โกฐน้ำเต้า หรือ ต้าหวง คือ รากและเหง้าแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rheum palmatum L. หรือ R. tanguticum Maxim. ex Balf. หรือ R. officinale Baill. วงศ์ Polygonaceae [1]
โกฐน้ำเต้า (ภาคกลาง)[2]
ต้าหวง (จีนกลาง), ตั่วอึ๊ง (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Rhubarb [1]
Radix et Rhizoma Rhei [1]
เก็บเกี่ยวรากและเหง้าปลายฤดูใบไม้ร่วงเมื่อลำต้นและใบเหี่ยวหรือเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิถัดไปก่อนแตกหน่อ แยกรากฝอยและเปลือกนอกทิ้ง นำสมุนไพรมาหั่นเป็นแว่นหรือเป็นท่อน ๆ ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในสถานที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 5 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 โกฐน้ำเต้า เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มาแช่น้ำสักครู่ ล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นแว่นหนา ๆ หรือหั่นเป็นชิ้น ๆ และนำไปทำให้แห้ง [1, 3]
วิธีที่ 2 โกฐน้ำเต้าผัดเหล้า เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมเหล้าเหลืองหรือเหล้าขาวปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟอ่อน ๆ ผัดจนกระทั่งตัวยาแห้งและมีสีเข้ม นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้เหล้าเหลืองหรือเหล้าขาว 10 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 3]
วิธีที่ 3 โกฐน้ำเต้าผัดน้ำส้ม เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำส้ม (ซึ่งได้มาจากการหมักกลั่นข้าว) ปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนกระทั่งน้ำส้มแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยาแห้ง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้น้ำส้ม 15 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 3]
วิธีที่ 4 โกฐน้ำเต้าถ่าน เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับแรง ผัดจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีดำเกรียมเล็กน้อย ภายในเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม พรมน้ำเล็กน้อย นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม [1, 3]
วิธีที่ 5 โกฐน้ำเต้านึ่งเหล้า เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มาคลุกเคล้าให้เข้ากันกับเหล้าเหลืองปริมาณพอเหมาะ หมักทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนกระทั่งเหล้าแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา แล้วใส่ในภาชนะนึ่งที่มีฝาปิดมิดชิด นึ่งประมาณ 24-32 ชั่วโมง จนกระทั่งมีสีดำทั้งด้านนอกและเนื้อในของตัวยา นำออกจากเตา และนำไปทำให้แห้ง (ใช้เหล้าเหลือง 30 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1,3]
นอกจากการนึ่งเหล้าแล้ว โกฐน้ำเต้ายังสามารถนึ่งโดยไม่ต้องใช้สารปรุงแต่ง เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มาใส่ในภาชนะนึ่งที่มีฝาปิดมิดชิด นึ่งจนกระทั่งตัวยาด้านนอกและเนื้อในมีสีดำ นำออกจากเตา และนำไปทำให้แห้ง [1, 3]
หมายเหตุ: เหล้าเหลืองผลิตจากข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด มีปริมาณแอลกอฮอล์ 15-20% และเจือปนด้วยน้ำ ไขมัน กรดอะมิโน และแร่ธาตุอื่น ๆ ส่วนเหล้าขาวผลิตจากข้าว ข้าวสาลี มัน ฯลฯ โดยการกลั่นโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ 50-60% และเจือปนด้วยกรดอินทรีย์ ไขมัน ฯลฯ [1]
คุณสมบัติของเหล้าร้อนแรง รสหวานเผ็ด สรรพคุณเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ขับความเย็น ดับกลิ่นและรส ช่วยให้สารอินทรีย์บางอย่างละลายแตกตัวได้ดีขึ้น โดยทั่วไปเหล้าขาวใช้ในการเตรียมยาดอง เหล้าเหลืองมักใช้ในการเตรียมตัวยาพร้อมใช้ [1]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ผิวนอกต้องมีสีน้ำตาลเหลือง มีน้ำหนัก มีคุณสมบัติแข็งและเหนียว มีลายเส้นและมีจุดลักษณะเหมือนดาวชัดเจน มีน้ำมัน มีกลิ่นหอมจรุงใจ รสขมแต่ไม่ฝาด เมื่อเคี้ยวจะมีลักษณะเหนียว [4]
โกฐน้ำเต้า รสขม เย็น มีฤทธิ์ระบาย ขับของเสียตกค้าง สรรพคุณแก้ของเสียตกค้างภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ท้องผูกจากภาวะร้อน ตัวร้อนจัด) หยางของระบบม้ามไม่เพียงพอ มีของเสียและความเย็นตกค้าง ทำให้ท้องผูก อาหารตกค้าง ปวดท้องน้อย ถ่ายไม่สะดวก และมีฤทธิ์ระบายความร้อน ขับพิษร้อน ขับพิษ ใช้ในผู้ป่วยที่มีระบบโลหิตร้อน (อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดา ตาแดง คอบวม เหงือกบวม) ขับพิษร้อน แผลฝีหนองบวม นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยให้เลือดหมุนเวียน กระจายเลือดคั่ง ใช้แก้สตรีประจำเดือนไม่มาเนื่องจากมีเลือดคั่ง แก้ฟกช้ำ ช้ำใน เลือดคั่ง ปวด บวม เป็นต้น [1]
โกฐน้ำเต้าผัดเหล้า มีสรรพคุณขับพิษร้อนในเลือด โดยเฉพาะส่วนบนของร่างกาย (ตั้งแต่ลิ้นปี่ขึ้นไป ได้แก่ ปอด หัวใจ) [1]
โกฐน้ำเต้าผัดน้ำส้ม มีสรรพคุณขับของเสียตกค้างภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ [3]
โกฐน้ำเต้าถ่าน มีสรรพคุณระบายความร้อนในระบบเลือด ช่วยให้เลือดหมุนเวียน และห้ามเลือด [1]
โกฐน้ำเต้านึ่งเหล้า มีสรรพคุณระบายความร้อนและขับสารพิษ ช่วยลดฤทธิ์ถ่ายที่รุนแรงให้น้อยลง [1]
โกฐน้ำเต้า รสฝาดมัน สุขุม สรรพคุณ บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ระบายท้อง รู้ถ่ายรู้ปิดเอง แก้ท้องเสีย ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะและอุจจาระให้เดินสะดวก แก้ตาเจ็บ แก้ริดสีดวงทวาร เป็นยาระบายที่ดี ไม่มีฤทธิ์ระคายเคืองลำไส้ และยังช่วยสมานลำไส้ได้อีกด้วย [5]
การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
เนื่องจากโกฐน้ำเต้ามีฤทธิ์ถ่ายรุนแรง ดังนั้นเวลาต้มให้ใส่ทีหลัง และหากนำไปนึ่งกับเหล้าจะทำให้ฤทธิ์ถ่ายน้อยลง แต่ช่วยปรับการหมุนเวียนของเลือดให้ดีขึ้น [1]
การใช้โกฐน้ำเต้าเกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการปวดเฉียบพลันและมวนเกร็งในลำไส้ใหญ่และอุจจาระเหลวเหมือนน้ำ ดังนั้นควรใช้โกฐน้ำเต้าเฉพาะเมื่อไม่สามารถแก้อาการท้องผูกได้ด้วยการปรับเปลี่ยนโภชนาการ หรือใช้ยาระบายชนิดเพิ่มกาก ในกรณีที่ใช้โกฐน้ำเต้าแล้วมีเลือดออกทางทวารหนัก หรือเมื่อใช้ในขนาดสูงแล้ว ลำไส้ยังไม่มีการเคลื่อนไหว อาจบ่งถึงภาวะรุนแรงที่อาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนั้นการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่าที่กำหนดยังอาจจะทำให้ลำไส้เกิดความเคยชินได้ และห้ามใช้โกฐน้ำเต้าในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งหรือปวดเฉียบพลันในช่องท้อง ไตอักเสบ หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ [6-8]