ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 502

โรคเอส แอล อี (SLE)

คำจำกัดความ

โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) หรือโรคลูปัส เป็นโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะต่างๆ หรือระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป โดยแทนที่จะทำหน้าที่ต่อต้านกับสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคจากภายนอกร่างกาย กลับมาต่อต้านหรือทำลายเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของตนเอง เช่น เกิดข้ออักเสบ ผื่นผิวหนัง
ไตอักเสบ ความผิดปกติของเม็ดเลือด เยื่อหุ้มปอด/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความรุนแรง และการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ามีความผิดปกติที่ระบบใด พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 9-10 เท่า และมักพบในช่วงวัยเจริญพันธ์

อาการ

สัญญาณและอาการอาจเกิดขึ้นทันทีหรือค่อยๆเกิดขึ้น เป็นเล็กน้อยหรือรุนแรง เป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
โดยผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการผิดปกติในหลายๆระบบร่วมกัน
อาการที่พบบ่อยที่สุดคืออาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และอาการซีดตามลำดับ
อาการและอาการแสดง ได้แก่

  1. อาการทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
  2. ระบบข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบเรื้อรัง ข้อติดแข็งและบวม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  3. ระบบผิวหนังและเยื่อบุช่องปาก เช่น ผื่นรูปผีเสื้อที่แก้มสองข้างข้ามสันจมูก แต่ไม่เกิดบริเวณร่องแก้ม รอยโรคที่ผิวหนังแย่ลงเมื่อสัมผัสแสงแดด มีแผลในปาก ผมร่วง ภาวะนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าซีดเขียวจากภาวะหลอดเลือดหดตัวหลังจากโดนอากาศเย็น
  4. อาการทางไต เช่นปัสสาวะเป็นฟอง มีอาการบวมที่ขาหรือหนังตาในขณะตื่นนอนตอนเช้า
  5. อาการทางระบบเลือด เช่น ภาวะซีด มีจุดเลือดออกตามตัวจากภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ติดเชื้อง่ายจากการที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ
  6. อาการทางระบบประสาท เช่น มีปัญหาด้านความจำ มีความผิดปกติทางอารมณ์ อาการชัก
  7. อาการทางหัวใจและปอด เช่น เยื่อหุ้มปอด โดยอาการแสดงคือเจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าสุด ตรวจพบมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจะมีอาการเจ็บหน้าอก มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เหนื่อยง่าย

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริง แต่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่าพบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
โดยเริ่มจากการที่มีพันธุกรรมที่เอื้อต่อการเกิดโรค ร่วมกับมีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมทีีมากระตุ้นอย่างพอเหมาะ เช่น แสงแดด ฮอร์โมนเพศหญิง ยาบางชนิด การติดเชื้อไวรัส และสารเคมีในสิ่งแวดล้อม

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยค่อนข้างยาก เนื่องจากอาการและอาการแสดงแตกต่างกันในแต่ละคน และอาการของโรคเอสแอลอีเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและทับซ้อนกับอาการของโรคอื่นได้

การวินิจฉัยในปัจจุบันใช้เกณฑ์ของ American College of Rheumatology ซึ่งประกอบไปด้วยอาการทางคลินิก และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยผู้ป่วยควรมีจำนวนข้อที่เข้าได้อย่างน้อย 4 ข้อ ใน 11 ข้อ ได้แก่

  • มีผื่นที่ใบหน้ารูปผีเสื้อ (Malar rash)
  • มีผื่นนูนแดงเป็นสะเก็ด (Discoid rash)
  • ผื่นผิวหนังไวต่อแสงแดด (photosensitivity)
  • แผลที่เพดานปาก (oral ulcer)
  • มีข้ออักเสบ บวม แดง ร้อน อย่างน้อย 2 ข้อ
  • เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • เป็นโรคไต โดยตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 0.5 กรัมต่อวัน หรือตรวจพบแคสเม็ดเลือด (RBC cast)
  • มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก มีอาการทางจิต
  • ความผิดปกติทางเม็ดเลือด เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ
  • ตรวจพบ Antinuclear antibody ซึ่งบ่งชี้ถึงโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน
  • ตรวจพบ double-stranded anti-DNA หรือAnti-Sm หรือAntiphospholipid antibody

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในร่างกาย ได้แก่

  • ไต ทำให้ไตอักเสบ ไตวาย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • ระบบประสาท ทำให้ปวดหัว มึนงง พฤติกรรมเปลี่ยน ประสาทหลอน ชัก การรับรู้บกพร่อง เช่น สับสนมึนงง สูญเสียความทรงจำ อธิบายความคิดของตนลำบาก
  • เลือดและหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะซีด เพิ่มความเสี่ยงของการเลือดไหลไม่หยุด หลอดเลือดอักเสบ
  • ปอด ทำให้เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
  • หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลอดเลือดหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • ติดเชื้อง่าย
  • มะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง Non-Hodgkin’s lymphoma และมะเร็งปอด ยากดระบบภูมิคุ้มกันที่ใช้รักษาก็เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็ง
  • เนื้อเยื่อกระดูกตาย เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะที่ข้อสะโพก
  • ภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ

การรักษาและยา

การรักษาโรคเอสแอลอี จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคของผู้ป่วย และการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องของผู้ป่วยร่วมด้วย
ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง การรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และติดตามการดำเนินโรคเป็นระยะๆ
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแรงขึ้น อาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน โดยขนาดยา และระยะเวลาการให้ยาขึ้นกับความรุนแรงของโรค และอวัยวะที่มีความผิดปกติ

ยาที่นิยมใช้รักษาโรคเอสแอลอี ได้แก่

  • ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs)
  • ยาต้านมาเลเรีย (Antimalaria drugs)
  • ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroid)

ยารักษาโรคเอสแอลอีที่รุนแรง ได้แก่

  • ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง (High-dose corticosteroid)
  • ยากดระบบภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive drugs)

แหล่งอ้างอิง

  1. Mayo Clinic : Systemic lupus erythematosus [online].,Available from ; URL :http://www.mayoclinic.com/health/lupus/DS00115
  2. Dubois’s lupus erythematous 7th ed. Wallace DJ, Hahn BH, editors. Willium&Wilkins; Baltimore, 2007


27 พฤษภาคม 2553 19 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย