ค้นหายาสมุนไพร
ดอกคำฝอย : Honghua (红花)
ดอกคำฝอย หรือ หงฮวา คือ ดอกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carthamus tinctorius L. วงศ์ Compositae [1]
ดอกคำฝอย, ดอกคำ (ภาคเหนือ); ดอกคำ (ทั่วไป); ดอกคำยอง (ลำปาง) [2]
หงฮวา (จีนกลาง), อั่งฮวย (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Safflower [1]
Flos Carthami [1]
เก็บเกี่ยวดอกในช่วงเช้าตรู่ที่มีแดดจัดในฤดูร้อนเมื่อวงกลีบดอกเริ่มเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีแดง ตากแดดหรือตากในที่ร่ม เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
นำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาคัดแยกเอาสิ่งปนปลอมออก แล้วร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก [3]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ดอกต้องละเอียด สีเหลืองแดงสด ไม่มีกิ่งก้าน คุณสมบัติเหนียวนุ่ม [3]
ดอกคำฝอย รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ทำให้เลือดหมุนเวียน ทะลวงจิงลั่ว แก้ประจำเดือนไม่มา ปวดประจำเดือน ทำให้ชี่และเลือดหมุนเวียน ระงับปวด และมีฤทธิ์กระจายเลือดคั่ง ระงับปวด ช่วยให้เลือดหมุนเวียน กระจายเลือดคั่ง ลดบวม ระงับปวด แก้ฟกช้ำ ช้ำใน ปวดบวมจากเลือดคั่ง เส้นเลือดหัวใจตีบ เจ็บ ปวด แน่นบริเวณหัวใจ แก้ผื่นแดง เลือดคั่งเนื่องจากภาวะร้อน [1]
ดอกคำฝอย รสหวานร้อน สรรพคุณ ขับระดู บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ แก้ดีพิการ ขับเหงื่อ ระงับประสาท บำรุงโลหิต แก้ตกเลือด แก้ไข้ในเด็ก แก้ดีซ่าน แก้ไขข้ออักเสบ แก้หวัดน้ำมูกไหล แก้ปวดในรอบเดือน [4]
การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
การแพทย์แผนจีน ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ในกรณีที่เลือดออกง่ายควรใช้ด้วยความระมัดระวัง [1]
เมื่อให้สารสกัดแอลกอฮอล์ทางกระเพาะอาหารหนูถีบจักรขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวแสดงฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ แต่เมื่อให้สารสกัดน้ำทางหลอดเลือดดำหนูถีบจักรในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่แสดงฤทธิ์แก้ปวด [5]
เมื่อให้สารสกัด 50% เมทานอลทางกระเพาะอาหารหนูถีบจักรในขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวแสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบ [5]
สารสกัดแอลกอฮอล์แสดงฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหัวใจในหนูตะเภาและกระต่าย และสารสกัดน้ำเมื่อให้ทางช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าสามารถลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด และป้องกันการสร้างลิ่มเลือดขึ้นมาใหม่ได้ [5]
สารสกัดแอลกอฮอล์แสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Candida albicans และ Salmonella typhosa ในหลอดทดลอง แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ Escherichia coli และ Shigella dysenteriae [5]
จากการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากดอกคำฝอยพบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง [6]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
World Health Organization. WHO monographs on selected medicinal plants. Volume 3. Geneva: World Health Organization, 2002.
มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2553