อ่าน: 724
Small_font Large_font

Captopril (แคปโทพริล )

คำอธิบายพอสังเขป

แคปโทพริล (captopril) จัดเป็นยาในกลุ่มต้านความดันเลือดสูง กลุ่มสารยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างสารชื่อแอนจิโอเทนซิน (angiotension converting enzyme inhibitors) หรืออาจเรียกย่อเป็นยากลุ่มเอซ๊อีไอ (ACEIs) แอนจิโอเทนซินเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว เมื่อยายับยั้งแอนจิโอเทนซินจึงมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและทำให้เลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น

ยานี้ ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง, คนที่มีภาวะหัวใจล้ม (heart attack), เพื่อป้องกันโรคหัวใจอื่น ๆ ตามมา และปรับปรุงโอกาสรอดชีวิต ใช้รักษาโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน, ใช้รักษาโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังบางชนิด, โดยรักษาร่วมกับยาชนิดอื่น, ใช้ในคนที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (myocardial infarction)

ยานี้ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาโรคความดันเลือดสูงให้หายขาด เพียงแต่ช่วยควบคุมความดันเลือดไว้ โดยต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารเค็ม, การออกกำลังกาย และการลดน้ำหนักในรายที่น้ำหนักเกิน

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาแคปโทพริล (captopril) หริอ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาแคปโทพริล และยาในกลุ่มเดียวกัน และส่วนประกอบอื่นๆในยานี้ หรือห้ามใช้อีก เมื่อกินยานี้แล้วมีอาการ เช่น ผื่น,คัน, ลมพิษ, ปวดข้อ, มือบวม, หน้าบวม, ปากบวม, ลิ้นบวม, แน่นหน้าอก, หายใจลำบาก, หายใจมีเสียงหวีด (wheezing), บวมน้ำกดไม่บุ๋ม (angioedema), รู้สึกแสบร้อนผิวหนัง, ผิวหนังแดงหรืออักเสบหลุดลอกเป็นแผ่น (exfoliative dermatitis)

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณปานกลางไม่มีผลต่อยานี้ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงและควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น โสม กระเทียม

ตั้งครรภ์

สตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ควรคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยานี้

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

จากการศึกษาพบว่าในช่วง 3 เดือนแรกจากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์

การพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ โดยเฉพาะหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ในช่วงหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ข้อมูลในคนพบว่ายามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์

การพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ โดยเฉพาะหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ในช่วงหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ข้อมูลในคนพบว่ายามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์

การพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

สตรีให้นมบุตร ห้ามใช้ยานี้ เพราะยานี้สามารถผ่านทางน้ำนมได้ แม้ว่ายังไม่มีรายงานความผิดปกติของทารกที่ได้รับนมแม่ที่กินยานี้

ผู้สูงอายุ

ไม่ควรลุกขึ้นยืนหรือลุกนั่งจากท่านอนเร็วเกินไปโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการวิงเวียนหรือหมดสติ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ก.ไม่ควรใช้ยาแคปโทพริล (captopril) ร่วมกับยาดังต่อไปนี้

  • ยากดภูมิคุ้มกัน
  • สารเสริมโพแทสเซียม เกลือที่มีโพแทสเซียม ยาอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มโพแทสเซียมในร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะที่เก็บโพแทสเซียมเข้าร่างกาย
  • ยารักษาเกาต์ เช่น อัลโลพูรินอล (allopurinol), โพรเบนีซิด (probenecid)
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ เช่น ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแนก (diclofenac), เซเลโคสิป (celecoxib), อินโดเมทาซิน (indomethacin)

ข.ระมัดระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาต่อไปนี้ : ยารักษาหวัด ไอ ไข้ หรือ โพรงอากาศอักเสบ (sinusitis) เนื่องจากอาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ยาลดน้ำหนัก ลิเทียม (lithium) ยาแก้ซึมเศร้า ยารักษาโรคจิต ยาขับปัสสาวะบางกลุ่ม เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (hydrochlorothizide), ฟรูโรซีไมด์ (frurosemide) ยาลดความดันกลุ่มอื่น ๆ ยารักษาเบาหวาน เช่น อินซูลิน (insulin), ซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylurea)

ยังมียาหลายชนิดที่ไม่ควรใช้ร่วมกับแคปโทพริล ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

  • ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีอาการมือบวม, ปากบวม, หน้าบวม, ลิ้นบวม, คอบวม, หายใจลำบาก, เสียงแหบ, คอตีบตันโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีโรคภูมิต้านตนเอง บางชนิด เช่น ข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rhumatoid arthritis), โรคเอสแอลอี (SLE) และโรคหนังแข็ง (sclerosis)
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคหัวใจหรือ โรคไต ที่ยังไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีการอุดกั้นของหลอดเลือดแดงที่ไต (renal artery occlusion) ทั้งสองข้าง
  • ระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะหรือโรคต่อไปนี้ :
– ภาวะไตบกพร่อง – ผู้ที่ฟอกไต – ภาวะตับวายหรือเป็นโรคตับ – การหดแคบของเอออร์ตาหรือท่อเลือดแดง (aortic stenosis) – โรคเบาหวานโดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี – ภาวะที่ใช้น้ำตาลแลคโตสไม่ได้ (lactose intolerance) – ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ – ปัญหาเกี่ยวกับไขกระดูก – ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไต – เด็ก

การใช้ที่ถูกต้อง

  • กินยาได้ทั้งก่อนอาหาร หลังอาหาร และพร้อมอาหาร แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการกินยาตอนท้องว่าง 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร
  • กินยาโดยกลืนพร้อมน้ำ
  • รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

ขนาดยา

ขนาดยาแคปโทพริล (captopril) ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโรคที่ท่านเป็น ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

เมื่อลืมใช้ยา

ให้กินทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปกินมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามกินยาเพิ่มเป็น 2 เท่า ไม่ควรเปลี่ยนขนาดยาหรือหยุดยาเอง

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในภาชนะปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง หรือใกล้รังสี
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้องไม่เกิน 15 ถึง 30 องศาเซลเซียส อย่าเก็บในที่ร้อน
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและมือเด็กหรือสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการทิ้งยานี้

ข้อควรระวัง

  • ในช่วงแรกของการได้รับยาหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนขนาดยา อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนหรือเวียนศีรษะ ไม่ควรขับขี่ยวดยาน และการทำงานกับเครื่องจักรที่อันตราย และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรลุกขึ้นยืนหรือลุกนั่งจากท่านอนเร็วเกินไปโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการวิงเวียนหรือหมดสติ
  • ระมัดระวังการออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป ซึ่งอาจทำให้เสียเหงื่อมาก ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันการขาดน้ำ เพราะการเสียน้ำมากจะมีผลให้ความดันเลือดลดลงและทำให้วิงเวียนมากขึ้น
  • ถ้าท่านต้องผ่าตัดหรือได้รับการรักษาฉุกเฉิน แจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ และควรบอกเภสัชกรก่อนซื้อยา
  • ยานี้จะมีผลทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดนาน ๆ ให้ใช้ครีมกันแดดและสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเมื่อออกนอกบ้าน
  • ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับผู้อื่น

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบ เช่น

  • มีอาการแพ้ยา
  • หัวใจเต้นเร็วมากหรือเต้นจังหวะผิดปกติ หัวใจเต้นตุบ ๆ เจ็บอก ปวดเค้นหัวใจ ใจสั่น
  • กลืนลำบาก ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้รุนแรง อาเจียนรุนแรง เบื่ออาหาร รู้สึกล้าอยู่ตลอด ตัวเหลืองตาเหลือง
  • มีอาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัสสาวะออกมากหรือปัสสาวะออกน้อยมาก ปวดในทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะสีเข้ม ปวดหลังท่อนล่าง
  • ขาหรือข้อเท้าบวม มือบวม
  • ไข้ร่วมกับปวดกล้ามเนื้อหรือข้อ และมีผื่นผิวหนัง
  • อาการแสดงของภาวะที่เลือดมีโพแทสเซียมมากเกิน เช่น ความคิดสับสน ใจเต้นไม่สม่ำเสมอ รู้สึกชาหรือซ่าตามมือ เท้า ริมฝีปากหายใจลำบาก แขนขาหนัก อ่อนแรง ตะคริวกล้ามเนื้อ

ข. อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น ไอแห้ง ความดันเลือดตกขณะเปลี่ยนท่า เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ การหลับผิดปกติ ง่วงซึม ผมร่วง อาการหน้าแดง ตาพร่า ปลายมือปลายเท้าเย็น รับรู้รสบกพร่องเบื่ออาหาร เจ็บปาก ปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังไวต่อแสง ซีด เยื่อจมูกอักเสบ เสียงแหบ เดินเซ เต้านมบวม เต้านมโต อ่อนเพลีย อ่อนเปลี้ย

แต่ถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่อง ให้ไปพบแพทย์ทันที

ค. หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • หมั่นตรวจวัดระดับความดันเลือดเป็นประจำ ระหว่างการใช้ยานี้ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการกินยาหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนขนาดยา
  • ไม่ควรหยุดยาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน แม้ว่าจะรู้สึกสบายดีก็ตาม เพราะความดันเลือดสูงมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ
  • ควรไปพบแพทย์หรือเภสัชกร อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา โดยการวัดความดันเลือดเป็นประจำ และตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตและระดับโปแตสเซียม ถ้าท่านมีเครื่องวัดระดับความดันเลือดด้วยตนเองที่บ้าน ท่านควรบันทึกค่าความดันเลือดที่วัดได้เอง และนำค่าที่บันทึกไว้มาให้แพทย์ดู
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับค่าความดันเลือดที่เหมาะสมสำหรับท่านและเมื่อใดที่จะต้องมาพบแพทย์หรือเภสัชกร
  • ควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีผลช่วยลดความดันเลือด เช่น ลดความเครียด ออกกำลังกาย ลดการกินอาหารที่มีเกลือมาก ลดน้ำหนัก
  • ผลการลดความดันเลือดจะเต็มที่ เมื่อกินยาติดต่อกัน 2 ถึง 4 สัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ การรักษาโรคหัวใจวายจะใช้เวลานานกว่าเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน หากอาการแย่ลง หรือไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Enalapril, Perindopril, Quinapril, Ramipril

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Capril tablets, Epsitron tablets, Gemzil tablets

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

แค็ปโตพริล, แคปโตพริล

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 2 May, 2010.
  2. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 15 March, 2010.
  3. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In; 2009.
  4. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Captopril. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

panupong puttarak
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
12 ธันวาคม 2552 12 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย