ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 714
Small_font Large_font

หญ้าแห้วหมู : Xiangfu (香附)

คำจำกัดความ

หญ้าแห้วหมู หรือ เซียงฟู่ คือ เหง้าแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyperus rotundus L. วงศ์ Cyperaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

หญ้าแห้วหมู (ทั่วไป); หญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน) [2]

ชื่อจีน

เซียงฟู่ (จีนกลาง), เฮียงหู่ (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Nutgrass Galingale Rhizome [1]

ชื่อเครื่องยา

Rhizoma Cyperi [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวเหง้าในฤดูใบไม้ร่วง แยกเอารากฝอยทิ้ง ต้มน้ำสักครู่หรือนึ่งสักครู่ ตากให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 5 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 หญ้าแห้วหมู เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอม มาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นชิ้นหรือฝานเป็นแผ่นบาง ๆ นำไปทำให้แห้งโดยใช้อุณหภูมิต่ำ [1, 3]
วิธีที่ 2 หญ้าแห้วหมูผัดน้ำส้ม เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำส้ม (ซึ่งได้มาจากการหมักกลั่นข้าว) ปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนกระทั่งน้ำส้มแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยาแห้ง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (น้ำส้ม 20 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 3] นอกจากหญ้าแห้วหมูผัดน้ำส้มแล้ว ยังอาจเตรียมอีกวิธีหนึ่งคือ หญ้าแห้วหมูนึ่งกับน้ำส้ม โดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำส้ม (ซึ่งได้มาจากการหมักกลั่นข้าว) ปริมาณพอเหมาะและเติมน้ำสะอาดปริมาตรเท่าน้ำส้ม นำไปใส่ในภาชนะนึ่ง นึ่งจนกระทั่งน้ำส้มแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนึ่งต่ออีก 5 ชั่วโมง นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นลงเล็กน้อย ฝานเป็นแว่นบาง ๆ นำไปตากแห้ง (น้ำส้ม 20 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 3]
วิธีที่ 3 หญ้าแห้วหมูผัดสารปรุงแต่ง 4 ชนิด เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำคั้นขิงสด น้ำส้ม (ซึ่งได้มาจากการหมักกลั่นข้าว) เหล้าเหลือง และน้ำเกลือ ปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนกระทั่งสารปรุงแต่งแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยาแห้ง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้ขิงสด 5 กิโลกรัม คั้นเอาแต่น้ำ ใช้น้ำส้มและเหล้าเหลืองอย่างละ 10 กิโลกรัม เกลือบริสุทธิ์ 2 กิโลกรัมละลายในน้ำ รวมสารปรุงแต่งทั้งหมด ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
วิธีที่ 4 หญ้าแห้วหมูผัดเหล้า เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมเหล้าเหลืองปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนกระทั่งเหล้าแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยาแห้ง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้เหล้าเหลือง 20 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
วิธีที่ 5 หญ้าแห้วหมูถ่าน เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีดำไหม้ เนื้อในมีสีน้ำตาลไหม้ พรมน้ำเล็กน้อย นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม [3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ขนาดของเหง้าต้องสม่ำเสมอ ผิวเรียบเป็นมัน ไม่มีขน มีกลิ่นหอม [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

หญ้าแห้วหมู รสเผ็ด ขมเล็กน้อย อมหวานเล็กน้อย สุขุม มีฤทธิ์ผ่อนคลายตับ ทำให้ชี่หมุนเวียน แก้อาการชี่ติดขัด ปวดท้อง ปวดชายโครง และมีฤทธิ์ปรับประจำเดือน แก้ปวด ใช้บรรเทาอาการเครียดประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ปวดคัดเต้านม [1]
หญ้าแห้วหมูผัดหรือนึ่งน้ำส้ม ตัวยาจะเข้าสู่เส้นลมปราณของตับ เพิ่มฤทธิ์ผ่อนคลายตับ ระงับปวด และช่วยย่อยอาหาร เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ [3]
หญ้าแห้วหมูผัดสารปรุงแต่ง 4 ชนิด จะช่วยให้ชี่หมุนเวียนไม่ติดขัด ปรับประจำเดือนให้เป็นปกติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ [3]
หญ้าแห้วหมูผัดเหล้า มีฤทธิ์ช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเนื่องจากไส้เลื่อน [3]
หญ้าแห้วหมูถ่าน รสขม ฝาด อุ่น โดยทั่วไปใช้รักษาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ [3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

หญ้าแห้วหมู มีกลิ่นหอม รสเผ็ดปร่า ขมเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับระดู ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง ท้องอืด เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงทารกในครรภ์ เป็นยาฝาดสมาน สงบประสาท เป็นยาอายุวัฒนะ [5-7]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 6-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
การแพทย์แผนไทย ใช้ครั้งละ 1 กำมือ (60-70 หัว หรือหนัก 15 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม หรือสด ครั้งละ 5 หัว โขลกให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งรับประทาน [5,6]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. การทดลองในสัตว์ทดลอง พบฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดไข้ ลดความดันโลหิต และลดการอักเสบซึ่งเกิดจาก -cyperone นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมในหลอดทดลองด้วย [8]
  2. หัวแห้วหมูมีน้ำมันหอมระเหย และมีรายงานว่ามีฤทธิ์คลายอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยขับปัสสาวะ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่าไม่มีพิษเฉียบพลัน [5]
  3. จากการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากหัวแห้วหมูพบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง [9]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. กันทิมา สิทธิธัญกิจ, พรทิพย์ เติมวิเศษ (คณะบรรณาธิการ). คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2547.
  6. กองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรพื้นบ้านฉบับรวม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : Text and Journal Corporation Co., Ltd., 2533.
  7. ชยันต์ วิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  8. พร้อมจิต ศรลัมภ์, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์ (คณะบรรณาธิการ). สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2543.
  9. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.


24 มิถุนายน 2553 29 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย