อ่าน: 2048
Small_font Large_font

Paclitaxel (แพคลิแทกเซล )

คำอธิบายพอสังเขป

แพคลิแทกเซล (paclitaxel) เป็นยากลุ่มแทกเซน (taxanes) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์จากพืช แพคลิแทกเซลสกัดได้จากเปลือกต้น Pacific yew ( Taxus brevifolia )

  • ยาออกฤทธิ์โดยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ โดยจับกับไมโครทูบูล (microtubule) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งตัวของเซลล์ จึงทำให้เซลล์มะเร็งหยุดแบ่งตัว

แพคลิแทกเซลใช้รักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น
  • ใช้ร่วมกับซิสแพลทิน (cisplatin) ในการรักษามะเร็งรังไข่ระยะก้าวหน้า (advanced carcinoma of the ovary)
  • ใช้รักษามะเร็งเต้านมต่อจากการใช้ยาเคมีบำบัดสูตรที่มีดอกโซรูบิซิน (doxorubicin)
  • ใช้รักษามะเร็งเต้านมหลังจากล้มเหลวจากการรักษาด้วยสูตรยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย หรือที่โรคกลับเป็นซ้ำภายในหกเดือนหลังจากรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
  • ใช้ร่วมกับซิสแพลทินในการรักษามะเร็งปอดชนิดนอน-สะมอลเซลล์ (non-small cell lung cancer) ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยการผ่าตัด หรือฉายรังสี
  • ใช้รักษามะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันคาโปซิ ในผู้ป่วยเอดส์ (AIDS-related Kaposi’s sarcoma)

แพคลิแทกเซลอาจใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมี ประวัติการแพ้แพคลิแทกเซล (paclitaxel) หรือ ยาอื่น ๆ ที่มีสารครีโมฟอร์อีแอล (Cremophor® EL) หรือนำมันละหุ่งที่ผ่านกระบวนการโพลีออกซีเอทิเลท (polyoxyethylated castor oil) ซึ่งเป็นส่วนผสมของยานี้ หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ยาเคมีบำบัดมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

โปรดแจ้งแก่แพทย์หากกำลังวางแผนจะมีบุตร เนื่องจากยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตหรือเกิดทารกพิการได้เมื่อให้ยาในหญิงตั้งครรภ์ สตรีวัยเจริญพันธุ์ควรใช้วิธีคุมกำเนิดระหว่างใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

โปรดแจ้งแก่แพทย์หากท่านกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จึงไม่แนะนำให้ทารกได้รับน้ำนมมารดาระหว่างใช้ยานี้

เด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้ยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) ในเด็ก

ผู้สูงอายุ

จำนวนของผู้ป่วยสูงอายุที่ใช้ในการทดสอบยานี้มีจำกัด อย่างไรก็ตามการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยา เช่น การกดไขกระดูก (myelosuppression), โรคเส้นประสาทชนิดรุนแรง ( severe neuropathy), ผลต่อหัวใจ เป็นต้น

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

แอมโฟเทอริซิน บี (amphotericin B) ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid agents) แอซาไทโอพรีน (azathioprine)
คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) คอลชิซีน (colchicine) ฟลูไซโทซีน(flucytosine)
แกนไซโคลเวียร์ (ganciclovir) อินเทอเฟียรอน (interferon) พลิคามัยซิน (plicamycin)
ไซโดวูดีน (zidovudine) อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) แอมิเคซิน (amikacin)
แอมิโนฟิลลิน (aminophylline) แอมพิซิลลิน/ซัลแบคแทม (ampicillin/sulbactam)
บลีโอมัยซิน (bleomycin)
แคลเซียมคลอไรด์ (calcium chloride) เซฟเทซิดีม (ceftazidime) เซฟไทรแอกโซน(ceftriaxone)
คาร์ไบแพลทิน (carboplatin) เซฟโฟทีแทน (cefotetan) คลอร์โพรมาซีน(chlorpromazine)
ไซเมทิดีน (cimetidine) ซิสแพลทิน (cisplatin) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide)
ไซทาราบีน (cytarabine) ดาคาร์บาซีน (dacarbazine) เดกซาเมทาโซน(dexamethasone)
ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) ดอริพีเนม (doripenem) ดอกโซรูบิซิน(doxorubicin)
โดรเพอริดอล (droperidol) อีโทโพไซด์ (etoposide) ฟาโมทิดีน (famotidine)
ฟลูโคนาโซล (fluconazole) ฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) ฟิวโรซีไมด์ (furosemide)
เจนทาไมซิน (gentamicin) กรานิซีทรอน (granisetron) ฮาโลเพอริดอล (haloperidol)
เฮพาริน (heparin) ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ไฮโดรมอร์โฟน (hydromorphone)
ไฮดรอกซิซีน (hydroxyzine) ไอฟอสฟาไมด์ (ifosfamide) ไลนีโซลิด (linezolid)
ลอราซีแพม (lorazepam) แมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulfate) แมนนิทอล(mannitol)
เมเพอริดีน (meperidine) เมสนา (mesna) เมโทเทรกเซต (methotrexate)
เมโทคลอพาไมด์ (metoclopramide) ไมโทแซนโทรน (mitoxantrone) มอร์ฟีน (morphine)
ออนแดนซีทรอน (ondansetron) เพนโทสแททิน (pentostatin) โพแทสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride)
โพรคลอร์เพอราซีน (prochlorperazine) โพรโพฟอล (propofol) รานิทิดีน (ranitidine)
โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) แวนโคมัยซิน (vancomycin) วินบลาสทีน (vinblastine)
วินคริสทีน (vincristine) วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine)
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดตัวเป็น (influenza virus vaccine, live) วัคซีนโรคหัดชนิดตัวเป็น (measles virus vaccine, live)
วัคซีนโรคคางทูมชนิดตัวเป็น (mumps virus vaccine, live) วัคซีนโรคโปลิโอชนิดตัวเป็น (poliovirus vaccine, live)
วัคซีนโรตาไวรัสชนิดตัวเป็น (rotavirus vaccine, live) วัคซีนโรคหัดเยอรมันชนิดตัวเป็น (rubella virus vaccine, live)
วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox vaccine) วัคซีนไทฟอยด์ (typhoid vaccine)
วัคซีนโรคอีสุกอีใส (varicella virus vaccine) วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคอีสุกอีใส อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ภาวะเลือดจาง
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ ยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต
  • โรคหัวใจ
  • โรคเกี่ยวกับเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy)

การใช้ที่ถูกต้อง

ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาฉีด

  • ยานี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์

  • สารละลายยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) ใช้สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำเท่านั้น โดยพยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญในการให้ยาเคมีบำบัด
  • ไม่ควรใช้ถุงน้ำเกลือพลาสติกหรือชุดสายหยดยาเข้าหลอดที่ผลิตจากโพลีไวนิลคลอไรด์ (polyvinyl chloride) หรือ พีวีซี (PVC) เนื่องจากสารก่อพลาสติกที่ชื่อดีอีเอชพี (DEHP ซึ่งมีชื่อเต็มว่า di-(2-ethylhexyl)phthalate) จะละลายออกมาและเข้าสู่ร่างกายได้ สารละลายยาแพคลิแทกเซลสามารถบรรจุในขวด หรือถุงน้ำเกลือพลาสติกที่ผลิตจากพอลีโพรพิลีน ((polypropylene) หรือพอลีโอเลฟิน (polyolefin) และชุดสายหยดยาเข้าหลอดเลือดที่ทำจากพอลีเอทิลีนได้ (polyethylene-lined administration sets)
  • ผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับยาแพคลิแทกเซลควรได้รับยาเพื่อป้องกันการแพ้ยาอย่างรุนแรง(severe hypersensitivity) เช่น ยาเดกซาเมทาโซน (dexamethasone), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) และไซเมทิดีน (cimetidine) หรือ รานิทิดีน (ranitidine) ก่อนรับยาแพคลิแทกเซล
  • ยาแพคลิแทกเซลอาจทำให้ท่านมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากทนไม่ได้ ท่านต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล
  • ควรให้ความร่วมมือในการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด และรับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนัก ส่วนสูงของผู้ป่วย ชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์ แนะนำ และกำหนดเวลา และมีเภสัชกรผู้เตรียมยาเคมีบำบัด ตรวจสอบขนาดยาที่ท่านได้รับ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย นอกจากนี้ความถี่ของการให้ยาแพคลิแทกเซล อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพัก และซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาในครั้งต่อไปได้

เมื่อลืมใช้ยา

ควรให้ความร่วมมือในการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด และรับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

การเก็บรักษา

เก็บยาในภาชนะบรรจุยา ที่อุณหภูมิ 20°–25° C (องศาเซลเซียส) และป้องกันแสง

ข้อควรระวัง

  • ยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) ใช้สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำเท่านั้น
  • รีบแจ้งแก่พยาบาลผู้ดูแลหากยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) รั่วออกนอกหลอดเลือดขณะรับยาเนื่องจากยาจะทำลายเนื้อเยื่อ อาการที่เกิดมีตั้งแต่รุนแรงน้อยถึงรุนแรงมาก ได้แก่ แดง เจ็บ ผิวหนังเปลี่ยนสี และบวมบริเวณที่ฉีด , หลอดเลือดดำอักเสบ (phlebitis), เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulites), เนื้อเยื่อนูนแข็ง (induration), การหลุดลอกของผิวหนัง (skin exfoliation), เนื้อตาย (necrosis), และเกิดพังผืด (fibrosis) เป็นต้น โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดระหว่างรับยาหรือหลังจากรับยาเสร็จแล้วเป็นสัปดาห์
  • ยาแพคลิแทกเซลมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่นๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องเสีย เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาแพคลิแทกเซล ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใด ๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • ยาแพคลิแทกเซล อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้อย่างรุนแรง โดยมีอาการอาการหายใจลำบาก (dyspnea), ความดันเลือดต่ำ (hypotension) , หน้าบวม ตาบวม , ผื่นลมพิษทั่วตัว เป็นต้น

อาการไม่พึงประสงค์

อาจเกิดอาการแพ้ (allergic reaction) ภายหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งน้อยรายนําไปสู่อาการช็อก แพทย์ควรคํานึงถึงโอกาสในการเกิดอาการแพ้และมีการเตรียมพร้อมการรักษาแบบฉุกเฉินในกรณีเหล่านี้

ก. แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันทีหากมีอาการต่อไปนี้

พบไม่บ่อย

  • อุจจาระดำ, ปัสสาวะ หรืออุจจาระเป็นเลือด, เลือดออกผิปกติ หรือมีจ้ำเลือด

พบน้อย

  • แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก , ผื่นผิวหนังแบบรุนแรง

ข. พบแพทย์โดยด่วน หากมีอาการต่อไปนี้

พบบ่อย

  • ไอหรือ เสียงแหบร่วมกับมีไข้ หรือสั่น, ไข้หรือสั่น, ปวดบั้นเอวร่วมกับมีไข้ หรือสั่น, ปัสสาวะลำบากร่วมกับมีไข้ หรือสั่น , หายใจได้สั้น ๆ, ผื่นผิวหนัง, คัน

พบน้อย

  • เจ็บหรือแดงบริเวณที่ฉีดยา, เจ็บปากหรือริมฝีปาก

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่อง จากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • ท้องร่วง, คลื่นไส้ อาเจียน, ชา หรือรูสึกเหมือนมีเข็มตำปลายมือ ปลายเท้า , ปวดข้อ หรือกล้ามเนื้อ

ยานี้อาจทำให้ผมร่วงขณะใช้ยา หลังจากหยุดยาแล้วผมจะกลับมางอกตามปกติ

ง. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Docetaxel , Vinblastine, Vincristine, Vinorelbine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Anzatax injection concentrate, Praxel injection, Paclitaxel "Ebewe" (Ebetaxel) injection (แพคลิแท๊กเซล "เอเบเว้" (อีบีแท๊กเซล) ยาฉีด), Paclitaxel concentrate for injection, 6 mg/ml, Intaxel injection (อินทาเซล ยาฉีด), Paclitaxin injection (พาคลิแทคซิน ยาฉีด), Mitotax injection (ไมโตแท็กซ์ ยาฉีด), Mitotax 100 injection (ไมโตแท็กซ์ 100 ยาฉีด), Mitotax 250 injection (ไมโตแท็กซ์ 250 ยาฉีด), Mitotax 300 injection (ไมโตแท็กซ์ 300 ยาฉีด), Genetaxyl crem less injection 6 mg/ml, Pacliteva injection, Paklitaxfil injection (แพ็คลิแท็คฟิล ยาฉีด), Paxoll injection (แพ็กซอลล์ ยาฉีด), Intaxel (injection) (อินทาเซล (ยาฉีด)), Inoxol injection (อินนอกเซลสำหรับฉีด), Taxol injection (แทคซอล ยาฉีด), Oncotaxel 100 injection , Sindaxel injection

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Paclitaxel . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: July 20, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: July 17, 2010.
  4. Dailymed current medication information . Paclitaxel. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=6342 Date: July 20, 2010.
  5. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 20/7/2010).
  6. Medina PJ and Fausel C. Cancer Treatment and Chemotherapy. In : DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG and Posey LM , editors.PharmacotherapyA Pathophysiologic Approach 7th ed. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 2085-2108.
  7. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Paclitaxel (Systemic). Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  8. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Paclitexel Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/paclitaxel.html Access Date: July 20, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
20 กรกฎาคม 2553 12 ธันวาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย