ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 646
Small_font Large_font

หญ้าคา : Baimaogen (白茅根)

คำจำกัดความ

หญ้าคา หรือ ไป่เหมาเกิน คือ เหง้าแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Imperata cylindrica Beauv. var. major (Nees) C.E. Hubb. วงศ์ Gramineae [1]

ชื่อภาษาไทย

หญ้าคา (ทั่วไป); ลาลาง ลาแล (ยะลา); เก้อฮี (แม่ฮ่องสอน) [2]

ชื่อจีน

ไป่เหมาเกิน (จีนกลาง), แปะเหม่ากิง (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Lalang Grass Rhizome [1]

ชื่อเครื่องยา

Rhizoma Imperatae [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวเหง้าในฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูใบไม้ร่วง ล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง แยกเอารากฝอยและกาบใบทิ้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 หญ้าคา เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอมมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะหมักไว้สักครู่เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นชิ้นขนาดพอเหมาะ และนำไปทำให้แห้ง [1, 3]
วิธีที่ 2 หญ้าคาถ่าน เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีน้ำตาลไหม้ เนื้อในเป็นสีเหลืองไหม้ พรมน้ำเล็กน้อย นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ตากให้แห้งในที่ร่ม [3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ลำต้นต้องหยาบ สีขาว และมีรสหวาน [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

หญ้าคา รสอมหวาน เย็น มีฤทธิ์ห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น ใช้รักษาอาการเลือดออกจากภาวะเลือดร้อน เช่น เลือดกำเดา ไอ อาเจียน ปัสสาวะเป็นเลือด และมีฤทธิ์ระบายความร้อน ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ ปัสสาวะร้อนมีสีเข้ม [1]
หญ้าคาถ่าน รสฝาด เย็นเล็กน้อย ฤทธิ์ระบายความร้อนในระบบเลือดค่อนข้างอ่อน แต่ฤทธิ์ห้ามเลือดแรง โดยทั่วไปใช้ในกลุ่มอาการของโรคที่มีเลือดออก เป็นยาฝาดสมานและยาห้ามเลือด [3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ตำรายาไทยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อักเสบในทางเดินปัสสาวะ บำรุงไต แก้น้ำดีซ่าน แก้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร [5]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 9-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
การแพทย์แผนไทย ใช้ 1 กำมือ (สด 40-50 กรัม หรือแห้ง 10-15 กรัม) หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มน้ำ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) [6]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สารสกัดน้ำจากเหง้ามีฤทธิ์ในการลดจำนวนปัสสาวะและทำให้จำนวนคลอไรด์ในปัสสาวะเพิ่มขึ้น สารสกัดน้ำร้อนจากเหง้าสามารถลดอาการของแผลในกระเพาะอาหารและสามารถยับยั้งการหลั่งฮีสตามีนในหนูขาวที่ถูกกระตุ้นด้วย สาร 48/80 ไม่พบฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์ [7]
  2. สารสกัดด้วยน้ำจากเหง้าแห้ง สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าสดและเหง้าแห้ง แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 protease โดยสารสกัดที่แสดงฤทธิ์แรง คือสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเหง้าสด สามารถยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวได้ร้อยละ 98 ที่ความเข้มข้นของตัวอย่าง 66.67 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร [7]
  3. เมื่อให้กระต่ายกินน้ำต้มจากหญ้าคาขนาด 25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากนั้น 16 ชั่วโมง กระต่ายเคลื่อนไหวช้าลง การหายใจเร็วขึ้น และคืนสู่ปกติในเวลาไม่นานนัก ถ้าฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 10-15 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม การหายใจจะเร็วขึ้น การเคลื่อนไหวช้าลง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จะกลับสู่ปกติ ถ้าฉีดขนาด 25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลังจากฉีด 6 ชั่วโมง กระต่ายก็ตาย [8]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศ เมืองไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2493.
  6. ดรุณ เพ็ชรพลาย และคณะ. สมุนไพรพื้นบ้าน (ฉบับรวม). สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด รุ่งเรืองสาสน์การพิมพ์, 2541.
  7. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ, จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์, สุธน วงษ์ชีรี, จารีย์ บันสิทธิ์ และประถม ทองศรีรักษ์. หญ้าคา. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง (บรรณาธิการ). รายงานการศึกษาวิจัยโครงการสมุนไพรต้านเอดส์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2546.
  8. Jiangsu New Medical College. A Dictionary of Chinese Materia Medica. Vol.1. Hong Kong: Shangwa, 1979


24 มิถุนายน 2553 20 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย