในที่ร่ม เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
นำสมุนไพรวัตถุดิบมาพรมน้ำทิ้งไว้สักครู่ เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นท่อน ๆ ขนาดพอเหมาะ และนำไปตากแห้ง [1]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีสีเขียว มีปริมาณใบมาก กลิ่นหอมฉุน [4]
โกฐจุฬาลำพา รสเผ็ดขม เย็น มีฤทธิ์ระบายความร้อนพร่อง (ร้อนใน) ใช้แก้ไข้จากยินถูกกระทบ (ร้อนตอนกลางคืน ช่วงเช้าไข้ลด ไข้เซื่องซึม) แก้ไข้เรื้อรังเนื่องจากยินพร่อง (ตัวร้อน ไข้เรื้อรัง ผอมแห้ง มีไข้ตอนบ่าย) แก้ไข้จากกระทบความร้อนอบอ้าวระอุ (ปวดศีรษะ ตัวร้อน คอแห้ง) และแก้ไข้มาลาเรีย [5]
โกฐจุฬาลำพา รสสุขุม หอม ร้อน ใช้แก้ไข้เจรียง (ไข้จับวันเว้นวัน เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง)แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืด แก้ไอ เป็นยาขับเหงื่อ [5]
การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
สาร artemisinin และอนุพันธ์ จะถูกเปลี่ยนแปลงในร่างกายเป็น dihydro-artemisinin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย โดยออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียในระยะที่เป็น blood schizont สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ต่อเชื้อ Plasmodium ทุก species ทั้งที่ดื้อและไม่ดื้อต่อยาคลอโรควิน6 สารสกัดต้นโกฐจุฬาลำพาด้วยแอลกอฮอล์มีพิษต่อหนูถีบจักรเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม [7]ในปัจจุบันสารกลุ่มนี้ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั้งในสัตว์ทดลองและการทดลองทางคลินิกทั้งสี่ระยะ จนได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยให้ใช้รักษาโรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อ Plasmodium falciparum ที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน ซึ่งพบมากในประเทศไทย [6]
มีรายงานการศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดหยาบจากต้นโกฐจุฬาลำพาในหนูถีบจักร เมื่อให้สารทางช่องท้องหรือให้ทางปาก พบว่าค่า LD50 มากกว่า 5 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้ทางปาก และ 0.8485 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้ทางช่องท้อง ในหนูถีบจักรทั้งสองเพศ[6] การให้ artemether ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ที่ความเข้มข้น 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ในหนูขาว ทำให้พยาธิสภาพต่อ brainstem โดยพบว่า auditory nuclei ถูกทำลาย [6]มีการศึกษา teratogenic effect ในหนู เมื่อให้ artemisinin ในขนาด 1/200-1/400 ของค่า LD50 โดยให้หลัง gestation 6 วัน พบว่ายานี้ทำให้เกิด foetal resorption [6]แต่เมื่อนำมาใช้กับคน มีรายงานการเกิดอาการข้างเคียงน้อยมาก และเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง อาการที่พบคือ มีไข้ คลื่นไส้ อาการที่พบน้อยคือ เม็ดเลือดแดงลดลง มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG ) คือ หัวใจเต้นช้าลง [6]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
บพิตร กลางกัลยา, นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. รายงานผลการศึกษาโครงการการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาจากสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส อาร์ พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด, 2544.
Fransworth NR, Henry LK, Svoboda GH, Blomster RN, Yates MJ, Euler KL. Biological and phytochemical evaluation of plants. I. Biological test procedures and results from 200 accessions. Lloydia 1966; 29: 101-22.
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 20 กรกฎาคม 2553