ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 1324
Small_font Large_font

ไข้รากสาดน้อย (Typhoid fever)

คำจำกัดความ

ไข้รากสาดน้อย หรือ ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever; Enteric fever) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Salmonella typhi พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปะปนอยู่ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการไข้สูง ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย

อาการ

โดยทั่วไปแล้วการดำเนินโรคไทฟอยด์แบ่งออกเป็น 4 ระยะหากไม่ได้รับการรักษา ในแต่ละระยะกินเวลาราว 1 สัปดาห์
สัปดาห์แรก

  • ไข้สูงประมาณ 39.4 – 40 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • เจ็บคอ ไอแห้ง
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย หรือท้องผูก
  • ผื่นแดงคล้ายดอกกุหลาบที่หน้าอก หายได้เองใน 2-5 วัน

สัปดาห์ที่ 2
  • อาการที่เป็นอยู่ในสัปดาห์แรกจะยังคงมีอยู่แต่อาการจะรุนแรงมากขึ้น
  • ท้องอืด
  • ตับโต ม้ามโต
  • หัวใจเต้นช้า
  • ชีพจรสองยอด

สัปดาห์ที่ 3
  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำสีเขียวคล้ายซุปถั่ว
  • น้ำหนักลด
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เลือดออกในลำไส้ ลำไส้ทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • ซึมเพ้อ

สัปดาห์ที่ 4
  • ระยะฟื้นตัว ไข้ลง อาการต่างค่อยๆดีขึ้น
  • ผู้ป่วยที่รอดชีวิตโดยไม่ได้รับการรักษาจะเป็นพาหะของเชื้อไทรอยด์ โดยเชื้อจะอยู่ในถุงน้ำดีและในทางเดินอาหาร

สาเหตุ

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Salmonella typhi ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปะปนอยู่ เชื้อโรคจะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะ ส่วนมากตั้งแต่สัปดาห์แรกของโรค ไปจนถึงระยะฟักฟื้น ประมาณ 10% ของผู้ป่วย สามารถปล่อยเชื้อโรคได้นานถึง 3 เดือน หลังเริ่มป่วยและ 2-5% กลายเป็นพาหะถาวรของโรค

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยไข้ไทฟรอยด์จากอาการ และประวัติการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้ไทฟรอยด์ ยืนยันการวินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อ Salmonella typhi ขึ้นในเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ หรือไขกระดูก ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจึงได้แก่

  • เจาะเลือดไปเพาะเชื้อใช้เวลาประมาณ 48-72 ชั่วโมง จึงจะทราบผล สามารถตรวจพบเชื้อได้ประมาณ 85-90% ของผู้ป่วย
  • เพาะเชื้อจากอุจจาระหรือปัสสาวะ
  • เพาะเชื้อจากไขกระดูก สามารถตรวจพบได้ประมาณ 90%
  • ตรวจหาดีเอ็นเอ หรือ แอนติบอดี้ต่อเชื้อ Salmonella typhi

ภาวะแทรกซ้อน

  • เลือดออกในทางเดินอาหาร พบได้ประมาณ12% ผู้ป่วยจะถ่ายเป็นเลือด ในกรณีที่เลือดออกมากอาจมีความดันโลหิตต่ำร่วมด้วย
  • ลำไส้ทะลุ สามารถพบได้ 3-4.6% ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องมาก ท้องแข็งตึง ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่นที่สามารถพบได้แต่ไม่บ่อย เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ติดเชื้อในไต ติดเชื้อในกระดูก ประสาทหลอนหรือมีอาการทางจิต

การรักษาและยา

  • ยาฆ่าเชื้อ เป็นการรักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้ ยาฆ่าเชื้อที่ได้ผลดีเช่น Ceftriaxone, Ciprofloxacin
  • อื่น ๆ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ดื่มน้ำมากๆชดเชยการสูญเสียน้ำจากภาวะไข้และถ่ายเหลว
การป้องกัน(Prevention)
  • การฉีดวัคซีน มีทั้งแบบกินและแบบฉีดแต่ไม่ได้ผล 100% ต้องการะตุ้นซ้ำ
  • ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือกรณีที่ไม่มีน้ำล้างมือ
  • ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำขวดบรรจุภัณฑ์หรือน้ำต้มสุก ไม่ดื่มน้ำจากก๊อกที่ไม่ใช่น้ำเพื่อดื่ม
  • ไม่กินผักสด หรือผลไม้ที่กินทั้งเปลือกเนื่องจากอาจล้างด้วยน้ำที่ไม่สะอาด
  • รับประทานอาการที่ปรุงสุกใหม่ๆ

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Ciprofloxacin,

แหล่งอ้างอิง

1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์3. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 436-444.
2. Anthony S.Fauci, Eugene Braunwald, et al, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 17th edition. 2008, 551-562.
3. Alfred P.Fishman, Jack A.Elias, et al, editors. Fishman’s pulmonary diseases and disorders. Fourth edition. 2008, 1799-1941.



18 กรกฎาคม 2553 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย