ค้นหายาสมุนไพร
ราชดัด : Yadanzi (鸭胆子)
ราชดัด หรือ ยาต่านจื่อ คือ ผลสุกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brucea javanica (L.) Merr. วงศ์ Simaroubaceae [1]
ราชดัด, ดีคน (ภาคกลาง); กาจับหลัก, เท้ายายม่อมน้อย, มะขี้เหา, มะดีควาย, ยาแก้ฮากขม (เชียงใหม่); พญาดาบหัก (ตราด); เพียะฟาน (นครราชสีมา); มะลาคา (ปัตตานี) [2]
ยาต่านจื่อ (จีนกลาง), อ้ะต๋าจี้ (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Java Brucea Fruit [1]
Fructus Bruceae [1]
เก็บเกี่ยวผลสุกในฤดูใบไม้ร่วง แยกเอาสิ่งปะปนออก ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
นำสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอมมากะเทาะเอาเปลือกผลออก ใช้เฉพาะส่วนเนื้อ ร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก ทุบให้แตกก่อนใช้ [1, 3]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ผลมีขนาดใหญ่ อวบมาก เนื้อในเมล็ดมีสีขาว มีน้ำมันมาก [4]
ผล รสขม เย็น มีฤทธิ์ขับพิษร้อน แก้มาลาเรีย และแก้โรคบิด [1]
ผล รสขม สรรพคุณแก้ไข้ แก้กระษัย บำรุงน้ำดี บำรุงน้ำเหลือง แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ลมวิงวียน แก้หาวเรอ แก้เจ็บอก แก้อาเจียนเป็นเลือด เป็นยาบำรุงธาตุ ยาขับพยาธิ และแก้บิด [5, 6] ใช้รักษาโรคผิวหนังจำพวกเกลื้อน ใช้เมล็ดแห้งตำพอแหลก แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น [7]
การแพทย์แผนจีน ใช้ 0.5-2 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
ราชดัดมีพิษเล็กน้อย ห้ามใช้ในเด็กและสตรีมีครรภ์ [8, 9]
มีรายงานว่าสารพิษที่พบในเมล็ดคือ bruceantin, bruceine A-E , yadanziolide A, F, I ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมและเชื้อบิดในหลอดทดลอง แต่พบความเป็นพิษสูง [9] และเนื้อในเมล็ดหรือสารสกัดน้ำจากเล็บมือนางมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรียในไก่ได้ผลดี และจากการทดลองทางคลินิกในเบื้องต้นพบว่าสามารถรักษาโรคมาลาเรียได้ นอกจากนี้ยังพบสารพิษ brahmine และ kerpestine [10, 11]
กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าส่วนสกัดด้วยน้ำไม่มีพิษ เมื่อให้ทางปากในขนาดที่ทำให้หนูตายร้อยละ 50 โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เท่ากับ 5.17 กรัม/กิโลกรัม และเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้อง เท่ากับ 6.37 กรัม/กิโลกรัม [10]
มีรายงานการศึกษาทางเภสัชวิทยาและทางคลินิก พบว่าสารสกัดจากผลราชดัดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิด แต่ฤทธิ์อ่อนกว่ายา emetine [8, 11]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xian: World Library Publishing House, 2002.
Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. สมุนไพรก้าวใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ที.พี. พริ้น จำกัด, 2537.
ชยันต์ วิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
กองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรพื้นบ้านฉบับรวม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : Text and Journal Corperation Co., Ltd., 2533.
พร้อมจิต ศรลัมภ์, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์ (คณะบรรณาธิการ). สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2543.
World Health Organization. WHO monographs on selected medicinal plants. Volume 1. Geneva: World Health Organization, 1999.
สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือฐานข้อมูลพืชพิษ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, 2545.
Institute of Materia Medica, Chinese Academy of Medicinal Sciences. Chinese Materia Medica. Vol. III . 2nd ed. Beijing: Renmin Weisheng Publishing House, 1984.
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2553