Cytarabine (Ara-C)

คำอธิบายโดยสังเขป

ไซทาราบีนหรืออารา-ซี (cytarabine or ara-C) เป็นยาที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับเบสไซโทซีน (cytosine base) ซึ่งต่อกับน้ำตาลอาราบิโนส (arabinose) เริ่มแรกยานี้สกัดได้จากฟองน้ำ (สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง) แต่ในปัจจุบันใช้วิธีการสังเคราะห์ทั้งหมด

  • ไซทาราบีนถูกเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์ในรูปของไทรฟอสเฟตคือ อารา-ซีทีพี (ara-CTP) ภายในเซลล์มะเร็ง ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โพลีเมอเรส (polymerase) ที่ทำหน้าที่ในการต่อสายดีเอ็นเอ(DNA) ให้ยาวออกไป นอกจากนี้ยังรวมเข้ากับสายดีเอ็นเอโดยตรงทำให้ยับยั้งกระบวนการถ่ายแบบดีเอ็นเอ (DNA replication) และทำหน้าที่ในการหยุดยั้งการเรียงต่อของลำดับเบสของดีเอ็นเอ (chain terminator) ดังนั้นไซทาราบีนจึงทำลายเซลล์มะเร็งโดยการขัดขวางการสร้างดีเอ็นเอนั่นเอง
  • ไซทาราบีน (cytarabine) ใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อการชักนำให้โรคสงบอย่างสมบูรณ์ในมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไม่ใช่ลิมโฟไซต์แบบเฉียบพลัน (remission induction in acute non-lymphocytic leukemia) และพบว่ายังมีประโยชน์ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์แบบเฉียบพลัน (acute lymphocytic leukemia) และระยะตัวอ่อนของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอีลอยด์แบบเฉียบพลัน (blast phase of chronic myelocytic leukemia) และใช้ฉีดเข้าไขสันหลังเพื่อป้องกันอาการทางระบบประสาทส่วนกลางของมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ ได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมี ประวัติการแพ้ไซทาราบีน (cytarabine) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ยาเคมีบำบัดมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้

ตั้งครรรภ์

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

โปรดแจ้งแก่แพทย์หากกำลังวางแผนจะมีบุตร เนื่องจากไซทาราบีน (cytarabine) อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตหรือเกิดทารกพิการหรือทารกวิรูปได้เมื่อให้ยาในหญิงตั้งครรภ์
ไซทาราบีนทำให้เกิดความผิดปกติของการพัฒนาสมองในตัวอ่อนของหนูแฮมสเตอร์ และเกิดตัวอ่อนพิการในหนูทดลอง

กำลังให้นมบุตร

โปรดแจ้งแก่แพทย์หากท่านกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยาไซทาราบีน (cytarabine) เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จึงไม่แนะนำให้ทารกได้รับน้ำนมมารดาระหว่างใช้ยานี้

ผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบการทำงานที่แท้จริงของยาว่ามีการทำงานเช่นเดียวกันกับในผู้ป่วยวัยอื่นหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ายานี้ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์, ปัญหาใด ๆ ที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้ยาไซทาราบีน (cytarabine) ในผู้สูงอายุกับวัยอื่น ๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดตัวเป็น (influenza virus vaccine, live)
วัคซีนโรคหัดชนิดตัวเป็น (measles virus vaccine, live)
วัคซีนโรคคางทูมชนิดตัวเป็น (mumps virus vaccine, live)
วัคซีนโรคโปลิโอชนิดตัวเป็น (poliovirus vaccine, live)
วัคซีนโรตาไวรัสชนิดตัวเป็น (rotavirus vaccine, live)
วัคซีนโรคหัดเยอรมันชนิดตัวเป็น (rubella virus vaccine, live)
วัคซีนไทฟอยด์ชนิดตัวเป็น (typhoid vaccine, live)
วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine) วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox vaccine)
วัคซีนโรคอีสุกอีใส (varicella virus vaccine) วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)
แอมโฟเทอริซิน บี (amphophotericin B) ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid agents)
แอซาไทโอพรีน (azathioprine) คอลชิซีน (colchicines)
แกนไซโคลเวียร์ (ganciclovir) อินเทอเฟียรอน (interferon)
พลามัยซิน (plicamycin) คลอแรมบิวซิล (chlorambucil)
คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) ไซโคลสพอริน (cyclosporine)
|เมอร์แคปโทพิวรีน (mercaptopurine)
แทโครลิมุส (tacrolimus)
|โพรเบเนซิด (probenecid)
ซัลฟินไพราโซน (sulfinpyrazone)
|คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol)
เลวาไมซอล (levamisole)
ไทแอมเฟนิคอล (thiamphenicol) ไซโดวูดีน (zidovudine)
ฟลูไซโทซีน (fucytosine)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาไซทาราบีน (cytarabine) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคอีสุกอีใส อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • โรคติดเชื้อต่างๆ ยาไซทาราบีน (cytarabine) จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต
  • โรคเกาต์ (gout) หรือ นิ่วในไต (kidney stone) – ยาไซทาราบีน (cytarabine) ทำให้กรดยูริกในร่างกายเพิ่มขึ้น อาจทำให้โรคเกาต์กำเริบ หรือเกิดนิ่วได้

การใช้ที่ถูกต้อง

ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาฉีด

  • ยานี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ระหว่างได้รับยานี้ ท่านควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ยาไซทาราบีน (cytarabine) แบบฉีดที่ไม่มีส่วนประกอบของสารกันเสีย อาจใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous) หรือฉีดเข้าไขสันหลัง (intrathecal) แต่สำหรับยาที่มีสารกันเสียเบนซิลแอลกอออล์ (benzyl alcohol) ไม่ควรใช้ฉีดเข้าไขสันหลังหรือฉีดในขนาดยาสูง ๆ เภสัชกรผู้เตรียมยาจะทำการตรวจสอบว่ามีอนุภาคใดๆ หรือยามีการเปลี่ยนสีไปจากเดิมหรือไม่ ก่อนที่ยาจะถูกนำมาฉีดให้กับท่านโดยพยาบาลหรือแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในการให้ยาเคมีบำบัด
  • หากท่านได้รับยาด้วยวิธีฉีดเข้าไขสันหลัง โดยส่วนใหญ่จะใช้น้ำไขสันหลังของผู้ป่วย หรือน้ำเกลือโซเดียมคลอไรด์ 0.9 % สำหรับฉีด เป็นตัวทำละลายยา และฉีดยาทันทีหลังจากเตรียมยาเสร็จ
  • ยาไซทาราบีน (cytarabine) อาจทำให้ท่านมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อติดตามผลการรักษาเป็นระยะ และให้ได้รับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาไซทาราบีน (cytarabine) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนัก ส่วนสูงของผู้ป่วย ชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์ แนะนำ และกำหนดเวลา และมีเภสัชกรผู้เตรียมยาเคมีบำบัด ตรวจสอบขนาดยาที่ท่านได้รับ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย นอกจากนี้ความถี่ของการให้ยาไซทาราบีน อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพัก และซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาในครั้งต่อไปได้

เมื่อลืมใช้ยา

มารับยาตามแพทย์นัด เพื่อให้ได้ยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

การเก็บรักษา

เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง และป้องกันแสง

ข้อควรระวัง

ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด และรับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

  • ยาไซทาราบีน (cytarabine) มีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่ได้รับยาที่กดไขกระดูกร่วมด้วย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่น ๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องร่วง เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาไซทาราบีน (cytarabine) ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใดๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • มีรายงานว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาไซทาราบีน (cytarabine) ร่วมกับไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) ในขนาดยาที่สูงเพื่อเตรียมสำหรับการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก อาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathy) และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
  • มีรายงานการเกิดกลุ่มอาการหายใจอึดอัดทันทีทันใด (syndrome of sudden respiratory distress) โดยเกิดอาการปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) อย่างรวดเร็ว และภาวะหัวใจโต (cardiomegaly) ในผู้ป่วยที่ใช้ยาไซทาราบีนสำหรับรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่กลับเป็นซ้ำ จำนวน 16 คนจาก 72 คน
  • ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับ หรือไตบกพร่อง อาจเพิ่มการเกิดอาการพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง หลังจากที่ได้รับยาในขนาดที่สูง แพทย์อาจทำการปรับลดขนาดยาในผู้ป่วยเหล่านี้
  • ไซทาราบีน (cytarabine) อาจเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) จากการที่ยาไปทำลายเซลล์มะเร็ง แพทย์อาจทำการติดตามระดับกรดยูริกในเลือด และให้ยาเพื่อขับกรดยูริกออกจากร่างกาย

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์ทันหากมีอาการต่อไปนี้

  • กลุ่มอาการไซทาราบีน (อารา-ซี) (the cytarabine (Ara-C) syndrome) : มีไข้, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดกระดูก, เจ็บหน้าอกเป็นบางครั้ง ,มีผื่นนูนปนกับผื่นราบ (maculopapular rash), เยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) โดยมักเกิดภายใน 6-12 ชั่วโมงหลังให้ยา หากท่านมีอาการเหล่านี้ให้แจ้งแพทย์ แพทย์อาจให้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์เพื่อรักษาหรือป้องกันอาการเหล่านี้ หรือหยุดยาไซทาราบีนหากคอร์ติโคสเตอรอยด์ใช้ไม่ได้ผล

พบน้อย

  • อุจจาระดำ, ปัสสาวะเป็นเลือด, ไอหรือเสียงแหบ, ไข้ หรือสั่น , ปวดบั้นเอว, ปัสสาวะขัด, มีจุดแดงบนผิวหนัง, เลือดออกผิดปกติหรือมีจ้ำเลือด

ข. พบแพทย์โดยด่วน หากมีอาการต่อไปนี้
พบบ่อย

  • เจ็บปาก หรือริมฝีปาก

พบน้อย

  • ปวดข้อ, ชาปลายมือ ปลายเท้า หรือหน้า, ขาบวม, เหนื่อยง่าย
  • ปวดกระดูก หรือกล้ามเนื้อ, เจ็บหน้าอก, ปัสสาวะลดลง, กลืนลำบาก, อ่อนเพลีย, แสบร้อนยอดอก, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, เจ็บบริเวณที่ฉีด, ผื่นผิวหนัง, ตัวเหลือง ตาเหลือง

ค. อาการไม่พึงประสงค์งอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่อง จากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • เบื่ออาหาร, คลื่นไส้ อาเจียน

พบน้อยหรือน้อยมาก

  • ท้องร่วง, เวียนศีรษะ, ปวดศีรษะ, คันผิวหนัง, ตกกระ

ยานี้อาจทำให้ผมร่วงขณะใช้ยา หลังจากหยุดยาแล้วผมจะกลับมางอกตามปกติ

ง. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ชื่อทางการค้า

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยาที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Cytarabine. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: June 12, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. Dailymed current medication information . Cytarabine Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=14062#nlm34070-3 Date: June 15, 2010.
  4. Medina PJ and Fausel C. Cancer Treatment and Chemotherapy. In : DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG and Posey LM , editors.PharmacotherapyA Pathophysiologic Approach 7th ed. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 2085-2108.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Cytarabine Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

เขียนโดย โพยม วงศ์ภูวรักษ์, ไตรรัตน์ แก้วเรือง

เขียนเมื่อ 16 Jun 2010 01:06 แก้ไขเมื่อ 12 Oct 2010 22:10

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย