ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 568
Small_font Large_font

เกลื้อน (Tinea versicolor, pityriasis versiclor)

คำจำกัดความ

เกลื้อน (Tinea versicolor) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อราของผิวหนังชั้นตื้น หรือหนังกำพร้าส่วนบนเท่านั้น ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นด่างดวง บริเวณที่เป็นโรคมักมีสีอ่อนกว่าสีผิวหนังเดิม หรืออาจเป็นสีน้ำตาล พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น มีเหงื่อออกมาก หรือผิวมัน ในระยะเริ่มแรกจะปรากฏเป็นดวงเล็กๆ ต่อมาจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลายดวงได้ หรืออาจรวมตัวกันขยายเป็นปื้นขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ เกลื้อนมักไม่มีอาการคัน แต่บางครั้งก็อาจมีอาการคันเกิดขึ้นได้
เกลื้อนพบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น ทั้งหนุ่ม และสาว เพราะเป็นวัยที่ต่อมไขมันทำงานมาก ผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือจะเป็นคนผิวมัน มีความต้านทานต่อเชื้อเกลื้อนน้อยกว่าคนทั่วไป ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่อับ ร้อน เหงื่อมาก มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ง่ายกว่าปกติ

อาการ

ลักษณะของผื่นในโรคเกลื้อนจะพบเป็นวงเล็กๆ ขนาดต่างๆ กัน รอบๆ รูขุมขน จนถึงรวมกันเป็นปื้นใหญ่ มีขุย ผื่นนี้จะพบสีได้ต่างๆ กัน เช่น อาจเป็นวงสีขาว สีชมพู สีเทา จนถึงสีน้ำตาล ก็พบได้ ส่วนใหญ่มีสีขาว พบได้บ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หน้า ต้นคอ หน้าอก หลัง อาจมีอาการคันได้ เวลาเหงื่อออก
เกลื้อน ที่พบโดยทั่วไปมี 3 ประเภท ซึ่งเกิดจากเชื้อราตัวเดียวกัน คือ Malassesia furfur ได้แก่
• เกลื้อนดอกหมาก มีลักษณะเป็นจุดด่างขาวๆ เป็นหย่อมๆ พบมากที่หลัง อก และสีข้าง ลักษณะคล้ายสีของดอกหมาก จึงเรียกว่า “เกลื้อนดอกหมาก”
• เกลื้อนสีแดง มีลักษณะคือ ผิวแดงเป็นหย่อมๆ ขนาดครึ่งถึงหนึ่งเซนติเมตร ผิวแดงจะปกคลุมด้วยสะเก็ดบางๆ มักพบที่บริเวณเนื้อย่นๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ รอบคอ พบในคนที่รักษาสุขภาพดี แต่ผิวมีเหงื่อซึ่งประกอบด้วยสารบางชนิดที่เหมาะในการเป็นอาหารของเชื้อเกลื้อน
• เกลื้อนสีดำ เป็นผื่นราบสีดำคล้ำ คลุมด้วยสะเก็ดบางๆ ไม่มีอาการคันขนาดตั้งแต่ 1-2 มม. จนกว้างหลายเซนติเมตร พบบ่อยที่เอว ขาหนีบ รักแร้ ต้นคอ พบในคนที่มีสุขภาพดี

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อรา ชื่อ มาแลสซิเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) ซึ่งเป็นเชื้อราที่ปกติอาศัยอยู่ในรูขุมขนของคนทุกคน และกินไขมันที่มีอยู่ในรูขุมขนเป็นอาหาร ถ้าผู้ป่วยมีความต้านทานลดลงหรือมีภาวะที่ผิวหนังมันมากๆและอับชื้นจากเหงื่อที่ชุ่มอยู่กับเสื้อผ้า เชื้อราชนิดนี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้ว ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนังลักษณะเป็นดวงขาว มีขุย โรคนี้พบบ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมากๆ เช่น หน้าอก และหลังเป็นต้น

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยให้ได้ผลแน่นอนคือ การขูดที่ผิวหนังและนำมาตรวจเพิ่มเติมด้วย
 ตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ : จะเห็นเชื้อราเป็นเม็ดและเป็นเส้น
 นำมาเพาะเลี้ยงในอาหารเพาะเชื้อที่เหมาะสม : จะมีเชื้อราเจริญเติบโตขึ้นมาให้เห็น

ภาวะแทรกซ้อน

หลังจากหายจากเกลื้อน (ไม่มีอาการคันแล้ว เนื่องจากเชื้อเกลื้อนถูกทำลายด้วยยาแล้ว ) ผู้ป่วยอาจหลงเหลือด่างขาวทิ้งไว้อยู่นานหลายเดือน เกิดจากขณะที่เป็นโรคเกลื้อน เชื้อราได้สร้างสารเคมีบางชนิดไปกดการทำงานของเซลล์เม็ดสี ดังนั้นต้องรอเวลาให้เซลล์เม็ดสี สร้างเม็ดสีกลับมา จึงจะทำให้รอยด่างขาวนั้นหายไป โดยไม่เกิดแผลเป็น ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะหาย

การรักษาและยา

1. ใช้ยากดการเจริญเติบโตของเชื้อเกลื้อน (ยาฆ่าเชื้อรา) ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ ยาชนิดทาและยาชนิดรับประทาน 1.1.ยาฆ่าเชื้อราชนิดทา ประกอบด้วย – ยาน้ำ เช่น 20% โซเนียมทัยโอซัลเฟต เหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นมากๆ – ยาชนิดครีม ได้แก่ โคไตรมาโซลครีม (Clotrimazole cream) เหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นบริเวณไม่กว้างมาก ทาวันละ2-3 ครั้ง – สบู่หรือแชมพูที่มีส่วนผสมของสารคีโตโคนาโซนหรือสารเซเลเนียมซัลไฟล์ : วิธีใช้ยาแชมพูทำได้โดยให้ผู้ป่วยอาบน้ำฟอกตัวให้สะอาดด้วยสบู่ตาม ปกติ เมื่อเสร็จแล้วอย่าเพิ่งเช็ดน้ำที่ติดบนผิวหนังออก แต่ใช้แชมพูยาลูบไปทั่ว บริเวณที่เป็นทิ้งไว้ 5 นาที แล้วจึงอาบน้ำล้างแชมพูออก อย่าปล่อยทิ้งแชมพูยา ให้อยู่บนผิวหนังนานเพราะอาจเกิดอาการระคาย จากแชมพูยาได้ 1.2.ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน จะใช้เฉพาะในรายที่เป็นมากหรือเกลื้อนที่กินพื้นที่กว้างทายาไม่ทั่วถึง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะยารับประทานอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ นอกจากนี้ยายังมีราคาแพง เช่น Ketoconazole 200 mg วันละครั้ง 5 วัน
หมายเหตุ : สำหรับเชื้อราที่เล็บและหนังศีรษะการรักษายุ่งยากกว่า ต้องใช้ยารับประทาน

2. การปฏิบัติตนเมื่อเป็นกลากเกลื้อน : – รักษาความสะอาดของร่างกายให้ทั่วถึงอย่างสม่ำเสมอ อาบน้ำฟอกสบู่และเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง โดยเฉพาะ บริเวณซอก เช่น รักแร้ ขาหนีบ ง่ามเท้า เป็นต้น อย่าปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมม – ตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้น หมั่นล้างมือให้สะอาดและอย่าเกาเพราะจะทำให้เชื้อลุกลามไปที่อื่นได้ – ป้องกันการแพร่เชื้อโดยแยกเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช้ปะปนกันและควรซักทำความสะอาดตากแดดให้แห้งทุกครั้ง – การรักษาเชื้อราที่ผิวหนัง โดยทั่วไปจะใช้ยาทาวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าผื่นจะหาย โดยทายาที่ผื่นและบริเวณใกล้เคียงโดยรอบหลังจากผื่นหายแล้วควรทายาต่ออีกประมาณ 2 สัปดาห์ และอย่าใช้มือเปื้อนยาขยี้ตา

3. การป้องกันโรคเกลื้อน : ทำได้โดย – ห้องทำงาน ต้องมีอากาศถ่ายเทดี ไม่อับชื้น เปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเทเสมอๆ เปิดม่านออกให้ถูกแสงแดดบ้างในบริเวณห้อง – ผู้ที่ทำงานในที่โล่งแจ้ง ร้อน และเหงื่อออกมาก เมื่อมีโอกาสพักเที่ยง ควรถอดเสื้อออกผึ่งให้เสื้อแห้ง แล้วจึงใส่ซ้ำอีกในภาคบ่าย แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเสื้ออีกตัวในภาคบ่าย อย่าใส่เสื้อหมักเหงื่อเปียกตลอดทั้งวัน เพราะเชื้อเกลื้อนชอบความชื้น – เสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อ เมื่อซักควรตากแดดร้อนจัด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคด้วย – เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนอย่าใช้ปะปนกับคนที่เป็นเกลื้อน หรือเคยเป็นเกลื้อนมาก่อน เพราะอาจติดต่อมายังเราได้ ดังนั้นเสื้อผ้าที่บุคคลเป็นเกลื้อนสวมใส่ เมื่อตนเองหายเป็นเกลื้อนแล้ว ควรนำไปต้มหรือรีดด้วยความร้อนจัดเพื่อฆ่าเชื้อจะได้ไม่เป็นซ้ำ

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย 20% sodium thiosulfate, Clotrimazole cream

แหล่งอ้างอิง

Mayo Foundation for Medical Education and Research : Tinea versicolor [online].,Available from ; URL :

  1. http://www.mayoclinic.com/health/tinea-versicolor/DS00635
  2. อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2545.
  3. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2548.



27 พฤษภาคม 2553 12 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย