ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 10129
Small_font Large_font

เจ็บคอ (sorethroat)

คำจำกัดความ

อาการเจ็บคอเป็นอาการที่เกิดบริเวณส่วนที่เชื่อมระหว่างปากและกล่องเสียง ที่เรียกว่า ลำคอ เกิดการอักเสบขึ้นมา โดยส่วนมากอาการเจ็บคอมักเกิดร่วมกับอาการหวัด, การติดเชื้อในทางเดินหายใจ, ต่อมทอลซิลอักเสบ เป็นต้น

อาการเจ็บคออาจมีสาเหตุได้จากหลายประการ แต่ที่พบบ่อยได้แก่ พวกที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้
หวัด , คอและต่อมทอนซิลอักเสบ ในกรณีที่เป็นเรื้อรังอาการนั้นอาจเกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้, มะเร็ง โรคที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ คือ การอักเสบของคอและต่อมทอนซิลซึ่งมักจะมีอาการเจ็บคอร่วมกับไข้, ไอ , กลืนเจ็บ , ปวดหัว , ปวดเมื่อยตามตัวบางครั้งอาจมีปวดร้าวหู ในเด็ก ๆ อาจไม่ค่อยยอมทานอาหาร

อาการเจ็บคอเรื้อรัง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย อาการนี้เป็นที่น่ารำคาญแก่ผู้ป่วย และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์บ่อยครั้ง เนื่องจากอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ หลายชนิดเป็นระยะเวลานาน สิ่งสำคัญในการรักษา คือต้องหาสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังให้พบ และรักษาตามสาเหตุ อาการจึงจะดีขึ้น และมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นอีก การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรัง จำเป็นต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจจมูก ไซนัส ช่องคออย่างละเอียด ส่วนใหญ่แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจจมูก ไซนัส ช่องคอ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังที่ถูกต้อง

สาเหตุ

  1. ถ้าเจ็บข้างในคอ สาเหตุประกอบด้วย
    • 1.1 เจ็บในคอหอย ทำให้กลืนอาหาร หรือกลืนน้ำ กลืนน้ำลาย แล้วเจ็บ บางทีอยู่เฉยๆ ก็เจ็บ แต่เมื่อกลืนอาหารหรือน้ำแล้วมักเจ็บมากขึ้น บางคนอยู่เฉยๆ แล้วเจ็บคอหรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ แต่ถ้ากลืนน้ำแล้วอาการเจ็บคอดีขึ้น ในกรณีหลังนี้แสดงว่าคอแห้งมาก ถ้าหมั่นจิบน้ำหรือดื่มน้ำบ่อยๆ แล้วอาการเจ็บคอจะดีขึ้น
    • 1.2 เจ็บในหลอดลม ทำให้มีอาการคันคอหรือระคายคอ หรือแสบคอลึกๆ มักร่วมด้วยอาการไอ เสียงแหบหรือเสียงผิดปกติ ถ้าเป็นมากๆ จะแสบลึกลงไปกลางอก และมีอาการไอมากหรือมีอาการหอบด้วย
    • 1.3 จุดแน่นในคอบริเวณลูกกระเดือกหรือใต้ลูกกระเดือก แต่ไม่เจ็บเวลากลืนหรือดื่มน้ำ และไม่มีอาการไอหรือเสียงแหบ และไม่มีอาการกดเจ็บจากภายนอก และไม่มีอาการเจ็บเวลาเอี้ยวคอไปมาหรือเวลาก้มคอเงยคอ อาการเช่นนี้มักจะเป็นอาการจุกหรือแน่นในคอ หรือเป็นอาการคล้ายกลืนอาหารลงไปแล้วติดอยู่กลางคอ หรือเป็นอาการแน่นในคอคล้ายจะหายใจไม่ออก ควรนั่งพักและหายใจลึกๆ สัก 4-5 ครั้ง หรือดื่มน้ำอุ่นๆ สัก 2-3 อึก ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน ½ -1 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์ ถ้าอาการดีขึ้น ให้คอยสังเกตว่าอาการเช่นนี้เกิดขึ้นอีกไหม และเกิดหลังการออกกำลังกายหรือหลังอาการโกรธ ตื่นเต้น หรือเครียด และพอนั่งพักสักครู่ อาการก็หายไปหรือไม่ ถ้าใช่ อาจจะเป็นอาการจุกแน่นหรือเจ็บในคอจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    • 1.4 เจ็บในหลอดอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นแบบเจ็บๆ แสบๆ หรือแสบร้อนมาก ตั้งแต่กลางคอลงไปถึงกลางอก ตรงตำแหน่งเดียวกับที่เราเกิดอาการแสบร้อนเวลากลืนอาหารหรือน้ำร้อนๆ ลงไป ซึ่งลักษณะอาการเช่นนี้ มักจะแสดงว่าหลอดอาหารอักเสบ อาการเจ็บในหลอดอาหาร อาจจะเป็นอาการจุกแน่นคล้ายหัวข้อ 1.3 แต่ต่างกันที่อาการจุกแน่นนี้มักจะเกิดหลังกินอาหาร และมักมีอาการกลืนไม่ค่อยลง ทำให้รู้สึกคล้ายติดคอ บางครั้งก็มีอาการอาเจียนเอาอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปหรือกินเข้าไปนานแล้วออกมาด้วย ถ้าเป็นมาก จะกลืนอาหารไม่ได้เลย และอาจจะกลืนน้ำไม่ได้ด้วย ซึ่งลักษณะอาการเช่นนี้ แสดงว่าหลอดอาการตีบหรือตัน ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้อง
    • 1.5 เจ็บในกล้ามเนื้อ ในข้อหรือในกระดูก ซึ่งอาจเป็นอาการเจ็บข้างในคอ (คือ รู้สึกเจ็บลึกๆ อยู่ข้างใน) หรืออาจเป็นอาการเจ็บแบบข้างนอกคอ (คือ รู้สึกเจ็บเวลาเอามือไปจับไปกด แต่บางครั้งเวลาเอามือไปจับ ไปกด หรือไปบีบนวดแล้ว อาการกลับดีขึ้น) อาการเจ็บในกล้ามเนื้อ ในข้อหรือในกระดูกนี้ มักจะมีอาการมากขึ้นเวลาเอี้ยวคอไปอยู่ในท่าหนึ่ง และมักจะมีอาการน้อยลงเมื่อเอี้ยวคอไปอยู่ในอีกท่าหนึ่ง
    • 1.6 เจ็บร้าวมาจากที่อื่น เช่น อาการปวดศีรษะแล้วร้าวมาที่คอ อาการเจ็บอกแล้วร้าวมาที่คอ (หัวข้อ1.3) อาการปวดหูแล้วร้าวมาที่คอ เป็นต้น
    • ถ้าเจ็บข้างนอกคอ เช่น เจ็บที่ผิวหนัง อาจเป็นผื่นแดง ตุ่ม ตุ่ม พอง ฝี หรือ เป็นก้อนที่คลำได้ใต้ผิวหนัง ซึ่งมักจะเป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น ซึ่งอาจจะเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ หรือเป็นอาการเจ็บในกล้ามเนื้อในข้อหรือในกระดูก (หัวข้อ 1.5) หรือร้าวมาจากที่อื่น (ในหัวข้อ 1.6)
    • สาเหตุจากการติดเชื้อ
    • การติดเชื้อไวรัส คือ สาเหตุหลักที่ทำให้คนเป็นไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บคอมากที่สุด โดยปกติถ้าร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้ ก็จะหายเป็นหวัดเองภายในหนึ่งสัปดาห์ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และน้ำมูกไหล นอกจากนี้ อาการเจ็บคออาจเกิดจากโรคปอดบวม จากเชื้อไวรัส หรือ โมโนนิวคลีโอซิส 90% ของคนที่เกิดอาการเจ็บคอมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งการแยกสาเหตุของการเจ็บคอว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัสนั้นจะสามารถติดต่อกันได้ ผ่านทางการสัมผัสกัน การไอหรือการจาม โดยส่วนมากอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสนี้จะมาพร้อมกับอาการเป็นหวัด ซึ่งจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เจ็บคอ ร่วมกัน และ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
    • ไวรัสชื่อ Adenoviruses เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการเจ็บคอ โดยไวรัสชนิดนี้มักทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณปอดและหู และทำให้เกิดอาการต่อต่อมทอลซิล และ คอ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และ อาการผื่นแพ้ อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อ Adenoviruses จะมีอาการอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
    • ไวรัส Coxsachie virus ก็เป็นไวรัสอีกตัวที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอาการเจ็บคอ นอกจากนี้ยังเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งส่วนมากจะเกิดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี และเกิดมากในช่วงฤดูร้อนที่เรียกว่า อาการเจ็บคอหน้าร้อน (Summer sore throat) โดยอาการจะค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากมีอาการไข้ขึ้นสูงร่วมด้วย
    • หรือการติดเชื้อ Epstein-Barr virus ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่ม Herpesvirus โดยส่วนมากจะมีผลต่อระบบต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดการขยายขนาดของต่อมทอลซิล และ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ และ ขาหนีบ นอกจากนี้ยังมีผลต่อตับ ทำให้เกิด ดีซ่านได้ ( ตัวเหลือง , ตาเหลือง ) อาการจากเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการอยู่ประมาณ 1-4 สัปดาห์ อาการจะรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อในวัยรุ่น หรือ วัยกลางคน แต่อาการจะน้อยหากเกิดการติดเชื้อในเด็ก
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย พบน้อยกว่าการติดเชื้อไวรัส แต่อาการอาจรุนแรงกว่ามาก ส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 2-7 วัน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-25 ปี จะติดเชื้อกันง่าย ทั้งทางน้ำมูก และเสมหะ นอกจากนี้ ยังติดต่อทางอาหาร นม และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส

สาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรัง

  • 1.โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ โรคนี้เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นทำให้เยื่อบุจมูกบวม ทำให้คัดจมูกเรื้อรัง ต้องอ้าปากหายใจ ทำให้เยื่อบุลำคอแห้ง มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนี้โรคนี้ยังทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอ ระคายคอตลอดเวลา ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
  • 2.โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคนี้จะทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้ต้องหายใจทางปากตลอด เกิดเยื่อบุลำคอแห้ง มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนั้นสารคัดหลั่งจากไซนัสและจมูกที่อักเสบที่ไหลลงคอ จะทำให้มีอาการอักเสบ ระคายเคืองของผนังคอ ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
  • 3.การติดเชื้อของลำคอ และ/หรือต่อมทอนซิลเรื้อรัง เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งดื้อต่อยาต้านจุลชีพที่รับประทาน หรือเกิดจากผู้ป่วยรับประทานยาต้านจุลชีพไม่ครบตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น หรือมีแหล่งของเชื้อโรคอยู่ในช่องปาก เช่น มีฟันผุ หรือโรคเหงือก นอกจากนั้นการติดเชื้อบางชนิดอาจทำให้เจ็บคอเรื้อรังได้ เช่น การติดเชื้อราบางชนิด, เชื้อวัณโรค, เชื้อโรคเรื้อน หรือเชื้อซิฟิลิส อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อดังกล่าวนี้พบได้น้อย
  • 4.โรคผนังช่องคอ และ/หรือสายเสียงอักเสบเรื้อรัง จากการระคายเคืองจากการสัมผัสกับฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด หรือเกิดจากการใช้เสียงผิดวิธี หรือเกิดจากการไอเรื้อรัง ทำให้มีการกระแทกกันของสายเสียง และมีการใช้กล้ามเนื้อของผนังคอมากเกินไป
  • 5.โรคกรดไหลย้อน ซึ่งกรดอาจไหลย้อนขึ้นมาที่ผนังคอ ทำให้เยื่อบุและกล้ามเนื้อของผนังคอมีการอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนติด กลืนลำบาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลาร่วมด้วย
  • 6.โรคเนื้องอกของคอและกล่องเสียง เนื้องอกอาจไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยมักมีอาการ กลืนลำบาก น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาจมีเสมหะปนเลือด หรือปวดร้าวไปที่หูได้
  • 7.โรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคอ (neuralgia) เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (glossopharyngeal nerve) ซึ่งอาจมีการกระตุ้น หรือการระคายเคืองของเส้นประสาทดังกล่าว ทำให้มีอาการเจ็บคอเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆได้อาการปวดมักจะเริ่มจากผนังคอ แล้วร้าวไปยังหู คอ และศีรษะนานเป็นวินาที มักกระตุ้นโดยการกลืน การหาวนอน การเคี้ยว และการไอ
  • 8.สิ่งแปลกปลอม เช่น ก้างปลา กระดูกชิ้นเล็กที่คาอยู่ในผนังลำคอ ต่อมทอนซิล หรือโคนลิ้น เป็นระยะเวลานาน จะทำให้บริเวณดังกล่าวอักเสบเกิดการติดเชื้อ ทำให้เจ็บคอเรื้อรังได้ อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้น้อย

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

  • มีไข้ 38.3 องศาเซลเซียส ขึ้นไปโดยไม่มีอาการหวัด
  • มีจุดขาวๆบนต่อมทอนซิล หรือ มีหนองในต่อมทอลซิล
  • กลืนอาหารหรือหายใจลำบากมาก
  • มีผื่น
  • มีการติดเชื้อเมื่อเร็วๆ นี้
  • เสียงแหบหรือต่อมน้ำเหลืองโตอยู่นานกว่า 3 สัปดาห์
  • หากพบปัญหาในเรื่องของการกลืน
  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 4 วัน
  • ต่อมที่คอมีอาการบวม
  • มีอาการคอแข็ง ปวดหัวอย่างรุนแรง
  • มีอาการปวดหู
  • มีแผลในปากติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์
  • เวลาไอมีเสมหะ เป็นสีเขียวหรือเหลือง

การรักษาอาการเจ็บคอ

รักษาตามสาเหตุ และควรปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสจัด หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว ควรพยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก, น้ำเกลืออุ่น ๆ หรือน้ำเปล่าหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากการที่ไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี อาจมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ ทำให้เจ็บคอมากขึ้นได้

การดูแลรักษาตนเองเพื่อบรรเทาอาการ

เนื้อเยื่อที่อักเสบและระคายเคือง ต่อมน้ำเหลืองที่บวม และเสียงที่แหบต่างเป็นผลมาจากการที่ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อ เป้าหมายของการดูแลรักษาตนเองเพื่อบรรเทาอาการ เพื่อขจัดสิ่งระคายเคืองและลดความรู้สึกไม่สบายจากอาการเจ็บคอ ในขณะที่ร่างกายกำลังรักษาตัวเองอยู่

  • 1. ดื่มน้ำมากขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า น้ำจะช่วยให้เสมหะเหนียวน้อยลง และขับออกง่ายขึ้น
  • 2. ปรับสภาพอากาศให้ชื้นขึ้นเล็กน้อย เช่น หาอ่างใส่น้ำมาวางบริเวณที่ร้อน หรือปลูกต้นไม้ในบ้าน เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศที่แห้ง จะช่วยให้เยื่อเมือกในช่องคอไม่แห้ง (เมื่อช่องคอแห้ง จะทำให้ระคายคอ และนอนไม่หลับ)
  • 3. หลีกเลี่ยงควันและมลพิษต่างๆ งดสูบบุหรี่ รวมทั้งสารระเหยจากน้ำยาทำความสะอาดในบ้าน หรือสีทาบ้าน เพราะจะยิ่งทำให้เจ็บคอมากขึ้น
  • 4. หลีกเลี่ยงอาหารก่อพิษ เช่น ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ อาหารที่มีน้ำตาลสูงจำพวกเค้ก ขนมหวาน เพราะจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดต่อมทอนซิลอักเสบ และโรคติดเชื้ออื่นๆ อันเป็นสาเหตุของการเจ็บคอ
  • 5. ใช้เสียงให้น้อยลง เมื่ออาการเจ็บคอลุกลาม จนทำให้กล่องเสียงอักเสบ จนทำให้ระคายคอมากเวลาพูด หรือเสียงหายไปชั่วขณะ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และให้ความอบอุ่นกับร่างกายเยอะๆ
  • 6. หยุดสูบบุหรี่/ดื่มน้ำมากๆ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองเพื่อลดอาการระคายคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุหรี่ ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว เพื่อช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับคอที่่เจ็บอยู่
  • 7. จิบยาแก้ไอ อมยาแก้เจ็บคอ เราอาจเพิ่มความชุ่มชื้น และช่วยลดอาการระคายจากอาการเจ็บคอได้โดยการอมยาอมแก้เจ็บคอ จิบยาน้ำแก้ไอ หรือแม้แต่อมลูกกวาดได้ตามต้องการ
  • 8. น้ำยากลั้วคอ เพื่อลดอาการระคายคอ อาจทำโดยกลั้วคอ ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (เกลือ 1/4 ช้อนชา ละลายในน้ำอุ่นครึ่งแก้ว) หรือกลั้วคอด้วยสารละลายที่มีฤทธิ์ทำให้ชาทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
  • 9. รับประทานยาแก้ปวด/ยาแก้แพ้ ถ้ามีอาการเจ็บคอมาก อาจรับประทานยาแอสไพริน หรืออเซตามิโนเฟน หรือ ไอบูโพรเฟน ถ้าสาเหตุเกิดจากอาการแพ้ ควรรับประทานยาแก้แพ้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย

แหล่งอ้างอิง

1. ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. Manual of medical diagnosis. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552, 1-4.
2. สุภาวดี ประคุณหังสิต, บรรณาธิการ. ตำราโสต ศอ นาสิกวิทยา. กรุงเทพฯ : บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. ฉบับเรียบเรียงใหม่ครั้งที่1. 2550, 376-384.



18 มีนาคม 2554 29 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย