เมล็ดฝอยทอง หรือ ทู่ซือจื่อ คือ เมล็ดสุกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta chinensis Lam. วงศ์ Convolvulaceae [1]
เมล็ดฝอยทอง (ภาคกลาง); เมล็ดผักไหม (อุดรธานี); เมล็ดฝอยไหม (นครราชสีมา) [2]
ทู่ซือจื่อ (จีนกลาง), โท่วซีจี้ (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Dodder Seed [1]
เก็บเกี่ยวผลสุกในฤดูใบไม้ร่วง ตากแดดให้แห้ง เคาะเมล็ดร่วง เก็บสิ่งอื่นที่ปะปนออก เมล็ดที่ได้นำไปตากแห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 4 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 เมล็ดฝอยทอง เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรมาแยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ล้างน้ำให้สะอาด ตากให้แห้ง [3]
วิธีที่ 2 เมล็ดฝอยทองผัดน้ำเกลือ เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มาใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้จนกระทั่งน้ำเกลือแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งเมล็ดพองตัวและมีเสียงเปลือกเมล็ดปริออกเล็กน้อย มีกลิ่นหอมกรุ่น นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น (ใช้เกลือบริสุทธิ์ 2 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
วิธีที่ 3 เมล็ดฝอยทองผสมเหล้าอัดเป็นแผ่น เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 มาใส่ในภาชนะที่เหมาะสม ต้มน้ำจนกระทั่งเปลือกเมล็ดแตกออก คนตลอดเวลาจนกระทั่งน้ำแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยาและตัวยาทั้งหมดมีลักษณะเหมือนโจ๊ก เติมเหล้าเหลืองและแป้งหมี่ขาวลงไปผสมให้เข้ากัน นำออกจากเตา อัดเป็นแผ่น แล้วหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ตากให้แห้ง (ใช้เหล้าเหลือง 15 กิโลกรัมและแป้งหมี่ขาว 15 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
วิธีที่ 4 เมล็ดฝอยทองผัด เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ นำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวด้านนอกเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ และมีเสียงปริออกของเปลือกเมล็ด นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น [3]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี เมล็ดมีสีเหลืองเทา เมล็ดอวบอิ่ม [4]
เมล็ดฝอยทอง รสอมหวาน อุ่น มีฤทธิ์บำรุงไต ควบคุมการหลั่งของน้ำอสุจิ รักษากลุ่มอาการของระบบไตพร่อง (ปวดเอว อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก ปัสสาวะบ่อย ตกขาว) มีฤทธิ์บำรุงตับ ทำให้ตาสว่าง รักษากลุ่มอาการของระบบตับและไตอ่อนแอ (ตามัว หน้ามืด ตาล้า เบลอ) ช่วยให้หยุดถ่าย (เนื่องจากระบบม้ามและไตพร่อง ทำให้ถ่ายท้อง) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์บำรุงมดลูก ป้องกันการแท้งลูก
(เนื่องจากระบบตับและไตอ่อนแอ ทำให้แท้งง่าย) [1, 5]
เมล็ดฝอยทองผัดน้ำเกลือ เนื่องจากเมล็ดฝอยทองมีคุณสมบัติค่อนข้างอุ่น และมีฤทธิ์บำรุงหยางมากกว่าบำรุงยิน เมื่อนำมาผัดน้ำเกลือ จะช่วยให้ฤทธิ์บำรุงยินและหยางเสมอกัน และช่วยนำตัวยาเข้าสู่ระบบไต ช่วยเพิ่มฤทธิ์บำรุงไตและบำรุงครรภ์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก ปัสสาวะบ่อย ตกขาว [3]
เมล็ดฝอยทองผสมเหล้าอัดเป็นแผ่น จะเพิ่มฤทธิ์ให้ความอบอุ่นและบำรุงไต และช่วยให้ตัวยาสามารถละลายออกมาได้ดีเวลาต้มยา และสามารถบดเป็นผงได้ง่าย จึงเป็นวิธีที่นิยมใช้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยเอวและเข่า หูอื้อตามัว กระหายน้ำ [3]
เมล็ดฝอยทองผัด มีสรรพคุณและวิธีใช้เหมือนเมล็ดฝอยทอง แต่เมล็ดฝอยทองผัดจะช่วยให้ตัวยาสามารถละลายออกมาได้ดีเวลาต้มยาและสามารถบดเป็นผงได้ง่าย สะดวกในการเตรียมยาตำรับ นิยมใช้ในการเตรียมยาลูกกลอนและยาผง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเอวเนื่องจากไตพร่อง หลังปัสสาวะแล้วยังมีหยดปัสสาวะเหลืออยู่ [3]
เมล็ดฝอยทอง รสฝาดเฝื่อน สรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงตับไต แก้ปวดเมื่อย ทำให้ตาสว่าง แก้กระหายน้ำ แก้น้ำกามเคลื่อนเวลาหลับ [6]
การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือทำเป็นยาเม็ด หรือยาผงรับประทาน ใช้ภายนอก บดเป็นผงผสมทา [1, 5]
สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ไม่ควรรับประทาน [1, 5]
พืชนี้ถ้าขึ้นเกาะบนต้นไม้ที่เป็นพิษ เช่น ต้นยี่โถ ลำโพง ถอบแถบน้ำ และยาสูบ เป็นต้น ไม่ควรเก็บมาใช้ [5]