อ่าน: 1044
Small_font Large_font

Probenecid (โพรเบนีซิด )

คำอธิบายพอสังเขป

ยาโพรเบนีซิด (probenecid) เป็นยาในกลุ่มรักษาโรคเกาต์ (gout) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการเก็บกรดยูริก (uric acid) กลับเข้าสู่ร่างกายที่ไต โดยยานี้ออกฤทธ์ตรงตำแหน่งท่อของหน่วยไต (proximal convoluted tubule) ส่งผลให้มีการขับกรดยูริกออกจากร่างกายมากขึ้น ลดระดับของกรดยูริกในเลือด นอกจากนี้อาจมีผลเพิ่มปริมาณยาบางชนิดในเลือดเนื่องจากลดการขับออกของยา

ยานี้แป็นยาที่แนะนำให้ใช้สำหรับป้องกันภาวะกรดยูริกเกินในเลือดที่เกี่ยวกับโรคเกาต์, ป้องกันภาวะข้ออักเสบจากโรคเกาต์, ใช้เพิ่มระยะเวลาการออกฤทธิ์และระดับยาในเลือดของยาฆ่าต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเบต้าแลคแตม (beta-lactam) ได้แก่ เพนิซิลลิน (penicillins), เซฟาโลสปอริน (cephalosporins) เป็นต้น

ยานี้ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ไม่สามารถใช้บรรเทาอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์ได้ แต่สามารถช่วยป้องกันภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia)ได้ ทั้งนี้ยาจะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อรับประทานยาเป็นประจำเป็นเวลาหลายสัปดาห์

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาโพรเบนีซิด (probenecid) หรือยาในกลุ่มซัลฟา เช่น ซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) หรือ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

ตัวอย่างอาการแพ้ยา เช่นผื่น, คัน, ลมพิษ, ผิวหนังอักเสบ, แอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis), เปลือกตาหรือบริเวณรอบดวงตาบวม, หายใจลำบากแน่นหน้าอก, หายใจมีเสียงหวีด (wheezing), หน้าบวม, ลิ้นบวม, มือบวม, ปากและภายในลำคอบวม, กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ซึ่งจะมีภาวะเป็นตุ่มพองตามผิวหนังและเยื่อบุ เช่น ตา ปาก คัน อ่อนเพลีย ปวดข้อ และมีไข้ เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น วิตามินซีในขนาดที่สูง (ascobic acid), ธาตุเหล็ก
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลทำให้มีกรดยูริกในร่างกายสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์, เครื่องในสัตว์, ยอดผักต่าง ๆ เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

  • ยานี้สามารถผ่านรกไปสู่ทารกได้ แต่ไม่มีรายงานการเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อทารก

กำลังให้นมบุตร

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้หากให้นมบุตร

เด็ก

  • มีการศึกษาการใช้ยานี้ในเด็กอายุ 2 – 14 ขวบ โดยให้ร่วมกับยาฆ่าต้านเชื้อซึ่งไม่พบความแตกต่างของการเกิดผลไม่พึงประสงค์เมื่อเทียบกับคนปกติ แต่ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้ในเด็กสำหรับรักษาโรคเกาต์ ทั้งนี้การใช้ยานี้ในเด็กควรระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ

ผู้สูงอายุ

  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ห้ามใช้ยาโพรเบนีซิด (probenecid) ร่วมกับยา คีโทโรแลก (ketorolac)

ระมัดระวังการใช้ยาโพรเบนีซิด (Probenecid) ร่วมกับยาต่อไปนี้

  • กลุ่มยารักษามะเร็งหรือออกฤทธิ์กดภูมิต้านทานของร่างกาย เช่น แอซาไทโอพรีน (azathioprine), เมอร์แคปโทพิวรีน (mercaptopurine), ไซโคลสพอริน (cyclosporin), ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide), ไนโทรฟิวเรนทอยน์ (nitrofurantoin), เมโทเทรกเซต (methotrexate), ไมโคฟีโนเลต (mycophenolate) เนื่องจากจะไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลไม่พึงประสงค์
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), คีโทโพรเฟน (ketoprofen), อินโดเมทาซิน (indomethacin), เพียร็อกซิแคม (piroxicam)
  • ยากลุ่มแอสไพริน (aspirin) หรือ ซาลิไซเลต (salicylates) เนื่องจากจะไปลดประสิทธิภาพของยาโพรเบนีซิด (probenecid)
  • กลุ่มยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เพียราซินาไมด์ (pyrazinamide); แดพโซน (dapsone); ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเบต้าแลคแตม (beta-lactam) ได้แก่ เพนิซิลลิน (penicillins), เซฟาโลสปอริน (cephalosporins), คาร์บาพีเนม (carbapenems);ยาฆ่าเชื้อกลุ่มควิโนโลน (quinolones) เช่น ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin), นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin)
  • กลุ่มยาต้านไวรัส เช่น ไซโดวูดีน (zidovudine), แกนไซโคลเวียร์ (ganciclovir), อะไซโคลเวียร์ (acyclovir)
  • ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (sulphonylurea) เช่น ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide), กลิคลาไซด์ (gliclazide), กลิพิไซด์ (glipizide)
  • กลุ่มยาทีออฟิลลีน (theophylline)
  • ยาอื่น ๆ เช่น ลอแรซีแพม (lorazepam), เฮพาริน (heparin), โซเดียมเบนโซเอต (sodium benzoate)
**ยังมียาหลายชนิที่ไม่ควรใช้ร่วมกับ ยาโพรเบนีซิด (probenecid) ** ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

ห้ามใช้ยานี้ ในผู้ป่วยที่ได้รับยาแอสไพริน (aspirin) ในขนาดที่สูง, ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดบกพร่อง (blood dyscrasias), โรคนิ่วในไตที่เกิดจากกรดยูริก, เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ

  • ระมัดระวังการใช้ยานี้**ในผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่งได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี, ผู้ป่วยโรคเลือด, โรคไต, โรคนิ่วในไต, ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร, สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร, ผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์กลูโคส-6-ฟอสเฟตดีไฮโดรจีเนส [glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD)]

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ควรรับประทานยาหลังอาหารและดื่มน้ำตามมาก ๆ ทั้งนี้อาจรับประทานร่วมกับยาลดกรดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่สบายท้อง
  • รับประทานยาตามขนาดยาที่แพทย์สั่งหรือเภสัชกรแนะนำ ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน
  • ให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อาการยังไม่ดีขึ้นก็ตาม หรือแม้จะรับยารักษาโรคเกาต์ตัวอื่นอยู่ เนื่องจากจะช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิดโรคเกาต์ได้
  • ดื่มน้ำวันละ 10-12 แก้วต่อวัน ในช่วงที่รับประทานยานี้ นอกจากแพทย์จะแจ้งให้ควบคุมการรับประทานน้ำ

ขนาดยา

ขนาดยาของยาโพรเบนีซิด (probenecid) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับสภาวะโรคของท่าน ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

เมื่อลืมใช้ยา

ให้รับประทานทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง อย่าเก็บในที่ร้อน
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและมือเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง รวมถึงไม่ใช้ยาร่วมกับผู้อื่น
  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่ได้รับมา และหากมียาเหลือหลังจากแพทย์สั่งให้หยุดใช้ ควรส่งคืนยาแก่เภสัชกร
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการทิ้งยานี้

ข้อควรระวัง

  • ควรรับประทานน้ำเยอะๆ และให้มีปัสสาวะประมาณ 2 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ยาจะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อรับประทานยาเป็นประจำเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และฤทธิ์ของยาจะอยู่จนกระทั่งหยุดยา
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) ที่ไม่มีอาการแสดงใดๆ
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตรุนแรง หรือมีความสามารถในการขับของเสียต่ำ (creatinine clearance < 30 มิลลิลิตร/นาที)
  • ไม่ใช้ยานี้เพื่อบรรเทาอาการอักเสบจากโรคเกาต์ ควรเริ่มใช้ยานี้หลังจากอาการอักเสบทุเลาลงไปแล้ว
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวของท่าน

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก.อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบ เช่น

  • อาการแพ้ยา
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ, หายใจลำบาก, แน่นหน้าอก, อาการชัก, หายใจมีเสียงหวีด (wheezing)
  • มีนิ่วในไต (nephrolithiasis), มีอาการปวดนิ่วไต, (renal colic), ปัสสาวะลำบาก, มีเลือดปนในปัสสาวะ, ปัสสาวะขุ่น, ปัสสาวะลดลงเฉียบพลัน, กลุ่มอาการเนโฟรติก (nephritic syndrome), ปัสสาวะมีโปรตีน (proteinuria)
  • มีการตายเฉพาะส่วนของตับ (hepatic necrosis), ตัวเหลืองตาเหลือง
  • มีภาวะพร่องเม็ดเลือดทุกชนิด (aplastic anemia), โลหิตจาง, ภาวะเลือดจางจากเม้ดเลือดแดงแตก (haemolytic anemia), มีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง, เลือดออกผิดปกติ, เม็ดเลือดขาวต่ำ, พอร์ฟีเรีย (porphyria), เม็ดเลือดบกพร่อง (blood dyscrasia), เกล็ดเลือดน้อย
  • จอตาบวม (retinal edema)

ข. อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, เบื่ออาหาร, เจ็บเหงือก, ไอ, ไข้, หนาวสั่น, เจ็บคอ, มีอาการเจ็บ เป็นแผลหรือเป็นจุดขาวที่ปากหรือริมฝีปาก, ปัสสาวะบ่อย, ง่วงซึม, ผิวหนังเปลี่ยนสี, ปวดหลังส่วนล่าง, น้ำหนักเพิ่ม, อ่อนเพลีย, รู้สึกเหนื่อย, ปวดข้อ, หน้าแดง, ผมร่วง, กระตุ้นการกำเริบของเกาต์ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่อง ให้ไปพบแพทย์ทันที

ค. หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

โรคเกาต์ (gout) โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการกำจัดกรดยูริก (uric) ในร่างกาย ส่งผลให้มีระดับของกรดยูริคในร่างกายสูง (hyperuricemia) ซึ่งจะทำให้มีการสะสมของเกลือยูริกในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อของมือและเท้า ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรวดเร็ว มีอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่มีการสะสมของยูริกในปริมาณที่สูง ส่งผลให้มีการผิดรูปและเสียหน้าที่การทำงานได้

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Allopurinol, Colchicine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Benacid tablets, Bencid tablets, Benecid tablets

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

โปรเบเนซิด

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 1 June, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 1 June, 2010.
  3. Dyke K.V., Drugs Used in Gout, In Modern pharmacology with clinical application, 6th ed, pp. 244-51. Craig C.R. et al., Lippincott Williams & Wilkins, 2003
  4. Lacy C.F., Armstrong L.L., Goldman M.P., Lance L.L.. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In; 2009.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Probenecid. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

panupong puttarak
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
01 มิถุนายน 2553 16 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย