ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 264
Small_font Large_font

ซิฟิลิส (Syphilis)

คำจำกัดความ

โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อทางการมีเพศสัมพันธ์ โรคซิฟิลิสจึงจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง โรคนี้เริ่มจากมีแผลที่อวัยวะเพศ, ปากหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ถ้าไม่รักษาเชื้อโรคจะกระจายไปทั่วร่างกายและสามารถทำลายอวัยวะต่างๆ ได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว ทำให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ในระยะแรก จะทำให้สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ด้วยยาฆ่าเชื้อ
ถ้าคุณเคยได้รับเชื้อซิฟิลิสมาก่อน และได้รับการรักษาจนหายขาดแล้ว คุณไม่ได้มีภูมิคุ้นกันต่อเชื้อนี้ตลอดไปเหมือนการติดเชื้อไวรัสอื่น เช่น โรคอีสุกอีใส ดังนั้นถ้าคุณได้รับเชื้อนี้อีก คุณก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคซิฟิลิสอีก

อาการ

โรคซิฟิลิสแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ แต่ละระยะผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกัน คือ
1.ระยะที่ 1 : เกิดหลังจากได้รับเชื้อก่อโรค 10 วันถึง 3 เดือน อาการประกอบด้วย
-เป็นแผลที่อวัยวะเพศหรืออวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย แผลมักเป็นแผลเดี่ยว (แต่อาจพบแผลอยู่ที่ 2 ข้างของลูกอัณฑะหรือแคมใหญ่ได้) , มักมีรูปร่างกลม, ขอบแข็ง, พื้นแผลสะอาด และไม่เจ็บเลย
-มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต 1-2 ข้าง
-ถ้าตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อซิฟิลิสในระยะนี้ จะยังไม่พบเนื่องจากแผลในโรคซิฟิลิสไม่มีอาการเจ็บและแผลจะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ผู้ป่วยจึงมักไม่ไปพบแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยมีเชื้อโรคนี้แฝงอยู่ในร่างกาย และบางคนอาจดำเนินโรคจนเข้าสู่ระยะที่ 2 ต่อไป
2.ระยะที่ 2 : เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสเข้าสู่กระแสเลือด เกิดขึ้นประมาณ 2-10 สัปดาห์หลังมีแผล โดยผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้
-มีไข้ต่ำๆ
-ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
-อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
-เจ็บคอ
-มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว
-มีผื่นตามตัว
ในระยะนี้จะตรวจพบภูมิต้านทานต่อเชื้อซิฟิลิสในกระแสเลือดได้
หลังจากแสดงอาการเหล่านี้แล้ว อาการจะหายไปได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์
3.ระยะที่ 3 : เป็นระยะที่มีการติดเชื้อแฝงโดยผู้ป่วยไม่มีอาการอะไร แต่ตรวจพบภูมิต้านทานต่อเชื้อซิฟิลิสในกระแสเลือด และสามารถแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ ผู้ป่วยจะอยู่ในระยะนี้นานหลายปี ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะที่ 4 ต่อไปถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
4.ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่เชื้อซิฟิลิสกระจายไปทั่วร่างกายและทำลายอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่สมอง เกิดหลังจากได้รับเชื้อและไม่ได้รักษา ประมาณ 1-20 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้
-กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กันหรือไม่เคลื่อนไหวตามที่ต้องการ
-แขนขาชา
-แขนขาอ่อนแรง
-การมองเห็นลดลงอย่างช้าๆ จนตาบอดในที่สุด
-สมองเสื่อม
คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อซิลิฟิส ในกรณีต่อไปนี้
มีอาการแผลที่อวัยวะเพศ, มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต, มีผื่นกระจายทั่วตัว และอาการอื่นๆ ด้านบนที่เข้าได้กับโรคนี้
คู่ครองหรือคนที่คุณมีเพศสัมพันธ์ด้วย มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
เมื่อคุณป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น โรคหนองใน, ติดเชื้อโรคเอดส์ เป็นต้น

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Treponema pallidum โดยเราสามารถติดเชื้อนี้ได้โดย
-การสัมผัสกับแผลของคนที่มีเชื้อซิฟิลิสอยู่โดยตรงระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ : เป็นวิธีการติดต่อของโรคที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อซิฟิลิสที่แผลของผู้ป่วยจะเข้าสู่ร่างกายของอีกคนทางแผลถลอกที่ผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ เช่น ทางปาก ดังนั้นโรคซิฟิลิสจึงถือว่าเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง
-ได้รับเชื้อทางการรับเลือดที่มีเชื้อซิฟิลิสอยู่
-ทารกได้รับเชื้อจากมารดาที่มีเชื้อซิฟิลิสอยู่ ทำให้ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสตั้งแต่แรกเกิดเนื่องจากเชื้อซิฟิลิสนี้ตายได้ง่ายเวลาโดนแสง, ลม หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ทำให้เราจะไม่ติดโรคซิฟิลิสทางการใช้ห้องน้ำ, ผ้าเช็ดตัว, แก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วย หรือการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำเดียวกัน
จากวิธีการที่เราสามารถได้รับเชื้อซิฟิลิสดังกล่าว ดังนั้นคนที่มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้สูง คือคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่ครองของเราโดยไม่ได้ป้องกัน, การมีคู่ครองหลายคน ,การที่เพศชายมีเพศสัมพันธ์กับเพศชายด้วยกัน
,การที่คนป่วยเป็นโรคเอดส์อยู่แล้ว

การวินิจฉัย

1. การซักประวัติ : ถ้าตอนที่มาพบแพทย์ไม่มีแผลแล้ว แพทย์อาจถามย้อนไปว่าที่ผ่านมาเคยมีแผลที่อวัยวะเพศที่เข้าได้กับโรคนี้หรือไม่
2. การตรวจร่างกาย : ถ้ามาพบแพทย์ในระยะที่ 1 แพทย์จะตรวจพบลักษณะแผลที่เข้าได้กับโรคนี้และให้การรักษาได้เลย แต่ถ้าตอนมาพบแพทย์อยู่ในระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะตรวจร่างกายแล้วปกติ ต้องอาศัยการตรวจเลือดช่วยในการวินิจฉัย
3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม : ประกอบด้วย
3.1 การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างต่อเชื้อซิฟิลิส ซึ่งสามารถอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี
3.2 การขูดน้ำเหลืองจากแผลมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะตรวจพบเชื้อซิฟิลิสได้
3.3 ในผู้ป่วยระยะที่ 4 ที่มีการติดเชื้อลามไปที่เยื่อหุ้มสมอง แพทย์จะทำการเจาะหลังเพื่อนำน้ำไขสันหลังมาตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
ในปัจจุบันนอกจากจะทำการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคแล้ว ยังมีนโยบายให้มีการตรวจเลือดหาการติดเชื้อซิฟิลิส
ในผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกราย เพื่อคัดกรองหาการติดเชื้อและให้การรักษา เพื่อลดผลต่อทารกในครรภ์

ภาวะแทรกซ้อน

1.ในระยะที่ 4 ของโรคซิฟิลิส เชื้อซิฟิลิสจะทำลายอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น
-เชื้อทำลายระบบประสาท : เช่น เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก, เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อซิฟิลิส, แขนขาชาหรืออ่อนแรง, สมองเสื่อม, เป็นใบ้, ตาบอด เป็นต้น
-เชื้อทำลายระบบหัวใจและหลอดเลือด : เช่น มีการอักเสบและโป่งพองของเส้นเลือดแดงต่างๆ ในร่างกาย, โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ เป็นต้นการรักษาผู้ป่วยที่อวัยวะถูกทำลายแล้ว จะช่วยป้องกันไม่ให้การทำลายมากขึ้นได้ แต่ไม่สามารถทำให้อวัยวะส่วนที่ถูกทำลายไปแล้วกลับมาเป็นปกติได้อีก
2.เพิ่มโอกาสในการได้รับเชื้อ HIV มากกว่าคนอื่น 2-5 เท่า : เพราะแผลที่อวัยวะเพศจากโรคซิฟิลิสมีเลือดออกได้ง่าย ทำให้เชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่เป็นแผลได้ง่ายขึ้น
3.ถ้าคุณมีเชื้อซิฟิลิสอยู่ในร่างกายในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เชื้อจะผ่านรกไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ทำให้มีผลต่อทารกในครรภ์ได้ ประมาณร้อยละ 40 โดยมีอาการได้หลายแบบ คือ
-แท้ง
-คลอดก่อนกำหนด
-ทารกแรกเกิดตายคลอด โดยอาจตายทันทีหลังคลอดหรือไม่กี่วันหลังจากคลอด
-เด็กที่คลอดออกมีอาการผิดปกติ : เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นตั้งแต่แรกคลอด ส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการหลังคลอดประมาณ 3 เดือน จนถึงอายุ 2 ปี โดยจะมีอาการจมูกแบน, มีผื่นตามตัว, ตัวเหลืองตาเหลือง, ซีด, ไข้, มีการติดเชื้อที่สายสะดือ, มีตับม้ามโต เป็นต้น

การรักษาและยา

1. การฉีดยาฆ่าเชื้อ penicillin เข้ากล้ามเนื้อแค่ครั้งเดียว ก็สามารถฆ่าเชื้อซิฟิลิสได้ แต่ถ้าคุณแพ้ยานี้ แพทย์ก็จะพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อตัวอื่นแทน >> หลังได้ยาฆ่าเชื้อ ในวันแรกผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาต่อยานานไม่เกิน 1 วัน (Jarisch-Herxheimer reaction) โดยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น, คลื่นไส้, ปวดเมื่อยตามตัวและปวดศีรษะ
2. หลังได้ยาฆ่าเชื้อแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาเจาะเลือดซ้ำที่ 6 และ 12 เดือน เพื่อดูว่าเชื้อหายไปจากร่างกายหรือยัง
3. ในระหว่างที่แพทย์ยังไม่ยืนยันว่าหายจากโรค คุณควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือควรใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน
4. แนะนำให้ผู้ป่วยพาคู่นอนมาตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิสด้วย
5. แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคเอดส์ เพื่อจะได้ให้การรักษาตั้งแต่ระยะต้นๆ
การป้องกันโรคซิฟิลิส สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น – การมีคู่ครองแค่คนเดียว หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ – ถ้าไม่ทราบว่าคู่นอนของคุณมีโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย penicillin

แหล่งอ้างอิง

  1. WWW.mayoclinic.com
  2. เสวก วีระเกียรติ และสฤกพรรณ วิไลลักษณ์ , บรรณาธิการ. ตำรานรีเวชวิทยา. กรุงเทพฯ : บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2550 ; 183-210.


27 พฤษภาคม 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย