ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 3615
Small_font Large_font

ถุงอัณฑะบิดขั้ว (Testicular torsion)

คำจำกัดความ

การพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย เริ่มจากตอนอยู่ในครรภ์มารดา ลูกอัณฑะจะเจริญเติบโตอยู่ในช่องท้อง และเมื่อใกล้คลอดหรือหลังคลอดไม่นาน ลูกอัณฑะจะเคลื่อนตัวลงมาในถุงอัณฑะโดยมีเส้นที่เชื่อมกับในช่องท้อง (เรียก spermatic cord) โดยเส้นนี้เป็นทางผ่านของเส้นเลือดแดงที่มาเลื้ยงลูกอัณฑะและเส้นเลือดดำที่นำเลือดเสียออกไปจากลูกอัณฑะ โรคลูกอัณฑะบิดขั้วเกิดจากการหมุนของลูกอัณฑะรอบเส้นนี้อย่างผิดปกติ

โรคอัณฑะบิดขั้วเป็นภาวะฉุกเฉินซึ่งพบได้เสมอของระบบสืบพันธุ์เพศชายในเด็ก การบิดขั้วของอัณฑะทำให้เกิดการขาดเลือดของอัณฑะข้างนั้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการนำคือปวดบริเวณอัณฑะอย่างเฉียบพลันและรุนแรงมาก ร่วมกับมีลักษณะบวม, แดง, ร้อน และกดเจ็บที่บริเวณถุงอัณฑะ ซึ่งแสดงว่ามีการอักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้น การวินิจฉัยโรคนี้ต้องทำอย่างรวดเร็วและรีบผ่าตัดแก้ไขให้ทันเวลา จะช่วยให้สามารถเก็บอัณฑะนั้นไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเข้าไปผ่าตัดแก้ไขการบิดขั้วช้าเกินไป จะทำอัณฑะขาดเลือดและตาย จนไม่สามารถเก็บอัณฑะไว้ได้ ต้องรักษาโดยการตัดอัณฑะข้างนั้นทิ้ง

โรคนี้สามารถพบได้ทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งอายุ 70 ปี อย่างไรก็ตาม จะพบได้บ่อยที่สุด 2 ช่วงอายุ คือ

  1. ช่วงแรกเกิด (Neonatal testicular torsion) : จะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนคลอดและหลังคลอดใหม่ๆ ภายใน 24-48 ชั่วโมง เกิดจากขณะที่คลอดอย่างรุนแรง ทำให้มีการบิดขั้วของอัณฑะเกิดขึ้น ทารกที่เกิดภาวะนี้จะไม่มีอาการกระสับกระส่ายหรือหายใจเหนื่อย แต่จะมีอาการเฉพาะที่คือ อัณฑะข้างที่บิดเกลียวจะโตขึ้นและแข็ง แต่ไม่มีอาการกดเจ็บ ส่วนใหญ่โรคอัณฑะบิดขั้วประเภทนี้มักจะทำให้ลูกอัณฑะข้างนั้นเกิดการขาดเลือดอย่างถาวร มักจะวินิจฉัยและรักษาไม่ทันเวลาที่จะรักษาลูกอัณฑะไว้ได้ ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่ คือ การผ่าตัดเอาลูกอัณฑะข้างที่บิดขั้วออก และเย็บตรึงอัณฑะด้านตรงข้ามเข้ากับผนังถุงอัณฑะ เพื่อป้องกันการบิดตัวเนื่องจากอีกข้างก็เสี่ยงที่จะเกิดการบิดขั้วได้เช่นกัน
  2. ช่วงวัยรุ่น ประมาณอายุ 12-18 ปี (Adolescence testicular torsion) : พบสูงสุดที่ช่วงอายุ 14 ปี โดยพบที่อัณฑะข้างซ้ายมากกว่าข้างขวาเป็นสองเท่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่อัณฑะข้างนั้นเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด, ช่วงแรกมักคลำได้แนววางตัวของอัณฑะเปลี่ยนไป เช่นอยู่ในแนวนอนมากกว่าเดิม ต่อมาจะมีอาการบวม, แดงและร้อนของถุงอัณฑะชัดเจนขึ้น โดยอาการปวดในถุงอัณฑะนั้นจะเกิดเร็วหรือช้าและปวดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน คือ
    • จำนวนรอบที่หมุนบิดเกลียว : การบิดขั้วมากหลายรอบจะทำให้ไม่มีเลือดมาเลี้ยงลูกอัณฑะทางเส้นเลือดแดงเลยทันที ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมาทันทีทันใด ในขณะที่ถ้ามีการบิดไม่มาก จะทำให้เส้นเลือดดำที่นำเลือดเสียออกจากลูกอัณฑะตันก่อน ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงลูกอัณฑะได้ตามปกติโดยผ่านทางเส้นเลือดแดงที่ไม่ถูกกด แต่เลือดเสียไม่สามารถออกจากลูกอัณฑะได้ ทำให้อาการปวดตอนแรกรุนแรงน้อยกว่าแล้วก็จะมีอาการปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
    • ระยะเวลาที่เกิดการบิด
    • การตอบสนองของเนื้อเยื่อต่อการขาดเลือด
    • ความอดทนต่ออาการปวดที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน

อาการ

ประกอบด้วย

  1. ปวดบริเวณลูกอัญฑะข้างใดข้างหนึ่งอย่างทันทีทันใดและรุนแรงมาก แต่บางรายอาจมีอาการปวดตอนแรกไม่มากและจะค่อยๆ ปวดมากขึ้นย่างรวดเร็วจนปวดอย่างรุนแรง ใน 4-6 ชั่วโมง อาการปวดที่ลูกอัณฑะอาจร้าวไปที่ขาหนีบหรือท้องน้อยได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติเคยปวดที่ลูกอัณฑะมาก่อนและหายเอง จากขั้วที่บิดคลายเองได้ อาการเป็นๆ หายๆ
  2. มีอาการบวมแดงร้อนที่ถุงอัณฑะข้างนั้น
  3. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  4. ตำแหน่งของลูกอัณฑะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ลูกอัณฑะจะอยู่สูงกว่าตำแหน่งเดิม

ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งมากและทันท่วงที ควรรีบไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที

สาเหตุ

เชื่อว่ามีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้น คือ

  1. พันธุกรรม : เชื่อว่าผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีปัจจัยทางพันธุกรรมติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้ลูกอัณฑะของผู้ชายคนนั้นอยู่อย่างอิสระมากขึ้น จึงมีโอกาสเกิดการบิดขั้วได้มากกว่าคนปกติ และมีโอกาสเกิดได้กับลูกอัณฑะทั้งสองข้าง
  2. ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น คือ อายุ (มักพบช่วง 10-25ปี) และเคยมีประวัติปวดที่ลูกอัณฑะเป็นๆ หายๆ ที่สงสัยว่าจะมีลูกอัณฑะบิดขั้วนำมาก่อน

การวินิจฉัย

ประวัติ : มีอาการปวดที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งมากและทันท่วงที
ตรวจร่างกาย

  • มีอาการบวมแดงร้อนที่ถุงอัณฑะข้างนั้น
  • ทำการทดสอบโดยใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยที่บริเวณต้นขาด้านใน ปกติจะพบว่าลูกอัณฑะข้างนั้นหดตัวสูงขึ้น แต่ในผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีการหดตัวของลูกอัณฑะตามปกติ
  • ใช้มือพยุงลูกอัณฑะให้สูงขึ้น จะมีอาการปวดที่ลูกอัณฑะข้างนั้นรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเลือดดำไหลออกจากอัณฑะได้น้อยลง จึงคั่งอยู่ในลูกอัณฑะมากขึ้น (ถ้าเป็นโรคลูกอัณฑะอักเสบจากการติดเชื้อ จะรู้สึกปวดน้อยลงตอนพยุง)

การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม : ไม่ต้องทำในผู้ป่วยทุกราย เพราะปกติโรคนี้จะวินิจฉัยโดยอาศัยประวัติและตรวจร่างกาย ถ้าค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติม จะนำผู้ป่วยไปรักษาโดยการผ่าตัดทันที จะได้ไม่เสียเวลาในการส่งตรวจเพิ่มเติม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าประวัติและตรวจร่างกายไม่ชัดเจน อาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมโดยการตรวจอัลตราซาวน์บริเวณอัณฑะข้างนั้น ในโรคนี้จะไม่เห็นว่ามีเลือดไหลเข้ามาเลี้ยงลูกอัณฑะข้างนั้นเลย ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรใช้เวลาตรวจเกิน 45-60 นาที เนื่องจากจะทำให้การรักษาล่าช้าไป และโอกาสรักษาอัณฑะในกรณีบิดขั้วมีน้อยลง
การผ่าตัดเพื่อหาสาเหตุของอาการปวด : ในผู้ป่วยบางรายการซักประวัติ, ตรวจร่างกายและอัลตราซาวน์ก็ยังไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดอัณฑะได้ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเข้าไปดูสาเหตุของอาการปวดลูกอัณฑะว่าเกิดจากอัณฑะบิดขั้วหรือจากสาเหตุอื่น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีโอกาสเก็บรักษาลูกอัณฑะไว้ให้ได้มากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้ลูกอัณฑะข้างนั้นขาดเลือดอยู่นานจนเกิดตายขึ้น ทำให้ต้องตัดลูกอัณฑะข้างนั้นทิ้ง ผลที่เกิดตามมาคือ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสมีบุตรได้น้อยลง

การรักษาและยา

การรักษาโรคนี้ทำได้อย่างเดียว คือ การผ่าตัดฉุกเฉิน ไม่มีการรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่น ยกเว้นบางรายที่อัณฑะบิดขั้วไม่กี่รอบ อาจสามารถคลายเกลียวได้เอง

การผ่าตัด สามารถลงมีดเพื่อเข้าไปสำรวจลูกอัณฑะได้ทั้งที่บริเวณขาหนีบและที่ถุงอัณฑะ เมื่อเปิดเข้าไปพบลูกอัณฑะที่บิดขั้วอยู่ ให้คลายเกลียวนั้นและสังเกตลักษณะของลูกอัณฑะ โดย

  • ถ้าอัณฑะกลับมามีสีปกติ แสดงว่าสามารถรักษาอัณฑะข้างนั้นไว้ได้ ก็จะไม่ตัดอัณฑะออก และทำการเย็บอัณฑะเข้ากับถุงอัณฑะเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ร่วมกับทำการเย็บที่อัณฑะอีกข้างด้วย เพื่อเป็นการป้องกันในอีกข้าง
  • ถ้าอัณฑะยังมีลักษณะของการขาดเลือด ไม่กลับมามีสีปกติ แสดงว่าอัณฑะข้างนั้นขาดเลือดมานานจนไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้แล้ว ก็จะรักษาโดยการตัดอัณฑะข้างนั้นทิ้งและเย็บอัณฑะข้างตรงข้ามเข้ากับถุงอัณฑะ ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันโรคอัณฑะบิดขั้วในอีกข้าง

การผ่าตัดเข้าไปสำรวจดูอัณฑะต้องทำอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากยิ่งทำการแก้ไขคลายเกลียวได้เร็ว จะ
ทำให้ยิ่งมีโอกาสเก็บรักษาลูกอัณฑะข้างนั้นไว้ได้ โดยผลการรักษาจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกิดอาการก่อนได้รับการรักษาที่เหมาะสมมากที่สุด คือ พบว่า ถ้าสามารถผ่าตัดแก้ไขหลังเกิดอาการ

  • ภายใน 6 ชั่วโมง : จะสามารถรักษาอัณฑะได้ร้อยละ 92
  • ภายใน 6-12 ชั่วโมง : จะสามารถรักษาอัณฑะได้ร้อยละ 62
  • มากกว่า 24 ชั่วโมง : โอกาสที่จะเก็บอัณฑะข้างนั้นไว้ได้ มีได้เพียงร้อยละ 11 เท่านั้น

แหล่งอ้างอิง

  1. WWW.mayoclinic.com
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Testicular_torsion
  3. http://emedicine.medscape.com/article/778086-overview
  4. http://emedicine.medscape.com/article/438817-overview


27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย