ค้นหายาสมุนไพร
กิ่งอบเชยจีน : Guizhi (桂枝)
กิ่งอบเชยจีน หรือ กุ้ยจือ คือ กิ่งอ่อนแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum cassia Presl วงศ์ Lauraceae [1]
กิ่งอบเชยจีน [2]
กุ้ยจือ (จีนกลาง), กุ้ยกี (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Cassia Twig [1]
Ramulus Cinnamomi [1]
เก็บเกี่ยวกิ่งอ่อนในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แยกเอาใบออก ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในสถานที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้วิธีที่ 1 กิ่งอบเชยจีน เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาล้างด้วยน้ำสะอาด แช่น้ำสักครู่เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นแว่นหนา ๆ และนำไปทำให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง [1, 3]วิธีที่ 2 กิ่งอบเชยจีนผัดน้ำผึ้ง เตรียมโดยนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์มาเจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาณที่เหมาะสม ใส่ตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 แล้วคลุกให้เข้ากัน หมักไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าในตัวยา จากนั้นนำไปผัดในกระทะโดยใช้ระดับไฟปานกลาง ผัดจนกระทั่งมีสีเหลืองเข้มและไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น (ใช้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ 15 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี หน้าตัดมีสีขาวอมเหลือง แข็ง เหนียว และเปราะ [4]
กิ่งอบเชยจีน รสเผ็ดอมหวาน อุ่น มีฤทธิ์ขับเหงื่อ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้ความอบอุ่น ช่วยให้เลือดหมุนเวียน เสริมหยาง ปรับชี่ สรรพคุณแก้หวัดจากการกระทบความเย็น แก้ปวดจากการกระทบความเย็น เลือดคั่ง ขับเสมหะ ความชื้นและของเหลวตกค้าง แก้ใจสั่น หัวใจอ่อน [1]กิ่งอบเชยจีนผัดน้ำผึ้ง รสเผ็ดจะลดลง มีฤทธิ์บำรุงและให้ความอบอุ่นแก่ส่วนกลางของร่างกาย (ตั้งแต่สะดือขึ้นไปถึงลิ้นปี่ ได้แก่ กระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี และม้าม) และมีฤทธิ์สลายความเย็น ระงับปวด ใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอดแล้วร่างกายอ่อนแอ [3]
การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
การแพทย์แผนจีน ระมัดระวังในการใช้ในผู้ป่วยที่ร้อนในมาก ตกเลือดง่าย [1]
สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ลดไข้และระบายความร้อนอย่างอ่อน ๆ ในหนูถีบจักรและกระต่าย เมื่อใช้ร่วมกับหมาหวงจะเพิ่มฤทธิ์ขับเหงื่อของหมาหวงให้แรงขึ้นในหนูขาว สารสกัดขนาดเทียบเท่าผงยา 0.01-0.2 กรัม มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดในหลอดทดลอง สารสกัดน้ำยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสบางชนิด [5]
โดยทั่วไปกิ่งอบเชยจีนมักไม่ใช้เดี่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนประกอบในตำรับยาต่าง ๆ เช่น ยารักษาอาการไข้หวัดจากการกระทบลมเย็นภายนอก โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็ก อาการหอบเนื่องจากหลอดลมอักเสบ เป็นต้น [6]
การศึกษาพิษเฉียบพลันโดยฉีดสารสกัดน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าขนาดของสารสกัดที่ทำให้หนูถีบจักรตายหมด ตายร้อยละ 50 (LD50) และไม่มีตัวใดตาย เมื่อให้สารสกัดในเวลากลางวัน มีค่าเท่ากับ 1,400, 624.7 และ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ แต่เมื่อให้สารสกัดในเวลากลางคืนมีค่าเท่ากับ 1,600, 773.6 และ 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาของวันมีผลต่อการออกฤทธิ์ของสารสกัด [6]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
Bensky D, Gamble A. Chinese herbal medicine: Materia medica. Revised edition. Washington: Eastland Press, 1993.
Ma JK. Ramulus Cinnamomi: gui zhi. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2553