ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 1283
Small_font Large_font

โกฐเชียง : Danggui (当归)

คำจำกัดความ

โกฐเชียง หรือ ตังกุย คือ รากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Angelica sinensis (Oliv.) Diels วงศ์ Umbelliferae [1]

ชื่อภาษาไทย

โกฐเชียง (ภาคกลาง) [2-4]

ชื่อจีน

ตังกุย (จีนกลาง, จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Chinese Angelica [1]

ชื่อเครื่องยา

Radix Angelicae Sinensis [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวรากปลายฤดูใบไม้ร่วง แยกเอารากแขนงและดินออก ทำให้แห้งหมาด ๆ มัดเป็นมัดเล็ก ๆ วางไว้บนชั้น แล้วรมควันให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 7 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ตังกุย (ทั้งราก หรือ ทุกส่วน) เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม ฝานเป็นแผ่นบาง ๆ และนำไปทำให้แห้งโดยใช้อุณหภูมิต่ำ [1, 5]
วิธีที่ 2 ตังกุยโถว (ส่วนหัว หรือ ส่วนเหง้าอวบสั้นที่อยู่ตอนบนสุด) เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพร ที่ได้ มาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม แล้วตัดเอาเฉพาะส่วนหัวมาฝานเป็นแผ่นบาง ๆ ประมาณ 4-6 แผ่น ต่อหัว (หรืออาจฝานตามยาวเป็นแผ่นบาง ๆ) นำไปทำให้แห้งโดยใช้อุณหภูมิต่ำ [5]
วิธีที่ 3 ตังกุยเซิน หรืออาจเรียกว่า ตังกุย (ส่วนรากแก้วหลัก) เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพร ที่ได้ มาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม ปอกเอาเปลือกรากทิ้ง เอาเฉพาะส่วนรากแก้วหลัก นำมาฝานเป็นแผ่นบาง ๆ นำไปทำให้แห้งโดยใช้อุณหภูมิต่ำ [5]
วิธีที่ 4 โกฐเชียง หรือ ตังกุยเหว่ย (ส่วนหาง หรือ ส่วนรากฝอย) เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม แยกเอาเฉพาะส่วนรากฝอย ฝานเป็นแผ่น และนำไปทำให้แห้งโดยใช้อุณหภูมิต่ำ [5]
วิธีที่ 5 ตังกุยผัดเหล้า เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 3 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมเหล้าเหลืองปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนกระทั่งเหล้าแทรกซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยามีสีเหลืองเข้ม นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้เหล้าเหลือง 10 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [5]
วิธีที่ 6 ตังกุยผัดดิน (เป็นดินที่อยู่ในเตาเผาไฟเป็นระยะเวลานานมาก มักมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน คนจีนเรียกดินชนิดนี้ว่า ฝูหลงกาน) เตรียมโดยนำดินใส่ในภาชนะที่เหมาะสม ผัดจนกระทั่งดินร้อน ใส่ตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 3 ลงไป ผัดจนกระทั่งดินเกาะติดตัวยาจนทั่ว นำออกจากเตา ร่อนเอาดินออก นำตัวยาที่ได้ไปวางแผ่ออก ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น (ใช้ดินฝูหลงกาน 30 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [5]
วิธีที่ 7 ตังกุยถ่าน เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 3 ใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีดำจาง ๆ นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม [5]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ผิวนอกต้องมีสีน้ำตาลเหลือง ชุ่มชื้นเป็นมัน ด้านหน้าตัดสีขาวอมเหลือง และมีกลิ่นหอมกรุ่น [6]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ตังกุย มีรสเผ็ดอมหวาน อุ่น มีฤทธิ์บำรุงเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียน รักษาโรคที่เลือดในระบบหัวใจและตับพร่อง (มีอาการหน้าซีดเหลือง วิงเวียน ใจสั่น) การไหลเวียนของเลือดติดขัด (มีอาการประจำเดือนไม่ปกติ ปวดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มา) เลือดพร่องต่าง ๆ เช่น การไหลเวียนของเลือดติดขัดและมีความเย็นจับ (มีอาการเลือดคั่ง ฟกช้ำ ช้ำใน ปวดไขข้อ ไขข้ออักเสบ) ให้ความชุ่มชื้นกับลำไส้ (ลำไส้แห้ง ร้อน ท้องผูก) และมีฤทธิ์ระงับปวด รักษาโรคแผลฝีหนอง ลดอาการบวม แก้ปวด เป็นต้น [7]
นอกจากนี้แพทย์แผนจีนนิยมใช้ในตำรับยาเกี่ยวกับโรคทางนรีเวช เช่น ใช้เป็นยาขับระดู แก้รกตีขึ้น ขับรกและแก้ไข้ในเรือนไฟ ยาเกี่ยวกับอาการเลือดออกทุกชนิด แก้หวัด แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด [4]
ตังกุยโถว มีสรรพคุณบำรุงเลือด [4]
โกฐเชียง หรือ ตังกุยเหว่ย มีสรรพคุณช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไม่ติดขัด [4]
ตังกุยผัดเหล้า จะช่วยเพิ่มฤทธิ์การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเลือดพร่อง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก สตรีประจำเดือนไม่ปกติ โรคปวดไขข้อ และไขข้ออักเสบ [7]
ตังกุยผัดดิน (ดินฝูหลงกาน) จะช่วยให้ตัวยาเข้าสู่ม้ามได้ดีขึ้นโดยมีฤทธิ์บำรุงเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเลือดพร่องถ่ายเหลว ปวดท้อง [5]
ตังกุยถ่าน มีฤทธิ์ห้ามเลือดและบำรุงเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตกเลือดจากมดลูก และสตรีประจำเดือนมามากผิดปกติ [5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

โกฐเชียง (ส่วนรากฝอย) มีกลิ่นหอม รสหวานขม สรรพคุณแก้ไข้ แก้สะอึก แก้ไอ แก้เสียดแทงสองราวข้าง [8]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร หรือผู้ที่ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องเสียบ่อย ร้อนใน อาเจียนเป็นเลือด ไม่ควรรับประทาน [9]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดและการปล่อยสาร serotonin ในหนูขาว10 เมื่อฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลอดเลือดดำสุนัขในขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้และมดลูก เมื่อฉีดสารสกัดน้ำและสารสกัดแอลกอฮอล์เข้าหลอดเลือดดำแมว หนูขาว และกระต่าย พบว่ามีฤทธิ์เพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก นอกจากนี้ยังพบว่าสาร polysaccharides มีฤทธิ์ในการสร้างเม็ดเลือด11
  2. เมื่อให้สารสกัดน้ำครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 1 สัปดาห์ จะลดอาการปวดประจำเดือน และช่วยขับประจำเดือน จึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาป้องกันเลือดแข็งตัว สารสกัดน้ำยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกและลดความหนืดของเลือดในสตรี และเมื่อฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลอดเลือดดำผู้ป่วยจำนวน 40 ราย ในขนาด 240 มิลลิลิตร/คน/วัน ติดต่อกันนาน 30 วัน ไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ11
  3. มีรายงานการวิจัยพบว่า โกฐเชียงช่วยยับยั้งการเจริญของเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ และรักษาโรคหอบหืด9
  4. เมื่อฉีดสารสกัดเข้าหลอดเลือดดำหนูถีบจักร ขนาดสารสกัดเทียบเท่าผงยาที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 100.6 กรัม/กิโลกรัม12

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  4. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
  5. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  6. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  7. Ye DJ, Zhang SC, Huang WL, Pan SH, Gong QF, Chen Q. Processing of traditional Chinese medicine. 7th ed. Shanghai: Publishing House of Shanghai College of Traditional Chinese Medicine, 2001.
  8. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
  9. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด. มหัศจรรย์สมุนไพรจีน. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด มหาชน, 2550.
  10. Tang W, Eisenbrand G. Chinese drugs of plant origin. 1st ed. Berlin Heidelberg: Springer-Verlag, 1992.
  11. World Health Organization. WHO monographs on selected medicinal plants. Vol.2. Geneva: World Health Organization, 2002.
  12. Ru K, Jiang JM. Siwu tang. In: Xia M (ed.). Modern study of the medical formulae in traditional Chinese medicine. Vol.1. 1st ed. Beijing: Xue Yuan Press, 1997.


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย