ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ
อ่าน: 949
อาเจียน (vomit)
อาการอาเจียน (vomit หรือ emesis) หมายถึง การที่สิ่งที่อยู่ในกระเพราะอาหารถูกดันขึ้นมาที่หลอดอาหารอย่างแรง จนเศษอาหาร, น้ำย่อย หรือสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมานอกร่างกายผ่านทางปาก และบางครั้งออกมาทางจมูกด้วย
อาการอาเจียนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เป็นกลไกปกติของร่างกายจากการได้รับสารพิษเข้าทางทางเดินอาหาร หรือเกิดจากโรคต่างๆ
อาการที่เรารู้สึกอยากจะอาเจียน เรียกว่า คลื่นไส้ (Nausea) ซึ่งอาจตามมาด้วยอาการอาเจียนหรือไม่อาเจียนตามมาก็ได้
สาเหตุของการอาเจียน แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 4 กลุ่ม ตามกลไกการเกิดโรคและตำแหน่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกใช้ยาของแพทย์ คือ
1. โรคระบบทางเดินอาหาร :
- ภาวะลำไส้อุดตัน : อาหารที่กินเข้าไป ไม่สามารถผ่านลำไส้ออกมาทางทวารหนักได้ จากมีสิ่งอุดกั้นที่ปลายลำไส้ ทำให้ลำไส้ส่วนบนที่อยู่เหนือต่อตำแหน่งที่อุดตันเกิดการบีบตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีการไหลย้อนของอาหารออกมาทางปาก ในภาวะนี้นอกจากอาการอาเจียนแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืดมากและไม่ถ่ายไม่ผายลมร่วมด้วย
- ภาวะอักเสบและติดเชื้อบริเวณทางเดินอาหาร : จะมีสารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอักเสบไปกระตุ้นที่ศูนย์รับการอาเจียนในทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ (acute gastroenteritis), ตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis), ถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis), ไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis), ตับอักเสบ (hepatitis) เป็นต้น
- ภาวะหลอดอาหารบีบตัวได้ลดลง ทำให้อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาทางปาก เช่น โรคกรดไหลย้อน (GERD)
2. โรคระบบประสาท :
- มีการกระตุ้นที่สมองส่วนหน้า เช่น คิดถึงภาพที่สยดสยอง แล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- มีความดันในกระโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น จากสาเหตุต่างๆ เช่น เลือดออกในสมองหรือเนื้องอกในสมอง เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย โดยจะปวดและอาเจียนมากในช่วงเช้า หลังตื่นนอน
- โรคของหูชั้นในที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meneire disease ) หรือนิ่วในหูชั้นใน (BPPV) เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะและบ้านหมุนร่วมกับอาเจียน
3. มีการกระตุ้นที่ศูนย์รับสารกระตุ้นการอาเจียนในสมอง (chemoreceptor trigger zone, CTZ) ได้แก่
- ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด, ยาบำรุงเลือด (ธาตุเหล็ก), ยาฆ่าเชื้อ กลุ่ม doxycycline และ erythromycin, ยาต้านไวรัส, ยาคุมกำเนิด, ยาเบาหวาน metformin, ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน เป็นต้น
- โรคบางอย่าง เช่น ภาวะตั้งครรภ์, มีเกลือแร่โซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia), ภาวะร่างกายเป็นกรดตามหลังน้ำตาลในเลือดสูง (diabetic ketoacidois) เป็นต้น
4. โรคอื่นๆ :
- การติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) , กรวยไตอักเสบ (pyelonephritis)
- โรคทางจิดเวช เช่น กลุ่มอาการที่ต้องล้วงคอให้อาเจียนหลังกินอาหาร (bulimia)
ถ้าคุณมีอาการอาเจียน แม้จะไม่รุนแรงมาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ แต่ความเร่งด่วนของการไปพบแพทย์อาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เช่น
- ถ้าอาการรุนแรงไม่มาก อาจรอสังเกตอาการที่บ้านก่อน เพราะอาการอาจหายได้เอง
- ถ้ามีอาการรุนแรงมาก เช่น อาเจียนเกือบตลอดเวลาจนกินน้ำไม่ได้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและให้น้ำเกลือชดเชยที่อาเจียนออกมา
ยาที่ใช้บ่อย
1. ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. Manual of medical diagnosis. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552, 99-101.
2. ทวี ศิริวงศ์ , บรรณาธิการ. คู่มือเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก. ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่2. 2550, 21-22.
26 กุมภาพันธ์ 2554
29 มีนาคม 2554