ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 380
Small_font Large_font

โกฐสอ : Baizhi (白芷)

คำจำกัดความ

โกฐสอ หรือ ไป๋จื่อ คือ รากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Angelica dahurica (Fisch.ex Hoffm.) Benth. et Hook. f. หรือ A. dahurica (Fisch.ex Hoffm.) Benth. et Hook. f. var. formosana (Boiss.) Shan et Yuan วงศ์ Umbelliferae [1]

ชื่อภาษาไทย

โกฐสอ (ทั่วไป); โกฐสอจีน [2, 3]

ชื่อจีน

ไป๋จื่อ (จีนกลาง), แปะจี้ (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Dahurian Angelica Root [1]

ชื่อเครื่องยา

Radix Angelicae Dahuricae [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวรากในฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วงเมื่อใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แยกเอารากแขนง ดินและทรายออก ตากแดดหรือทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

นำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำนานประมาณ 1-2 ชั่วโมง นำออกมาผึ่งให้แห้งหมาด ๆ หั่นเป็นแว่นหนา ๆ และนำไปทำให้แห้ง [1, 4]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีสีขาว เนื้อแข็ง มีน้ำหนัก มีแป้งมาก มีกลิ่นหอม รสชาติเข้มข้น [5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

โกฐสอ รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ขับเหงื่อ แก้อาการหวัดจากการกระทบลมเย็นภายนอก (ปวดศีรษะ คัดจมูก) มีฤทธิ์เปิดทวาร บรรเทาปวด แก้อาการปวดศีรษะ (โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะด้านหน้า) ปวดฟัน ลดอาการคัดจมูกจากไข้หวัดหรือโรคโพรงอากาศอักเสบ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดบวม ขับหนอง แก้พิษแผลฝีหนอง บวมเป็นพิษ [1, 6]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

โกฐสอ มีกลิ่นหอม รสขมมัน มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ บำรุงหัวใจ แก้เสมหะเป็นพิษ แก้สะอึก แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไข้จับสั่น [6-8]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สาร byakangelicol และ imperatorin ที่แยกได้จากโกฐสอมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลอง9,10 ส่วนสาร byakangelicol, byakangelicin, oxypeucedanin และ imperatorin มีฤทธิ์ปกป้องตับจากสาร tacrine ในหลอดทดลอง [11]
  2. สาร angelicotoxin ที่แยกได้จากโกฐสอ เมื่อใช้ในปริมาณน้อยมีฤทธิ์กระตุ้นศูนย์การหายใจและประสาทส่วนกลาง ทำให้อัตราการหายใจเร็วขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และทำให้อาเจียน และหากใช้ในปริมาณมากจะทำให้ชักและเกิดอัมพาต [12]
  3. จากการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากเหง้าโกฐสอ พบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง [13]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  4. Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
  5. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  6. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
  7. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศ เมืองไทย. กรุงเทพมหานคร : เกษมบรรณากิจ, 2514.
  8. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
  9. Lin CH, Chang CW, Wang CC, Chang MS, Yang LL. Byakangelicol, isolated from Angelica dahurica, inhibits both the activity and induction of cyclooxygenase-2 in human pulmonary epithelial cells. J Pharm Pharmacol 2002; 54(9): 1271-8.
  10. Kang OH, Lee GH, Choi HJ, Park PS, Chae HS, Jeong SI, Kim YC, Sohn DH, Park H, Lee JH, Kwon DY. Ethyl acetate extract from Angelica Dahuricae Radix inhibits lipopolysaccharide-induced production of nitric oxide, prostaglandin E2 and tumor necrosis factor-alphavia mitogen-activated protein kinases and nuclear factor-kappa B in macrophages. Pharmacol Res 2007; 55(4): 263-70.
  11. Oh H, Lee HS, Kim T, Chai KY, Chung HT, Kwon TO, Jun JY, Jeong OS, Kim YC, Yun YG. Furocoumarins from Angelica dahurica with hepatoprotective activity on tacrine-induced cytoxocity in Hep G2 cells. Planta Med 2002; 68(5): 463-4.
  12. Yeung HC. Handbook of Chinese Herbs (Chinese Materia Medica). California: Los Angeles County, 1996.
  13. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย