อ่าน: 398
Small_font Large_font

Ramipril (รามิพริล )

คำอธิบายพอสังเขป

รามิพริล (ramipril) จัดเป็นยาในกลุ่มต้านความดันเลือดสูง กลุ่มสารยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างสารชื่อแอนจิโอเทนซิน (angiotension converting enzyme inhibitors) หรืออาจเรียกย่อเป็นยากลุ่มเอซ๊อีไอ (ACEIs) แอนจิโอเทนซินเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว เมื่อยายับยั้งแอนจิโอเทนซินจึงมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและทำให้เลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น

ยานี้ ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือร่วมกับยาตัวอื่น, ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้ม (heart attack), ผู้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายหรือมีภาวะหัวใจห้องล่างขวาทำหน้าที่ผิดปรกติ, ใช้ปรับการทำงานของหัวใจหลังจากภาวะหัวใจล้ม (heart attack), ภาวะหัวใจล้มเหลวเหตุเลือดคั่ง (congestive heart failure), ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด, ใช้รักษาหรือป้องกันการเสื่อมของไตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีภาวะเบาหวานร่วมด้วย

ยานี้ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาโรคความดันเลือดสูงให้หายขาด เพียงแต่ช่วยควบคุมความดันเลือดไว้ โดยต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารเค็ม การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนักในรายที่น้ำหนักเกิน

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยารามิพริล (ramipril) หริอ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

ตัวอย่างอาการแพ้ยา เช่น มีอาการ ผื่น, คัน, ผื่นแพ้, ผื่นแดง, ลมพิษ, บวมกดไม่บุ๋ม (angioedema), ตุ่มพอง, ผิวลอก, หายใจลำบาก, แน่นหน้าอก, หายใจมีเสียงหวีด (wheezin), ไอ, หน้าบวม, ลิ้นบวม, มือบวม, ปากและภายในลำคอบวมหรือรู้สึกซ่า, หลอดเลือดอักเสบ, กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ซึ่งจะมีภาวะเป็นตุ่มพองตามผิวหนังและเยื่อบุเช่นตา ปาก คัน อ่อนเพลีย ปวดข้อ และมีไข้, การตายแยกสลายของหนังกำพร้าเหตุพิษ (toxic epidermal necrosis)

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น อีฟีดา (ephedra), ชะเอม, ฮอว์ทอร์น (hawthron), โสม, ขิง, โยฮิมบีน (yohimbe)
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และสารเสพติด เนื่องจากอาจมีผลต่อการทำงานของยานี้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

สตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ยานี้ โดยเฉพาะหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ควรเปลี่ยนไปใช้ยาลดความดันเลือดตัวอื่นที่มีความปลอดภัยระหว่างการตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ควรคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยานี้ ในช่วง 3 เดือนแรก
จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์
ในช่วงหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ข้อมูลในมนุษย์พบว่ายามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นควรหยุดยานี้ทันทีเมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์และรีบไปปรึกษาแพทย์
การพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ในช่วงสามเดือนแรกอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะ ระบบหัวใจ และระบบประสาทได้

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

จากการศึกษาพบว่าการใช้ยากลุ่มนี้ในช่วงนี้จะมีผลทำให้มีน้ำคร่ำน้อยส่งผลต่อระบบไตของทารก ส่งผลให้โครงสร้างผิดปกติ การเจริญของปอดบกพร่อง ทำให้เกิดการตายของทารกในครรภ์ได้

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

จากการศึกษาพบว่าการใช้ยากลุ่มนี้ในช่วงนี้จะมีผลทำให้มีน้ำคร่ำน้อยส่งผลต่อระบบไตของทารก ส่งผลให้โครงสร้างผิดปกติ การเจริญของปอดบกพร่อง ทำให้เกิดการตายของทารกในครรภ์ได้

กำลังให้นมบุตร

สตรีให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ เพราะยานี้สามารถผ่านทางน้ำนมได้ แม้ว่ายังไม่มีรายงานความผิดปกติของทารกที่ได้รับนมแม่ที่รับประทานยานี้

เด็ก

ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยานี้เมื่อใช้ในเด็ก

ไม่ควรใช้ในเด็กทารกหรือเด็กที่มีปัญหาโรคไต

ผู้สูงอายุ

  • การใช้ยานี้ในผู้สูงอายุควรเริ่มในขนาดที่ต่ำ
  • ไม่ควรลุกขึ้นยืนหรือลุกนั่งจากท่านอนเร็วเกินไปโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการวิงเวียนหรือหมดสติ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ระมัดระวังการใช้รามิพริล (ramipril) ร่วมกับยาต่อไปนี้

  • สารเสริมโพแทสเซียม, เกลือที่มีโพแทสเซียม, ยาอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มโพแทสเซียมในร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะที่เก็บโพแทสเซียมเข้าร่างกาย ได้แก่ สไพโรโนแลกโทน (spironolactone), อะมิโลไรด์ (amiloride)
  • ลิเทียม (lithium) เนื่องจากจะทำให้เกิดพิษของลิเทียมขึ้นได้
  • กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดภูมิต้านทานของร่างกาย เช่น แอซาไทโอพรีน (azathioprine), เมอร์แคปโทพิวรีน (mercaptopurine), ไซโคลสพอริน (cyclosporin)
  • ยาลดความดันเลือดกลุ่มอื่น เช่น ไนโตรกลิเซอริน (nitroglycerin)
  • ยารักษาหวัด ไอ ไข้ หรือ ยาลดน้ำหนัก เนื่องจากอาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น
  • ยาขับปัสสาวะ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (hydrochlorothiazide), ฟรูโรซีไมด์ (fruosemide)
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), แอสไพริน (aspirin), อินโดเมทาซิน (indomethacin), เพียร็อกซิแคม (piroxicam), เซเลโคสิป (celecoxib) เนื่องจากจะไปเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติต่อไต
  • ไม่ควรใช้ยาลดกรดในช่วง 2 ชั่วโมงของการได้รับยานี้
  • ยาอื่น ๆ เช่น ไทรเมโทพริม (trimethoprim), อัลโลพูรินอล (allopurinol), ริทูซิแม็บ (rituximab)

ค. ยังมียาหลายชนิดที่ไม่ควรใช้ร่วมกับรามิพริล ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีการอุดกั้นของหลอดเลือดแดงที่ไต (renal artery occlusion)
  • ระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะหรือโรคต่อไปนี้:
ปริมาตรเลือดน้อย, ภาวะขาดน้ำ – ภาวะไตบกพร่อง – ผู้ที่ฟอกไต – ภาวะตับวายหรือเป็นโรคตับ – การหดแคบของเอออร์ตาหรือท่อเลือดแดง (aortic stenosis) – ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือแกรนูโลไซต์ (granulocyte) น้อย – ปัญหาเกี่ยวกับไขกระดูก – ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไต – มีประวัติบวมแบบแองจิโอเอดิมา (angioedema) จากการได้รับยาอื่น – ภาวะเลือดมีโพแทสเซียมมากหรือได้รับเกลือโพแทสเซียม – มีการขาดน้ำ หรือ มีปริมาตรเลือดน้อย

การใช้ที่ถูกต้อง

  • รับประทานยาได้ทั้งก่อนอาหาร หลังอาหาร และพร้อมอาหาร แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการรับประทานยาตอนท้องว่าง 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หากรู้สึกไม่สบายท้องให้รับประทานหลังอาหาร
  • รับประทานยาโดยกลืนพร้อมน้ำ หากไม่สามารถกลืนแคปซูลได้สามารถเปิดเม็ดยาและเทใส่น้ำเพื่อรับประทานได้
  • รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวันเป็นประจำ
  • ไม่ควรใช้ยาลดกรดในช่วง 2 ชั่วโมงของการได้รับยา
  • ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเมื่อใชยานี้เนื่องจากจะช่วยทำให้ไตทำงานดีขึ้นและป้องกันปัญญาที่เกิดกับไต

ขนาดยา

ขนาดยาของยารามิพริล (ramipril) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับสภาวะโรคของท่าน**ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด**

เมื่อลืมใช้ยา

ให้รับประทานทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในภาชนะปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้องไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส อย่าเก็บในที่ร้อน
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและมือเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่ได้รับมา และหากมียาเหลือหลังจากแพทย์สั่งให้หยุดใช้ ควรส่งคืนยาแก่เภสัชกร
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการทิ้งยานี้
  • แคปซูลที่ถูกแกะและผสมในน้ำควรใช้ให้หมดทันที หรืออาจเก็บใว้ใช้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็นควรใช้ให้หมดภายใน 48 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง

  • ถ้าท่านต้องผ่าตัด ได้รับยาชาหรือยาสลบต้องแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าท่านกำลังใช้ยานี้อยู่
  • ยาอาจทำให้รู้สึกวิงเวียนหรือเวียนศีรษะ ไม่ควรขับขี่ยวดยานหรือทำงานกับเครื่องจักรที่อันตราย และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรหยุดยาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน แม้ว่าจะรู้สึกสบายดีก็ตาม เพราะความดันเลือดสูงมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ และจะมีผลต่อการทำงานของหัวใจและไต และควรไปพบแพทย์เป็นประจำ
  • ยานี้จะมีผลทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดนาน ๆ ให้ใช้ครีมกันแดดและสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเมื่อออกนอกบ้าน
  • ระมัดระวังการออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป ซึ่งอาจทำให้เสียเหงื่อมาก ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ใช้ยานี้ควรมีการคุมกำเนิดเป็นอย่างดี เนื่องจากยานี้มีผลต่อทารกในครรภ์ได้ และหากมีการวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางในการปฎิบัติตัว
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคตับ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการบวม ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการบวบบริเวณหน้า แขน ขา เท้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือภายในลำคอ
  • ยานี้อาจมีผลลดระดับเชลล์เม็ดเลือดบางชนิด ดังนั้นควรระวังการเกิดการติดเชื้อหรือเลือดออกได้ง่าย รักษาความสะอาดอยู่สม่ำเสมอ และอยู่ห่างจากผู้ป่วยโรคติดเชื้อ
  • ในการรับประทานยาครั้งแรกควรระมัดระวังและสังเกตอาการของตนเองอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อมั่นใจว่าไม่เกิดผลไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการได้รับยานี้

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก.อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบ เช่น

  • อาการแพ้ยา
  • เวียนศีรษะรุนแรงคล้ายจะหมดสติ, หมดสติ, โรคลมเหตุหลอดเลือดสมอง (stroke), ความคิดสับสน, หย่อนสมรรถภาพทางเพศ, ซึมเศร้า, รู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia), ภาวะเสียความจำ, มีอาการชัก
  • เจ็บอก, ปวดเค้นหัวใจ, หัวใจเต้นเร็วและแรง, หายใจลำบาก, หัวใจล้ม (heart attack), หลอดลมหดเกร็ง, ใจสั่น, กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (myocardial infarction), ความดันเลือดต่ำรุนแรง
  • ปวดท้องรุนแรง, ตับอักเสบ, ตับวาย, ดีซ่าน, ระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้น, ตับอ่อนอักเสบ, ตัวเหลืองตาเหลือง, คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง
  • มีอาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับไต, การทำงานของไตลดลง, ไตวาย, พบโปรตีนในปัสสาวะ, ปัสสาวะสีเข้ม, มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณและจำนวนครั้งของการปัสสาวะ
  • เลือดผิดปกติ เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดน้อย, เวลาเลือดออกนานขึ้น, เลือดจาง, ภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด, มีภาวะภูมิต้านตนเอง, กดการทำงานของไขกระดูก, ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
  • ขาหรือข้อเท้าบวม
  • อาการแสดงของภาวะที่เลือดมีโพแทสเซียมมากเกิน เช่น ความคิดสับสน, ใจเต้นไม่สม่ำเสมอ, รู้สึกชาหรือเป็นเหน็บตามมือ เท้า ริมฝีปาก, หายใจลำบาก, แขนขาหนัก, อ่อนแรง, ตะคริวที่ท้อง, ตะคริวกล้ามเนื้อ
  • เป็นพิษต่อหู เสียการได้ยิน

ข. อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องร่วง, ท้องผูก, อ่อนแรง, ล้า, ไอแห้ง, เวียนศีรษะ, วิตกกังวล, รู้สึกไม่สงบ, รู้สึกสั่น, การหลับผิดปกติ, ง่วงซึม, ปวดตามตัวและข้อต่อ, ปากแห้ง, น้ำลายไหลมาก, รับรู้รสบกพร่อง, ปวดศีรษะ, เหนื่อย, ตาพร่า, มีเสียงในหู, ปวดท้อง, ไม่สบายท้อง, ไข้, หนาวสั่น, เจ็บคอ, ความดันเลือดตกขณะเปลี่ยนท่า, รู้สึกหมุน, เลือดมีโพแทสเซียมมากเกิน, กรดยูริคในเลือดสูง, น้ำตาลในเลือดสูง, ผิวหนังไวต่อแสง, โรคเพมฟิกัส (phemigus), เต้านมโตในผู้ชาย, เล็บหลุด, แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่อง ให้ไปพบแพทย์ทันที

ค. หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ความดันเลือดสูงเกิดจากการที่หลอดเลือดตีบขึ้น ส่งผลให้เลือดไหลผ่านได้ยากขึ้น ซึ่งปกติเราจะไม่ทราบถึงค่าความดันเลือดที่สูงดังนั้นจำเป็นที่จะต้องตรวจเป็นประจำ การปล่อยให้มีความดันเลือดที่สูงโดยไม่ได้รับการรักษาสามารถทำให้เกิดการทำลายอวัยวะที่สำคัญ เช่นหัวใจหรือไตได้ และนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disorder), อาการหัวใจล้ม (heart attack), ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure), ภาวะไตวาย, ตาบอด โดยการใช้ยาสามารถควบคุมความดันเลือดสูงได้ซึ่งต้องอาศัยการแนะนำจากแพทย์
  • ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา แพทย์จะแนะนำให้ตรวจวัดระดับความดันเลือดเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการได้รับยาหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนขนาดยา และในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจบางอย่างเพิ่มเช่น ระดับโพแทสเซียม, ครีแอทินินเพื่อดูการทำงานของไต หรือ เอนไซม์ตับเพื่อดูการทำงานของตับ
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับค่าความดันเลือดที่เหมาะสมสำหรับท่านและเมื่อใดที่จะต้องมาพบแพทย์ ถ้าท่านมีเครื่องวัดระดับความดันเลือดด้วยตนเองที่บ้าน ท่านควรบันทึกค่าความดันเลือดที่วัดได้เอง และนำค่าที่บันทึกไว้มาให้แพทย์ดู
  • ควรปรับแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีผลช่วยลดความดันเลือด เช่น ลดความเครียด, ออกกำลังกาย, ลดการรับประทานอาหารที่มีเกลือมาก, ลดน้ำหนัก

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Captopril, Enalapril, Perindopril, Quinapril

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Corpril capsules, Gempril capsules, Mediram tablets, Ramicard capsules, Ramtace tablets, Tritace tablets

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

แรมีพริล, รามีพริล

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 12 May, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 25 March, 2010.
  3. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In; 2009.
  4. MedlinePlus Trusted Health Information for You. ACE inhibitors. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

panupong puttarak
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
13 พฤษภาคม 2553 16 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย