ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 796
Small_font Large_font

กระวาน : Doukou (豆蔻)

คำจำกัดความ

กระวาน หรือ โต้วโค่ว คือ ผลสุกของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum kravanh Pierre ex Gagnep. หรือ A. compactum Soland ex Maton วงศ์ Zingiberaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

กระวาน (จันทบุรี, ปัตตานี); ปล้าก้อ (ปัตตานี); กระวานขาว, กระวานโพธิสัตว์ (ภาคกลาง) [2]

ชื่อจีน

โต้วโค่ว (จีนกลาง), เต่าโข่ว (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Round Cardamon Fruit [1]

ชื่อเครื่องยา

Fructus Amomi Rotundus [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวผลสุกระหว่างฤดูร้อนกับฤดูใบไม้ร่วง แยกสิ่งที่ปะปนมาออก ตากแดดหรือทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ เก็บรักษาผลแห้งในกระสอบป่านหรือถุงพลาสติก เก็บไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ผลกระวาน เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรมาคัดเอาสิ่งปนปลอมและก้านผลทิ้ง ร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก ทุบให้แตกก่อนใช้ [3, 4]
วิธีที่ 2 เนื้อผลกระวาน เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มากะเทาะเอาเปลือกผลออก ใช้เฉพาะส่วนเนื้อผล ทุบให้แตกก่อนใช้ [3, 4]
วิธีที่ 3 เปลือกผลกระวาน เตรียมโดยนำเปลือกผลที่ได้จากวิธีที่ 2 มาใช้ โดยทุบให้แตกก่อนใช้ [3, 4]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ผลต้องมีขนาดใหญ่ มีเนื้อมาก เปลือกผลบางและไม่แตก สีขาวสะอาด กลิ่นหอมฉุน [3-5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ผลกระวาน รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์สลายความชื้น ทำให้ชี่หมุนเวียน แก้อาการจุกเสียด แน่นลิ้นปี่ เบื่ออาหาร และมีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหารและลำไส้ แก้อาเจียน [1]
เนื้อผลกระวาน รสเผ็ดเย็น มีกลิ่นหอม มีสรรพคุณเหมือนผลกระวาน [3, 4]
เปลือกผลกระวาน รสเผ็ด มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีสรรพคุณเหมือนผลกระวาน แต่คุณสมบัติอุ่นน้อยมาก และฤทธิ์ของยาอ่อนมากเช่นกัน [3, 4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ผลกระวาน รสเผ็ดร้อนหอม ใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด เป็นยาขับเสมหะ บำรุงธาตุ กระจายเลือดและลมให้ซ่าน ผสมยาถ่ายอื่น ๆ ป้องกันไม่ให้จุกเสียดและไซ้ท้อง [6, 7]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-6 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม (ถ้าต้มกับยาอื่นควรใส่ทีหลัง) [1]
การแพทย์แผนไทย ใช้ผลแก่จัดบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1.5-3 ช้อนชา (1-2 กรัม) ชงกับน้ำอุ่น หรือนำมาแช่ในแอลกอฮอล์ได้น้ำยาสีแดง รับประทานบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ [8-10]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. ผลแก่ของกระวานประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย 5-9% ซึ่งมีสารสำคัญคือ borneol, camphor, 1,8-cineole, linalool, pinene เป็นต้น มีฤทธิ์ขับลม ลดการบีบตัวของลำไส้ จากการทดลองพบว่ามีความปลอดภัยและไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ [9]
  2. สารสกัดเอทานอลและสารสกัดคลอโรฟอร์ม มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Microsporum gypsicum, Trichophyton rubrum, Epiderphyton floccosum, Candida albicans และ Cryptococcus neoformans [11]
  3. การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดด้วย 40% เอทานอล น้ำเหล้าจากเมล็ดกระวานในหนูถีบจักร โดยป้อนสารสกัดเข้มข้นเทียบเท่า 0.5 กรัมผงกระวาน/มิลลิลิตร ในขนาด 1, 2 และ 10 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว แก่หนูถีบจักรไม่พบอาการพิษ และทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลันโดยให้ในขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แก่หนูขาวเพศผู้ เป็นเวลา 14 วัน พบว่าไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย ส่วนพิษเฉียบพลันของน้ำมันหอมระเหยเมื่อให้ทางปากแก่หนูถีบจักร มีค่า LD50 เท่ากับ 2.52 และ 2.65 กรัม/กิโลกรัม ในเพศผู้และเพศเมียตามลำดับ อาการพิษที่พบเมื่อให้ในขนาดสูงคือ น้ำลายฟูมปาก ชักเกร็ง หายใจกระตุก หยุดหายใจและตายในที่สุด10 และยังพบว่าเมื่อให้สารสกัดผลแห้งด้วยแอลกอฮอล์ในขนาด 2 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ไม่พบพิษ [12]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.1. English Edition. Beijing: Chemical Industry Press, 2000.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
  4. Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xi-an: World Library Publishing House, 2002.
  5. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  6. ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ. สมุนไพรน่าใช้ เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ แท่นทองปริ้นติ้งเซอร์วิส, 2535.
  7. สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการใช้สมุนไพร เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : หจก. เอช-เอน การพิมพ์, 2527.
  8. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร:บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด,2547.
  9. กันทิมา สิทธิธัญกิจ, พรทิพย์ เติมวิเศษ (คณะบรรณาธิการ). คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2547.
  10. พร้อมจิต ศรลัมภ์, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์ (คณะบรรณาธิการ). สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2543.
  11. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. เอกสารวิชาการสมุนไพร. นนทบุรี : สถาบันวิจัยสมุนไพร, 2543.
  12. Kwanjaipanich S, Likitaporn T, Wongkrajang Y, Jaiarj P, Wacharakup O. Toxicity test of Amomum krervanh Pierre. Undergraduate Special Project Report, Fac Pharm, Mahidol Univ 1989.


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย