ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 803
Small_font Large_font

เฉาก๊วย : Caoguo (草果)

คำจำกัดความ

เฉาก๊วย หรือ เฉ่ากั่ว คือ ผลสุกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum tsaoko Crevost et Lemaire วงศ์ Zingiberaceae [1]

ชื่อภาษาไทย

เฉาก๊วย

ชื่อจีน

เฉ่ากั่ว (จีนกลาง), เฉาก้วย (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Caoguo [1]

ชื่อเครื่องยา

Fructus Tsaoko [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวผลสุกในฤดูใบไม้ร่วง คัดแยกสิ่งปะปนทิ้ง ตากแดดหรือทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 เฉาก๊วย เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรมาผัดในภาชนะที่เหมาะสมโดยใช้ไฟแรง ผัดจนกระทั่งผิวนอกมีสีเหลืองไหม้และพองตัว นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น กะเทาะเอาเปลือกออก ใช้เฉพาะส่วนเนื้อใน ทุบให้แตกก่อนใช้ [2, 3]
วิธีที่ 2 เฉาก๊วยผัดน้ำขิง เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมน้ำคั้นขิงสด ตั้งทิ้งไว้ให้น้ำขิงสดแทรกซึมเข้าเนื้อในตัวยา นำไปผัดโดยใช้ระดับไฟปานกลาง ผัดจนกระทั่งมีสีเหลืองอมน้ำตาล นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ทุบให้แตกก่อนใช้ (ใช้ขิงสด 10 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [2, 3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ผลต้องมีขนาดใหญ่ เนื้อมาก สีน้ำตาลแดง กลิ่นหอมฉุน [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

เฉาก๊วย รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์สลายความชื้น ขับความเย็น แก้ความเย็นกระทบกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ปวด จุกเสียด แน่นท้อง อาเจียน ท้องเสีย มีฤทธิ์ขับเสมหะ (ขับความเย็น สลายความชื้น) และแก้ไข้มาลาเรีย [1]
เฉาก๊วยผัดน้ำขิง จะเพิ่มฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหารและระงับอาเจียน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง อาเจียน [3]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-6 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. มีรายงานว่าผลเฉาก๊วยมีฤทธิ์ช่วยให้ลำไส้เล็กท่อนต้นแข็งแรง และช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร รวมทั้งมีฤทธิ์บรรเทาอาการไอด้วย สารสกัดน้ำช่วยบรรเทาอาการหดตัวอย่างแรงของกล้ามเนื้อลำไส้เล็กท่อนปลายที่เกิดจากสาร acetylcholine [5]
  2. น้ำมันหอมระเหยจากผลเฉาก๊วยมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา โดยมีค่า MIC และ MFC ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้น้ำมันดังกล่าวยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วย [5]
  3. การทดลองทางคลินิก พบว่าผลเฉาก๊วยเมื่อใช้เดี่ยวหรือใช้ผสมกับตัวยาอื่นในตำรับมีสรรพคุณต้านเชื้อมาลาเรีย บรรเทาอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด คลื่นไส้อาเจียนในสตรีมีครรภ์ แก้ท้องเสีย ภาวะไตล้มเหลวชนิดเรื้อรัง และตับอักเสบ [5]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.1. English Edition. Beijing: Chemical Industry Press, 2000.
  2. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  3. Lei GL, Dun BS. Zhongyao Paozhi Jishu Zhinan. 1st ed. Xi-an: World Library Publishing House, 2002.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. Deng JG, Wei SJ. Genuine and well-reputed medicinal materials in Guangxi. 1st ed. Beijing: Zhongguo Zhongyi Yao Publishing House, 2007.


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย