ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 2309
Small_font Large_font

ลูกจันทน์เทศ : Roudoukou (肉豆蔻)

คำจำกัดความ

ลูกจันทน์เทศ หรือ โร่วโต้วโค่ว คือ เนื้อในเมล็ดที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myristica fragrans Houtt. วงศ์Myristicaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

ลูกจันทน์เทศ (ภาคกลาง); ลูกจันทน์บ้าน (ภาคเหนือ) [2]

ชื่อจีน

โร่วโต้วโค่ว (จีนกลาง), เหน็กเต่าโข่ว (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Nutmeg [1]

ชื่อเครื่องยา

Semen Myristicae [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวผลแก่จัดในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง แยกเอาเปลือกผลและเปลือกหุ้มเมล็ดเทียมทิ้ง กะเทาะเอาเปลือกแข็งที่หุ้มเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อในเมล็ดมาแช่น้ำปูนใสทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วนำมาปิ้งโดยใช้ระดับไฟปานกลาง ปิ้งจนแห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [3]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 4 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ลูกจันทน์เทศ เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอม มาล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง ทุบให้แตกก่อนใช้ [4]
วิธีที่ 2 ลูกจันทน์เทศคั่วรำข้าวสาลี เตรียมโดยนำรำข้าวสาลีและตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ลงในกระทะ นำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง พร้อมคนอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งรำข้าวสาลีเป็นสีเหลืองเกรียม และตัวยามีสีน้ำตาลเข้ม นำออกจากเตา แล้วร่อนเอารำข้าวสาลีออก ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ทุบให้แตกก่อนใช้ (ใช้รำข้าวสาลี 40 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
วิธีที่ 3 ลูกจันทน์เทศคั่วผงหินลื่น เตรียมโดยนำผงหินลื่นใส่ในภาชนะที่เหมาะสม แล้วให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูง ใส่ตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ลงไป คนอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งผิวด้านนอกของตัวยามีสีน้ำตาลเข้มและมีกลิ่นหอมกรุ่น นำออกจากเตา แล้วร่อนเอาผงหินลื่นออก ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ทุบให้แตกก่อนใช้ (ใช้ผงหินลื่น 50 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
วิธีที่ 4 ลูกจันทน์เทศห่อแป้งหมี่คั่ว เตรียมโดยนำแป้งหมี่ผสมน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ปั้นให้เป็นแผ่น แล้วนำมาอัดให้เป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นนำแผ่นแป้งหมี่ที่เตรียมได้มาห่อตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1พรมน้ำที่ผิวด้านนอกเพื่อให้ชุ่มชื้น แล้วนำไปห่อกับแผ่นแป้งหมี่อีก ห่อประมาณ 3-4 ชั้น ให้ทำเช่นเดียวกัน นำไปตากแดดให้แห้งประมาณ 50% จากนั้นนำไปใส่ลงในภาชนะที่บรรจุผงหินลื่นที่ผัดให้ร้อนแล้ว คนอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งผิวด้านนอกมีสีเหลืองเกรียม นำออกจากเตา แล้วร่อนเอาผงหินลื่นออก ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ให้เอาแผ่นแป้งหมี่ที่ห่อไว้ทิ้ง เอาเฉพาะตัวยา ทุบให้แตกก่อนใช้ (ใช้แป้งหมี่ 50 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี เนื้อในเมล็ดต้องมีคุณสมบัติแข็งและเหนียว มีลายเส้นคล้ายเนื้อในเมล็ดหมาก มีน้ำมันมาก และมีกลิ่นหอม [5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ลูกจันทน์เทศ รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์สมานลำไส้ ระงับถ่ายท้องร่วง แก้ท้องร่วงเรื้อรัง (เนื่องจากม้ามและไตพร่องและเย็นเกินไป) และมีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร ทำให้ชี่หมุนเวียนดี แก้ปวดกระเพาะอาหาร เบื่ออาหาร อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง [1]
ลูกจันทน์เทศมีน้ำมันในปริมาณสูง ทำให้มีข้อเสียคือ มีฤทธิ์หล่อลื่นและกระตุ้นลำไส้มากเกินไป โดยทั่วไปจึงต้องนำมาแปรรูปโดยใช้วิธีเฉพาะก่อนใช้ การคั่วจะขจัดน้ำมันบางส่วนออกไป ทำให้ฤทธิ์หล่อลื่นและกระตุ้นลำไส้ลดน้อยลง แต่มีฤทธิ์แรงขึ้นในการช่วยให้ลำไส้แข็งแรงและระงับอาการท้องเสีย เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง ท้องร่วง อาเจียน อาหารไม่ย่อย [3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ลูกจันทน์เทศ มีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวฝาด ร้อน มีสรรพคุณบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ ขับลม แก้จุกเสียด แก้กำเดา แก้ท้องร่วง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดมดลูก บำรุงเลือด [6-8]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ภายนอกโดยบดเป็นผงผสมกับน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูผสมทา [1]
การแพทย์แผนไทย ใช้เนื้อในเมล็ด 0.5 กรัม หรือประมาณ 1-2 เมล็ด บดให้เป็นผงละเอียด ชงน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน [6, 9]

ข้อควรระวัง

ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการร้อนแกร่ง บิดท้องร่วงเพราะมีความร้อน (การแพทย์แผนจีน) [1]
ห้ามใช้ลูกจันทน์เทศในปริมาณสูง เพราะทำให้เกิดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ (การแพทย์แผนไทย) [6]
มีรายงานว่าเมื่อรับประทานลูกจันทน์เทศขนาดน้อยกว่า 1 ช้อนโต๊ะ ก็ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ อาการข้างเคียงในขนาดสูง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้ม่านตาขยาย นอนไม่หลับ มึนงง สับสน เกิดอาการประสาทหลอน และอาจทำให้ชักได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น allergic contact dermatitis และ occupational asthma [6]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สารสกัด Nutmeg oil จากลูกจันทน์เทศสามารถยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดได้ โดยมี eugenol และ isoeugenol เป็นสารออกฤทธิ์ [6]
  2. สารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ น้ำมันลูกจันทน์เทศสามารถยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดได้ สารสกัดของเปลือกเมล็ดแสดงฤทธิ์ต้านอักเสบในสัตว์ทดลอง [10]
  3. ลูกจันทน์เทศมีสรรพคุณแก้ท้องเสียชนิดเรื้อรัง แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาเจียน มีรายงานว่าเมื่อรับประทานผงลูกจันทน์ขนาด 7.5 กรัม อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง นอนไม่หลับ หากรับประทานในขนาดสูงมากอาจทำให้ตายได้ [10]
  4. เมื่อให้สารสกัดอีเทอร์ทางปากแมว พบว่าขนาดของสารสกัดที่ทำให้แมวตายมีค่าเท่ากับ 0.5-1 มิลลิลิตร/กิโลกรัม และเมื่อให้ผงยาทางปากแมวในขนาด 1.8 กรัม/กิโลกรัม อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอน และถึงตายได้ภายใน 24 ชั่วโมง [10]
  5. จากการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากลูกจันทน์เทศพบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง [11]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  4. Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
  5. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  6. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. เอกสารวิชาการสมุนไพร. นนทบุรี : สถาบันวิจัยสมุนไพร, 2543.
  7. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
  8. ชยันต์ วิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  9. สุนทรี สิงหบุตรา. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2536.
  10. Tao C, Lin ZB. Semen Myristicae: rou dou kou. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
  11. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.


24 มิถุนายน 2553 29 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย