ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 636
Small_font Large_font

อบเชยจีน : Rougui (肉桂)

คำจำกัดความ

อบเชยจีน หรือ โร่วกุ้ย คือ เปลือกต้นของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum cassia Presl วงศ์ Lauraceae [1]

ชื่อภาษาไทย

อบเชยจีน [2,3]

ชื่อจีน

โร่วกุ้ย (จีนกลาง), เหน็กกุ่ย (จีนแต้จิ๋ว)[1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Cassia Bark [1]

ชื่อเครื่องยา

Cortex Cinnamomi [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวเปลือกต้นในฤดูใบไม้ร่วง ทำให้แห้งในที่ร่ม เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

นำวัตถุดิบสมุนไพรมาขูดผิวส่วนที่ขรุขระออก แล้วหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ หรือทุบให้แตกก่อนใช้ [1, 4]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องมีน้ำหนัก ผิวนอกละเอียด เนื้อหนา ด้านหน้าตัดสีม่วงแดงหรือสีแดงเข้ม มีน้ำมันมาก กลิ่นหอมฉุนมาก รสเผ็ดอมหวาน เมื่อเคี้ยวจะมีกากน้อย [5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

อบเชยจีน รสเผ็ดอมหวาน ร้อน มีฤทธิ์เสริมหยาง บำรุงธาตุไฟในระบบไต แก้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว มดลูกเย็น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หลั่งเร็ว กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และมีฤทธิ์กระจายความเย็น ระงับปวด รักษาอาการหยางของม้ามและไตพร่อง (ปวดท้องน้อย คลื่นไส้อาเจียน มือเท้าเย็น อุจจาระเหลว) รวมทั้งมีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นและทะลวงจิงลั่ว ทำให้ระบบหมุนเวียนทั้งเลือดและชี่หมุนเวียนดี
กระจายความเย็น ระงับปวด ชาเนื่องจากความเย็น แก้ประจำเดือนไม่มาเนื่องจากภาวะพร่อง เย็น ทำให้
การหมุนเวียนของเลือดติดขัด ปวดประจำเดือน เป็นต้น [1, 3]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

อบเชยจีน รสเผ็ด หวาน สรรพคุณแก้ลมอัณฑพฤกษ์ ปลุกธาตุอันดับให้เจริญ แก้ไข้สันนิบาต แก้อ่อนเพลีย ขับผายลม[6]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 1-4.5 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อควรระวัง

ควรระมัดระวังในการใช้ในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเลือดออกง่าย1 ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นไข้โดยไม่รู้สาเหตุ หรือในสตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งผู้ป่วยที่แพ้อบเชยจีน7 ในทางการแพทย์แผนจีนไม่ใช้อบเชยจีนร่วมกับชื่อสือจือ เพราะจะถูกล้างฤทธิ์ได้ [1]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สารสกัดน้ำขนาดเทียบเท่าผงยา 20 กรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์ลดไข้ บรรเทาอาการปวดในหนูถีบจักร และสาร cinnamic acid ที่แยกได้จากเปลือกต้นอบเชยจีน แสดงฤทธิ์ระงับปวดในหนูทดลอง และแสดงฤทธิ์ลดไข้ในกระต่าย [8]
  2. เมื่อให้กระต่ายรับประทานผงอบเชยจีนขนาด 1.2 กรัม/กิโลกรัม ติดต่อกันนาน 6 วัน พบว่ามีฤทธิ์ช่วยให้อาการขาดออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น และสารสกัดสามารถเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจในหนูตะเภา นอกจากนี้เมื่อให้หนูขาวรับประทานสารสกัดน้ำขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัม/กิโลกรัม หรือสารสกัดอีเทอร์ (น้ำมันหอมระเหย) ขนาด 0.8 มิลลิลิตร/กิโลกรัม วันละครั้ง ติดต่อกันนาน 5 วัน พบว่าสามารถต้านการแข็งตัวของเลือดได้ [8]
  3. สารสกัดน้ำยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสบางชนิดในหลอดทดลอง [3]
  4. การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร โดยฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลอดเลือดดำ และให้โดยวิธีรับประทาน พบว่าขนาดของสารสกัดน้ำเทียบเท่าผงยาที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 18.48 และ 120 กรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ และเมื่อให้สาร cinnamic acid แก่หนูถีบจักรโดยวิธีรับประทาน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และ ฉีดเข้าช่องท้อง พบว่าขนาดของสารดังกล่าวที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 225, 132 และ 610 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ [8]
  5. การทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเปลือกอบเชยจีนด้วย 70% แอลกอฮอล์ ให้หนูขาวในขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน [9] และขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายมีค่ามากกว่า 2 กรัม/กิโลกรัม เมื่อป้อนสารสกัดยาตำรับด้วยน้ำให้หนูถีบจักรหรือหนูขาว ขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งคือ 15กรัม/กิโลกรัม [10] เมื่อป้อนยาตำรับให้กระต่ายในขนาด 0.8 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษ[11] เมื่อฉีดสารสกัดเปลือกอบเชยจีนด้วยแอลกอฮอล์เข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งคือ 1 กรัม/กิโลกรัม [12] และการฉีดยาตำรับเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งคือ 23.6 กรัม/กิโลกรัม [13]
  6. มีรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกในประเทศจีนว่า เมื่อให้ผู้ป่วยโรคบิดชนิดเฉียบพลัน จำนวน 110 คน รับประทานยาแคปซูลอบเชยจีน 1.2-1.5 กรัม ติดต่อกัน 2 ครั้ง โดยให้ห่างกันครั้งละ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้รับประทานอีก 1.2-1.5 กรัม ติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยให้ห่างกันครั้งละ 2 ชั่วโมง พบว่า ยาแคปซูลอบเชยจีนสามารถรักษาโรคบิดชนิดเฉียบพลันได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม8

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  3. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
  4. Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xi-an: World Library Publishing House, 2002.
  5. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  6. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
  7. World Health Organization. WHO monographs on selected medicinal plants. Volume 1. Geneva: World Health Organization, 1999.
  8. Qu SY. Cortex Cinnamomi: rou gui. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
  9. Yamasaki K, Hokoyama H, Nunoura Y, Umezawa C, Yoneda K. Studies on effect of crude drugs on enzyme activities. 1. Influence of cinnamon bark upon protein digestive action by pancreatin. Shoyakugaku Zasshi 1982; 36:11-6.
  10. Aburada M, Takeda S, Ito E, Nakamura M, Hosoya E. Protective effects of juzentaihoto, dried decoction of 10 Chinese herbs mixture, upon the adverse effects of mitomycin C in mice. J Pharmacobio Dyn 1983; 6(12): 1000-4.
  11. Akhtar MS. Hypoglycaemic activities of some indigenous medicinal plants traditionally used as antidiabetic drugs. J Pak Med Ass 1992; 42(11): 271-7.
  12. Woo WS, Lee EB, Han BH. Biological evaluation of Korean medicinal plants. III. Arch Pharm Res 1979; 2: 127-31.
  13. Shin KH, Lee EB, Chung MS, Kim OJ, Yoon KY. The acute and subacute toxicities and pharmacological actions of Gami Ssanghwa Tang preparations. Korean J Pharmacog 1990; 21(2): 179-85.


24 มิถุนายน 2553 29 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย