ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 1518
Small_font Large_font

มะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer)

คำจำกัดความ

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณคอทางด้านหน้าของกล่องเสียงและหลอดลม ต่อมไทรอยด์จะแบ่งเป็น 2 ปีกใหญ่ คือ ด้านซ้ายและด้านขวา ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนซึ่งมีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมปฏิกิริยาการเผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของสมองทารก ในช่วงอยู่ในครรภ์มารดา มีผลในการควบคุมอัตราการบีบตัวของหัวใจ, ความดันโลหิต และอุณหภูมิร่างกาย

ส่วนฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งอยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ คือ แคลซิโทนิน มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมระดับของแคลเซียมในเลือด ซึ่งสร้างจากต่อมพาราไทรอยด์ที่อยู่ใกล้เคียงกัน 4 ต่อม

มะเร็งต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่จะเกิดในเพศหญิง โดยปกติแล้วก้อนที่เกิดขึ้นที่ไทรอยด์ไม่ใช่มะเร็งทั้งหมด ส่วนใหญ่มากกว่า 90% จะไม่ใช่มะเร็ง ก้อนที่เกิดขึ้นที่ไทรอยด์ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายใดๆ ไม่แพร่กระจาย ไม่จำเป็นต้องผ่าออก แต่ก้อนที่ไทรอยด์ถ้าเป็นมะเร็งแล้วจะเป็นอันตราย โดยสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงจึงจำเป็นต้องผ่าตัดออก มะเร็งยังสามารถแพร่กระจายโดยการแยกตัวของเซลล์จากก้อนใหญ่ได้โดยเข้าสู่ระบบเลือดและน้ำเหลืองได้

สามารถแบ่งมะเร็งของต่อมไทรอยด์ ตามชนิดของเซลล์ที่เป็น ดังต่อไปนี้

Papillary cell carcinoma เป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อยที่สุด อาจเป็นก้อนเดี่ยว หรือเป็นหลายก้อนได้ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอะไร นอกจากพบก้อนที่คอ การวินิจฉัยอาจทำได้จาก การเจาะก้อนที่คอโดยใช้เข็มเพื่อนำชิ้นเนื้อหรือเซลล์ที่ได้ไปตรวจ (FNA) หรือใช้การผ่าตัดเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

มะเร็งชนิดนี้ ชอบกระจายตามทางเดินน้ำเหลือง จึงอาจพบก้อนที่คอร่วมกับก้อนต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว ผลการรักษาก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก

Follicular cell carcinoma เป็นมะเร็งชนิดที่พบรองลงมา การวินิจฉัย ทำได้จากการผ่าตัด และนำก้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยาเท่านั้น การเจาะเพื่อนำเซลล์ไปตรวจจะไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ มะเร็งชนิดนี้ ชอบกระจายไปตามกระแสเลือด อวัยวะที่พบว่ามีการกระจายไปบ่อยที่สุด คือ ปอด เป็นมะเร็งที่มีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นเดียวกัน

Medullary cell carcinoma เป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงมาก พบไม่มากนัก

Anaplastic เป็นมะเร็งชนิดที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยมักมีประวัติ ก้อนที่โตอย่างรวดเร็ว อาจมาด้วยอาการกดเบียดทับของก้อนบริเวณหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก หรือกดทับหลอดลมทำให้หายใจลำบาก และสามารถกระจายไปอวัยวะอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ผลการรักษาไม่ค่อยดีนัก มะเร็งชนิดนี้ พบไม่บ่อยเช่นกัน

โดยสรุป มะเร็งชนิดที่ 1 และ 2 เป็นมะเร็งที่พบในคนส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีผลการรักษาที่ดีมาก ส่วนมะเร็งที่เป็นรุนแรงมักมีผลการรักษาไม่ดี แต่พบได้น้อย

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการคอพอก (คอโต) แต่มักจะเป็นก้อนแข็ง ๆ ซึ่งอาจเป็นก้อนเดี่ยว ๆ หรือหลายก้อนก็ได้ ผิวไม่ค่อยเรียบ และขยับไปมาไม่ค่อยได้ มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร (ยกเว้นในรายที่มีเลือดออกเข้าไปในก้อนมะเร็งอาจทำให้มีอาการปวดคล้ายต่อมไทรอยด์อักเสบได้) ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคออาจโตร่วมด้วย บางรายอาจมีเสียงแหบ หายใจลำบาก หรือกลืนลำบากเกิดจากก้อนที่โตเร็ว อาจโตกดหลอดลม หรือหลอดอาหาร ซึ่งควรจะมารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันได้

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งต่อมไทรอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ ประกอบด้วย

การได้รับรังสี เช่น รังสีเอกซเรย์มากจนเกินไป (แต่ว่าการถ่ายรังสีเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัยนั้น จะใช้รังสีเอกซเรย์น้อยมาก ประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าความเสี่ยงมาก แต่อย่างไรก็ตามการได้รับรังสีเอกซเรย์ซ้ำๆก็อาจจะเป็นอันตราย โดยเป็นความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์ ชนิด Follicular cell carcinoma หรือ Papillary cell carcinoma

ประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ถ้ามีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น มียีนบางชนิดที่เรียกว่า RET ซึ่งสามารถถ่ายทอดได้จากพ่อแม่สู่บุตรหลาน ส่วนใหญ่แล้วยีนชนิดนี้มักทำให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Medullary cell carcinoma

ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต่อมไทรอยด์ บางคนที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคต่อมไทรอยด์โต มักจะเป็นความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary cell carcinoma

ผู้หญิง มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า

คนที่เคยมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แม้ว่าจะไม่ใช่มะเร็ง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์

อายุมากกว่า 45 ปี คนส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์มักจะมีอายุมากกว่า 45 ปี ถ้ามีอายุมากกว่า 60 ปีมักจะเป็นมะเร็งชนิด Anaplastic Thyroid Cancer

ไอโอดีน ถ้าได้รับไอโอดีนจากอาหารน้อยเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด Follicular cell carcinoma แต่ถ้าได้รับมากจนเกินไป ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ชนิด Papillary cell carcinoma

คนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ทุกราย ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์บางรายก็ไม่มีความเสี่ยงด้วยซ้ำ

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติ อาการ อาการแสดง และประวัติครอบครัว ประวัติการรักษาอื่นๆ แพทย์จะตรวจร่างกายโดยการคลำที่คอเพื่อดูว่ามีก้อนหรือมีต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงโตมากขึ้นหรือไม่ ร่วมกับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์

  • การเจาะเลือด เป็นการตรวจฮอร์โมน (TSH) ซึ่งถ้ามีประมาณมากหรือน้อยเกินไป แสดงว่าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ แพทย์อาจตรวจระดับแคลเซียมในเลือดเพื่อดูการทำงานของฮอร์โมนแคลซิโทนิน
  • อัลตราซาวน์ จะเป็นการใช้คลื่นเสียง เพื่อสร้างภาพของต่อมไทรอยด์ที่โตมากขึ้น เพื่อดูขนาดและรูปร่างของต่อมไทรอยด์ และเพื่อดูว่าเป็นก้อนแข็งหรือเป็นก้อนที่ภายในเป็นของเหลว (ซีสต์หรือถุงน้ำ)
  • การตรวจไทรอยด์สแกน (Thyroid Scan) เป็นการตรวจที่ให้ผู้ป่วยดื่มสารกัมมันตรังสีเข้าไป เพื่อให้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดหลังจากนั้นต่อมไทรอยด์ก็จะดูดซับสารกัมมันตภาพรังสีเหล่านั้นไว้ แล้วสามารถถ่ายออกมาเป็นภาพได้
  • การนำชิ้นเนื้อส่งตรวจ เป็นวิธีการที่แม่นยำที่สุดครับ เพราะได้เห็นเซลล์จากกล้องจุลทรรศน์ ว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ส่วนใหญ่มักเป็นการใช้เข็มเจาะดูด แพทย์จะดูดเซลล์ตัวอย่างก้อนของต่อมไทรอยด์เพื่อส่งตรวจ

การผ่าตัด ใช้ในกรณีไม่สามารถใช้เข็มเจาะดูดตัวอย่างเซลล์ได้

การตรวจเพื่อประเมินระยะของมะเร็งต่อมไทรอยด์
ในการวางแผนการรักษา จะต้องทราบระยะของมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยประเมินขนาด ตำแหน่ง และการแพร่กระจายของมะเร็ง มะเร็งต่อมไทรอยด์มักแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ปอด และกระดูก ซึ่งเมื่อมีการแพร่กระจายแล้ว ก็จะทำให้เกิดก้อนที่ตำแหน่งใหม่ที่มะเร็งลุกลามไปถึง

การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์เพื่อประเมินระยะของมะเร็งต่อมไทรอยด์ ทำได้โดย

  • การอัลตราซาวน์ เพื่อดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงแล้วหรือไม่
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์แล้วสร้างภาพเพื่อการแพร่กระจายของมะเร็ง
  • การสร้างภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อสร้างภาพก้อนมะเร็งต่อมไทรอยด์ เพื่อดูขนาด ตำแหน่ง และการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะข้างเคียง
  • การเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปที่ปอดหรือไม่
  • การสแกนทั้งร่างกายโดยใช้สารกัมมันตรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการดื่มสารกัมมันตรังสี ซึ่งสารกัมมันตรังสีจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด โดยเซลล์มะเร็งจะดูดซับสารกัมมันตรังสีเหล่านั้นไว้ ทำให้สามารถสร้างออกมาเป็นภาพได้

ภาวะแทรกซ้อน

มะเร็งต่อมไทรอยด์แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ปอด และกระดูก บางรายอาจมีเสียงแหบ หายใจลำบาก หรือกลืนลำบากเกิดจากก้อนที่โตเร็ว อาจโตกดหลอดลม หรือหลอดอาหาร

การรักษาและยา

ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการวินิจฉัย การรักษาจะเริ่มภายใน 2-3 สัปดาห์ การรักษาขึ้นอยู่กับ ชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ ขนาดของก้อน อายุ และการแพร่กระจาย

การรักษาประกอบด้วย

การผ่าตัด
เกือบทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งต่อมไทรอยด์จะได้รับการผ่าตัด ซึ่งอาจจะตัดต่อมไทรอยด์ออกไปทั้งหมดหรือบางส่วน ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง

การผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ทั้งหมด แพทย์จะตัดต่อมไทรอยด์ออกไปทางบาดแผลที่คอด้านหน้า แต่ถ้าแพทย์ไม่สามารถตัดมะเร็งออกไปทั้งหมดได้ก็จะใช้วิธีการใช้สารกัมมันตภาพรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ ต่อมน้ำเหลืองอาจถูกตัดออกไปด้วย ถ้ามะเร็งได้มีการแพร่กระจายออกไปในเนื้อเยื่อข้างเคียงแล้วก็จะใช้วิธีการดื่มน้ำกัมมันตภาพรังสี หรือการฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในส่วนดังกล่าว

การผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์บางส่วน ในบางคนที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Follicular หรือ Papillary cell carcinoma ซึ่งมะเร็งอาจจะจำกัดเพียงบางส่วนของต่อมไทรอยด์ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนและเนื้อเยื่อข้างเคียงออก แต่ในบางรายอาจตัดบางส่วนในครั้งแรก แล้วต่อมาจะได้รับการผ่าตัดในส่วนที่เหลือก็ได้ และส่วนที่เหลือจะใช้วิธีการดื่มน้ำกัมมันตภาพรังสี

ถ้าจำเป็นต้องตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกโดยไม่ได้รับการนำต่อมพาราไทรอยด์ไปปลูกถ่ายไว้บริเวณอื่น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีไปตลอดชีวิต

เนื่องจากว่ามีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียงอยู่ในบริเวณที่ทำการผ่าตัด ในบางคนส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อนคือ เสียงแหบได้ จากเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บขณะผ่าตัด

ภายหลังจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด ผู้ป่วยเกือบทุกรายจำเป็นต้องได้รับยาเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ ยาเสริมฮอร์โมนนี้มีผลข้างเคียงได้ ทำให้น้ำหนักลด เหงื่อแตก ใจสั่น รู้สึกร้อน ถ่ายเหลวได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับยาเสริมฮอร์โมนน้อยเกินไป จะทำให้น้ำหนักขึ้น ขี้หนาว ผิวแห้ง หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงดังกล่าวขณะรับยาฮอร์โมนเสริม ควรไปพบแพทย์เพื่อปรับขนาดยา

การใช้สารกัมมันตรังสี
เป็นการใช้ไอโอดีน (I-131)ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี สำหรับการรักษา Papillary หรือ Follicular cell carcinoma ซึ่งจะฆ่าเซลล์มะเร็ง ที่ยังหลงเหลืออยู่ภายหลังจากผ่าตัดแล้ว การได้รับไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีนี้อาจได้รับเป็นแคปซูล หรือการดื่มเข้าไป เพื่อที่ร่างกายจะดูดซึมและเข้าสู่กระแสเลือด มะเร็งต่อมไทรอยด์จะดูดซับสารกัมมันตรังสีนี้ แล้วก็ตาย การใช้วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถรักษาในแบบผู้ป่วยนอกได้ ไม่ต้องนอนรพ. แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลา 1-2 วัน ส่วนใหญ่แล้วฤทธิ์ของสารกัมมันตรังสีนี้จะหายไปประมาณ 1 สัปดาห์ และภายใน 3 สัปดาห์จะหายไปเกือบหมด ระหว่างการรักษาให้ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดอันตรายจากสารกัมมันตรังสี เพราะการดื่มน้ำจะช่วยให้ I-131 ถูกขับออกง่ายยิ่งขึ้น

ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บที่คอ หรือคอบวมอันเนื่องมาจากเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นๆ ดูดซับสารกัมมันตภาพรังสีไว้ ทำให้เซลล์มะเร็งตาย ดังนั้นถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจาย ส่วนที่มีการแพร่กระจายก็อาจได้รับผลกระทบด้วย

การฉายรังสี
เป็นการใช้รังสีจากภายนอกที่มีความเข้มข้นสูงเพื่อที่จะฆ่าเซลล์มะเร็ง ส่วนใหญ่มักจะได้รับฉายรังสีสัปดาห์ละ 5 วัน อย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ซึ่งการฉายรังสีแต่ละครั้้งจะใช้เวลา 2-3 นาที

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นคือ คอแห้ง เจ็บคอ เจ็บปาก เสียงแหบ กลืนลำบาก เจ็บที่ผิวหนังได้

ยาเคมีบำบัด
เป็นการรักษามะเร็งไทรอยด์ชนิด Anaplastic cell carcinoma ซึ่งจะใช้ยาฆ่ามะเร็งโดยการฉีดเข้าสู่หลอดเลือดแล้วจะฆ่าเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย

ผลข้างเคียงก็ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัด ซึ่งยาเคมีบำบัดก็อาจมีผลต่อเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็วได้เช่นกัน เช่น เยื่อบุภายในช่องปาก เซลล์รากผม นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เจ็บปาก เบื่ออาหาร ผมร่วงได้ แต่โดยปกติแล้วผลข้างเคียงก็มักจะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป

การนัดติดตาม
ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาตามแพทย์นัดภายหลังการรักษา แม้ว่าจะไม่มีอาการ เพราะมะเร็งอาจจะยังหลงเหลืออยู่ภายหลังการรักษาได้ แพทย์จะมีวิธีการดูว่ามะเร็งได้กลับมาอีกหรือไม่โดยการตรวจเลือด หรือการทดสอบอื่นๆ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) การอัลตราซาวน์ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อสร้างภาพ (MRI) เพื่อดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปที่คอ ปอด หรือกระดูกแล้วหรือไม่ และการนัดติดตามยังช่วยดูปัญหาอันเกิดขึ้นจากการรักษาอื่นๆอีกด้วย

แหล่งอ้างอิง

1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. Evidence-based clinical practice guideline ทางอายุรศาสตร์ 2548. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 4. 2548, 469-478.
2. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. Clinical practice guideline 2010 เล่มที่1. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553, 226-236.
3. ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546, 260-263.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย