ค้นหายาสมุนไพร
โป่งรากสน : Fuling (茯苓)
โป่งรากสน หรือ ฝูหลิง คือ เห็ดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Poria cocos (Schw.) Wolf วงศ์ Polyporaceae [1]
โป่งรากสน [2]
ฝูหลิง (จีนกลาง), หกเหล็ง (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Indian Bread [1]
Poria [1]
เก็บเกี่ยวสมุนไพรในปลายฤดูร้อน แยกเอาดินออก รวมเป็นกอง ๆ เกลี่ยให้แผ่กระจาย ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องจนกระทั่งผิวนอกแห้ง ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งผิวนอกย่นและน้ำข้างในเนื้อค่อย ๆ ระเหย และตากให้แห้งในที่ร่ม เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้วิธีที่ 1 โป่งรากสน เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ในหม้อนึ่งที่มีฝาปิดมิดชิด นึ่งสักครู่จนกระทั่งสมุนไพรอ่อนนุ่ม ปอกเปลือกออก หั่นเป็นแว่นหนา ๆ และนำไปทำให้แห้ง [1, 3]วิธีที่ 2 โป่งรากสนชาด เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ลงในชาด (แร่ธาตุที่มีสีแดง เป็นสารประกอบของเมอร์คิวริกซัลไฟด์) ที่บดเป็นผงละเอียด คลุกเคล้าให้เข้ากัน (ใช้ผงชาด 2 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีน้ำหนัก มีคุณสมบัติแข็งและเหนียว ไม่มีรอยแตก หน้าตัดสีขาวละเอียดเป็นมัน [4]
โป่งรากสน รสจืดอมหวาน สุขุม มีฤทธิ์ระบายน้ำ สลายความชื้น สรรพคุณแก้อาการบวมน้ำ ปัสสาวะขัด และมีฤทธิ์บำรุงม้าม กล่อมประสาท แก้อาการม้ามพร่อง ระบบการย่อยอาหารอ่อนแอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ [1]โป่งรากสนชาด มีฤทธิ์กล่อมประสาทแรงขึ้น [3]
การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 9-15 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
สารสกัดน้ำมีฤทธิ์สงบประสาทในหนูถีบจักร คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้กระต่าย5 ผงยาเมื่อให้ทางปากหนูถีบจักรในขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีผลยับยั้งอาการผิวหนังอักเสบ สารสกัดน้ำตาลเชิงซ้อนเมื่อให้ทางปากหนูถีบจักรในขนาด 250, 500, 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ติดต่อกันนาน 7 วัน มีฤทธิ์เสริมม้ามให้แข็งแรง และสารสกัด 70% แอลกอฮอล์ เมื่อฉีดเข้าช่องท้องกระต่ายในขนาด 0.5 กรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ติดต่อกันนาน 5 วัน มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อฉีดยาเตรียมเข้าใต้ผิวหนังหนูขาวในขนาดเทียบเท่าผงยา 1.4 กรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ติดต่อกันนาน 8 วัน มีผลปกป้องตับได้ [6]
สารสกัดน้ำสามารถบรรเทาอาการหวาดผวาและจิตใจไม่สงบชนิดเรื้อรัง และมีฤทธิ์ระบายความชื้นและน้ำ [6]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
วิชัย โชควิวัฒน, ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง, เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2549.
Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xi-an: World Library Publishing House, 2002.
Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
Bensky D, Gamble A. Chinese herbal medicine: Materia medica. Revised edition. Washington: Eastland Press, 1993.
Hu RJ, Wang SX. Poria: fu ling. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2553