ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 1345
Small_font Large_font

ผักคาวทอง : Yuxingcao (鱼腥草)

คำจำกัดความ

ผักคาวทอง หรือ ยฺหวีซิงเฉ่า คือ ส่วนเหนือดินแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Houttuynia cordata Thunb.วงศ์ Saururaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

ผักคาวทอง, พลูแก (กรุงเทพฯ); ผักคาวตอง, ผักข้าวตอง (ภาคเหนือ); ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) [2]

ชื่อจีน

ยฺหวีซิงเฉ่า (จีนกลาง), หื่อชอเช่า (จีนแต้จิ๋ว)1

ชื่อภาษาอังกฤษ

Heartleaf Houttuynia Herb [1]

ชื่อเครื่องยา

Herba Houttuyniae [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวส่วนเหนือดินในฤดูร้อนเมื่อพืชเจริญเติบโตเต็มที่ แยกเอาสิ่งปะปนออก ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

หลังเก็บเกี่ยวสมุนไพรแล้ว แยกเอารากและสิ่งอื่นที่ปะปนออก ล้างอย่างรวดเร็วให้สะอาด หั่นเป็นท่อน ๆ และนำไปตากให้แห้ง [1, 3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีสีน้ำตาลแดงอ่อน ๆ ใบและลำต้นสมบูรณ์ และมีกลิ่นคาวมาก [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ผักคาวทอง มีรสเผ็ด เย็นเล็กน้อย มีฤทธิ์ระบายความร้อน ขับพิษ ขับหนอง ขับปัสสาวะ ใช้รักษาฝีในปอด ไอหรืออาเจียนออกมามีเลือดปนหนอง ขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ ฝีอักเสบ บิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ต้านเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ [1, 5, 6]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

แพทย์แผนโบราณใช้ต้นแห้งเป็นยาขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ฝีบวมอักเสบ ไอ บิด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หูชั้นกลางอักเสบและริดสีดวง ต้นสดใช้ภายนอกเป็นยาพอกฝี บวมอักเสบ บาดแผล โรคผิวหนัง งูพิษกัดและช่วยให้กระดูกเชื่อมติดกันเร็วขึ้น ใบสดผิงไฟพอนิ่มใช้พอกเนื้องอกชนิดต่าง ๆ รากเป็นยาขับปัสสาวะ [7-9]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 15-25 กรัม1 โดยต้มเอาน้ำดื่ม ก่อนต้มให้แช่น้ำไว้ 1-3 นาที ต้มให้เดือดนาน 5 นาที หากใช้สดใช้ 30-50 กรัมโดยต้มหรือคั้นเอาน้ำดื่ม หากใช้ภายนอกให้ใช้สมุนไพรปริมาณที่เหมาะสม ต้มเอาน้ำชะล้างหรือใช้ต้นสดตำพอก [1, 5]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. มีรายงานว่า สารประเภทแอลคาลอยด์ที่แยกได้จากส่วนเหนือดินของผักคาวทองแสดงฤทธิ์ปานกลางในหลอดทดลองในการทำลายเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง 5 ชนิด คือ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งรังไข่ เซลล์เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย เซลล์มะเร็งสมอง และเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่[10]
  2. สารสกัดน้ำจากผักคาวทองมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยง 5 ชนิด ได้แก่ L1210, U937, K526, Raja และ P3HR1 โดยมีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 478-662 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ในประเทศจีน มีการใช้ผักคาวทองเป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษามะเร็งทางเดินอาหารและมะเร็งทางเดินหายใจ รวมไปถึงเนื้องอกในรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งปอด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพิ่มภูมิต้านทาน และรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัด [10]
  3. น้ำมันหอมระเหยจากผักคาวทองสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในเซลล์เพาะเลี้ยง และยังพบว่าน้ำมันระเหยง่ายที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำของผักคาวทองสดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสเริม ไข้หวัดใหญ่ และเอดส์ ในประเทศจีนมีการใช้ผักคาวทองเป็นส่วนผสมในตำรับยารักษาโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ติดเชื้อเฉียบพลันหวัด ไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อทางเดินหายใจยาลดไข้ เป็นส่วนผสมในตำรับยาใช้ในการป้องกันและรักษาอาการโรคที่เกิดจากไวรัสในไก่ [10]
  4. มีรายงานการศึกษาในหลอดทดลองว่า สารสกัดน้ำจากผักคาวทองมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียช่องปาก น้ำมันที่สกัดจากผักคาวทองมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพหลายชนิดโดยเฉพาะยีสต์ ในประเทศจีนมีการใช้ผักคาวทองเป็นส่วนประกอบในตำรับยาสำหรับใช้ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อในช่องปาก ยารักษาสิว ป้องกันเชื้อรา รักษาโรคผิวหนัง เช่น กลาก ขี้เรื้อนกวาง เป็นต้น [10]
  5. ส่วนสกัดน้ำจากผักคาวทองมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ในประเทศจีนใช้ผักคาวทองเป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาอาการอักเสบ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โรครูมาตอยด์ หนองใน และรักษาแผลหลังผ่าตัด [10]
  6. จากการทดลองในกบและคางคก พบว่าน้ำคั้นจากต้นสดมีผลขยายหลอดเลือดฝอย ทำให้อัตราการไหลเวียนของเลือดและการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น [10]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xi-an: World Library Publishing House, 2002.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรไทย-จีน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2547.
  6. Huang KC. The pharmacology of Chinese herbs. 2nd ed. Washington DC: CRC Press LLC, 1999.
  7. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, ธิดารัตน์ บุญรอด, จารีย์ บันสิทธิ์, ประไพ วงศ์สินคงมั่น, ดวงเพ็ญ ปัทมดิลก, จิรานุช มิ่งเมือง. คุณภาพทางเคมีของผักคาวตอง. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, จารีย์ บันสิทธิ์, กัลยา อนุลักขณาปกรณ์, เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, ธิดารัตน์ บุญรอด. บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ (คณะบรรณาธิการ). ผักคาวตอง Houttuynia cordata Thunb. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก, 2546.
  8. สุนทรี สิงหบุตรา. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พรินติ้งเฮ้าส์, 2536.
  9. สำลี ใจดี และคณะ. การใช้สมุนไพร เล่ม 2. โครงการพัฒนาเทคนิคการทำยาสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : บริษัท สารมวลชน จำกัด, 2524.
  10. กัลยา อนุลักขณาปกรณ์. ผักคาวตองกับการศึกษาทางด้านเภสัชวิทยา. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, จารีย์ บันสิทธิ์, กัลยา อนุลักขณาปกรณ์, เย็นจิตร เตชะดำรงสิน, ธิดารัตน์ บุญรอด. บุษราวรรณ ศรีวรรธนะ (คณะบรรณาธิการ). ผักคาวตอง Houttuynia cordata Thunb. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก, 2546.


24 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย