ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 1829
Small_font Large_font

ใบมะขามแขก : Fanxieye (番泻叶)

คำจำกัดความ

ใบมะขามแขก หรือ ฟานเซี่ยเยี่ย คือ ใบย่อยที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia angustifolia Vahl หรือ C. acutifolia Delile วงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae [1]

ชื่อภาษาไทย

ใบมะขามแขก (ทั่วไป) [2]

ชื่อจีน

ฟานเซี่ยเยี่ย (จีนกลาง), ฮวงเซี่ยเฮียะ (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Senna Leaf [1]

ชื่อเครื่องยา

Folium Sennae [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวใบในช่วงก่อนออกดอก ล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดสักครู่เพื่อป้องกันไม่ให้แผ่นใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ตากให้แห้งในที่ร่มหรือที่อุณหภูมิต่ำ เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง ทึบแสง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

หลังเก็บเกี่ยวสมุนไพรแล้ว แยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ล้างน้ำให้สะอาด และนำไปทำให้แห้ง [1]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องเป็นใบที่สมบูรณ์และแห้ง รูปหอก แผ่นใบใหญ่ ก้านใบเล็ก ปราศจากสิ่งปนปลอม [3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ใบ รสขมเล็กน้อย มีฤทธิ์ขับความร้อน ช่วยให้ถ่ายและขับปัสสาวะ สรรพคุณรักษาอาการ ท้องผูกและปวดหลัง ลดอาการบวมน้ำ [1]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ใบ รสเปรี้ยว หวานชุ่ม ใช้เป็นยาถ่ายที่ดี รักษาอาการท้องผูก [4]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 2-6 กรัม1 ต้มเอาน้ำดื่ม (ถ้าต้มกับยาอื่นควรใส่ทีหลัง) หรือแช่ในน้ำเดือด [1]
การแพทย์แผนไทย ใช้ 3-10 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้วิธีบดเป็นผงชงน้ำร้อนดื่ม [4]

ข้อควรระวัง

การแพทย์แผนจีน สตรีมีครรภ์ควรระมัดระวังในการใช้ [1]
การแพทย์แผนไทย สตรีมีครรภ์หรือมีประจำเดือนห้ามรับประทาน [4]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สารประกอบทางเคมีที่สำคัญในใบ คือแอนทราควิโนน ซึ่งประกอบด้วยสาร sennoside A, B, C และ D, emodin, rhein เป็นต้น มะขามแขกเป็นยาถ่ายที่มีประวัตินานเกือบ 100 ปี สารแอนทราควิโนนมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ทำให้ถ่ายท้องได้ และมีรายงานว่า การใช้มะขามแขกนาน ๆ จะทำให้เกิดอาการขาดโพแทสเซียมได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรรับประทานโพแทสเซียมด้วย [4] สาร sennoside A และ B ในใบมะขามแขก มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเคลื่อนตัวของลำไส้ และถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบริเวณลำไส้ใหญ่เป็นสารสำคัญ rhein-anthrone กลไกการออกฤทธิ์ของสารสำคัญมี 2 ทาง คือ เพิ่มการเคลื่อนตัวของลำไส้ และเพิ่มปริมาณของเหลวในลำไส้ [5]
  2. มีรายงานว่าการทดสอบฤทธิ์ก่อมะเร็งของมะขามแขกในหนูขาวเพศผู้ พบว่าในหนูกลุ่มที่ได้รับมะขามแขกผสมในอาหารหนูในขนาดสูง 0.2% ทำให้หนูตาย 50% ใน 15 วันแรกเนื่องจากท้องเสีย และจากการศึกษาไม่พบ ACF (aberrant crypt foci) ในกลุ่มที่ได้รับมะขามแขกอย่างเดียว แต่พบว่าบริเวณ mucosal epithelium มีลักษณะเป็น darker staining เมื่อให้ DMF เหนี่ยวนำ ร่วมกับให้มะขามแขกพบว่า total ACF หรือจำนวนเฉลี่ยของ ACF ขนาดใหญ่ไม่เพิ่มขึ้น แต่พบว่ามะขามแขกในขนาดสูง 0.2% และ 1,8 HA จะพบจำนวนของ cryp ต่อ focus เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ [6]
  3. จากการทดสอบฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดน้ำ สารสกัดแอลกอฮอล์ และสารสกัดเฮกเซนที่เตรียมโดยวิธีหมักนาน 72 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดน้ำและสารสกัดเฮกเซนไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย แต่สารสกัดแอลกอฮอล์ให้ผลปานกลางต่อแบคทีเรีย Bacillus subtilis และ Salmonella typhimurium (ความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลางที่ยับยั้งการเจริญของเชื้ออยู่ในช่วง 10-19 มิลลิเมตร) [6]
  4. มะขามแขกใช้เป็นยาระบายโดยกินก่อนนอน ช่วงเวลาที่ยาออกฤทธิ์ประมาณ 8-10 ชั่วโมง ยาจะทำให้อุจจาระมีมวลมากขึ้น และลักษณะอุจจาระจะนิ่มขึ้น มีการใช้มะขามแขกในคนไข้หลังผ่าตัดคว้านต่อมลูกหมาก พบว่ามะขามแขกช่วยให้ถ่ายอุจจาระในลักษณะที่พึงประสงค์ดีกว่าการใช้ Milk of Magnesia นอกจากนี้แคลเซียมเซนโนไซด์ ซึ่งเป็นสารสกัดจากใบมะขามแขกช่วยให้ผู้ป่วยสูงอายุหลังการผ่าตัดถ่ายอุจจาระได้คล่องขึ้น [5]
  5. การศึกษาพิษเฉียบพลันของ sennosides บริสุทธิ์ และสารสกัด sennosides (ในรูปของเกลือแคลเซียม) ในหนูถีบจักร พบว่า LD50 ของ sennosides บริสุทธิ์ เมื่อให้ทางปากมีค่ามากกว่า 5 กรัม/กิโลกรัม และเมื่อให้ทางเส้นเลือดดำ มีค่าเท่ากับ 4.1 กรัม/กิโลกรัม สำหรับสารสกัด sennosides (ในรูปของเกลือแคลเซียม) เมื่อให้ทางปากจะมีค่า LD50 มากกว่า 5 กรัม/กิโลกรัม [5]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
  4. กันทิมา สิทธิธัญกิจ, พรทิพย์ เติมวิเศษ (คณะบรรณาธิการ). คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2547.
  5. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. เอกสารวิชาการสมุนไพร. นนทบุรี : สถาบันวิจัยสมุนไพร, 2543.
  6. บพิตร กลางกัลยา, นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. รายงานผลการศึกษาโครงการการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาจากสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส อาร์ พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด, 2544.


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย