ค้นหายาสมุนไพร
สีเสียด : Ercha (儿茶)
สีเสียด หรือ เอ๋อฉา คือ ส่วนสกัดน้ำที่เตรียมจากลำต้นและกิ่งที่ปอกเปลือกออกแล้วของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acacia catechu (L.f.) Willd. วงศ์ Leguminosae [1]
สีเสียด, ขี้เสียด (ภาคเหนือ); สีเสียดแก่น (ราชบุรี); สีเสียดเหนือ (ภาคกลาง); สีเสียดเหลือง (เชียงใหม่) [2]
เอ๋อฉา (จีนกลาง), หยี่แต๊ (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Cutch Black Catechu [1]
Catechu [1]
เก็บเกี่ยวกิ่งและลำต้นในฤดูหนาว ปอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้นใหญ่ ๆ ใส่น้ำให้ท่วม เคี่ยว 5-6 ชั่วโมง ยางจะถูกสกัดออกมา เป็นสีน้ำตาลดำ ข้น ๆ คล้ายน้ำตาลที่เคี่ยวจนงวด เทลงพิมพ์ตามต้องการ เมื่อเย็นจะแข็ง มีลักษณะเป็นก้อนสีน้ำตาลดำ เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1, 3]
หลังเก็บเกี่ยวสมุนไพรแล้ว แยกสิ่งอื่นที่ปะปนออก ร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก ทุบให้แตกหรือบดให้ละเอียดก่อนใช้ [1, 4]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ด้านนอกมีสีน้ำตาลเข้มถึงสีน้ำตาลดำ ผิวเรียบเป็นมัน แข็งและแตกหักง่ายปราศจากสิ่งปนปลอม [5]
สีเสียด รสฝาด มีฤทธิ์ช่วยให้เนื้อเยื่อที่เกิดใหม่เจริญเติบโต ช่วยสมานแผล แก้แผลในปาก แก้ท้องเสีย [1]
สีเสียดไทย รสฝาด สรรพคุณ ช่วยสมานแผล แก้อาการท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) และแก้บิด (ปวดเบ่ง และมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย) [3, 6, 7]
การแพทย์แผนจีน ใช้ 1-3 กรัม ห่อใส่ถุงผ้าต้มเอาน้ำดื่ม หรือทำเป็นยาลูกกลอน หรือยาผง [1] การแพทย์แผนไทย ใช้ผง ครั้งละ 0.3-1 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [6] ใช้ภายนอก ใช้ผงสีเสียดละลายน้ำใส่แผลสดห้ามเลือด ก้อนสีเสียดฝนกับน้ำให้ข้น ๆ ทาแผลน้ำกัดเท้า ผงสีเสียดผสมกับน้ำมันพืช ทาแผลน้ำกัดเท้า ใส่ปูนที่ใช้รับประทานกับหมากและพลู เพื่อป้องกันปูนกัดปาก [3]
ควรระมัดระวังในเรื่องขนาดที่ใช้ ถ้าใช้มากจะเกิดอาการข้างเคียงได้ [6]
ก้อนสีเสียดประกอบด้วย catechin 2-20%, catechu-tannic acid 25-35%, epicatechin, dicatechin และสารอื่น ๆ เนื่องจากมีแทนนินในปริมาณสูง จึงมีฤทธิ์ฝาดสมาน ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย [6]
สารสกัดน้ำความเข้มข้น 20% สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารและฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งค่อนข้างแรง แต่ไม่มีพิษต่อต่อมน้ำลายและเซลล์ลูกอัณฑะ[8]
สาร d-catechin ในสีเสียดช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น และช่วยปกป้องตับจากสารพิษ ดังนั้นจึงสามารถใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังหรือผู้ป่วยที่ตับถูกทำลายจากการได้รับสารพิษ [8]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. สมุนไพรก้าวใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ที.พี. พริ้น จำกัด, 2537.
Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xi-an: World Library Publishing House, 2002.
Mei XH. Shiyong Zhongyao Paozhi Zhinan. 1st ed. Hubei: Hubei Science & Technology Publishing House, 2005.
กันทิมา สิทธิธัญกิจ, พรทิพย์ เติมวิเศษ (คณะบรรณาธิการ). คู่มือประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2547.
กองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรพื้นบ้านฉบับรวม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : Text and Journal Corperation Co., Ltd., 2533.
Wang DP, Guo ZK. Catechu: er cha. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2553