ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 528
Small_font Large_font

มะเร็งผิวหนัง (skin cancer)

คำจำกัดความ

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ป้องกันความร้อน แสงแดด การติดเชื้อและการบาดเจ็บ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เก็บน้ำ ไขมัน และสร้างวิตามินดี

ผิวหนังประกอบด้วยหลายชั้นย่อย แต่แบ่งเป็น 2 ชั้นใหญ่คือ ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) อยู่ชั้นนอกสุด และชั้นหนังแท้ (dermis) อยู่ด้านใน

มะเร็งผิวหนังที่เกิดจากชั้นหนังกำพร้า ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อ 3 ชนิดคือ

  1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า (Squamous cells) เป็นเนื้อเยื่อลักษณะแบนอยู่ส่วนบนสุดของชั้นหนังกำพร้า
  2. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า (Basal cells) เป็นเนื้อเยื่อลักษณะกลมอยู่ใต้ชั้นหนังกำพร้า (squamous cells)
  3. เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocytes) พบในส่วนล่างของชั้นหนังกำพร้า ทำหน้าที่ผลิตสารเมลานินซึ่งเป็นสารสร้างสีผิว

ถ้าผิวหนังถูกแสงแดด melanocyte จะผลิตเมลานินมากขึ้น ทำให้ผิวคล้ำขึ้น

มะเร็งผิวหนังสามารถเกิดขึ้นได้ที่ผิวหนังทั่วตัว แต่พบมากบริเวณที่ถูกแสงแดด เช่น หน้า คอ มือ แขน ดังนั้นมะเร็งผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจึงแบ่งชนิดเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า (basal cell carcinoma), มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า (squamous cell carcinoma) และมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (melanoma) โดยจะพบมะเร็งผิวหนังชนิดเกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า (basal cell) มากที่สุด

มะเร็งผิวหนังชนิด basal cell และ squamous cell เรียกรวมว่ากลุ่มมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ไม่สร้างเม็ดสี

มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า (basal cell carcinoma), มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า (squamous cell carcinoma) พบได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 60 – 80 ปี

ส่วนมะเร็งผิวหนังชนิดมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (melanoma) พบน้อยที่สุด แต่มีโอกาสกระจายไปเนื้อเยื่อข้างเคียงและที่อื่นๆได้มากกว่า

มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่สามารถพบได้เร็วกว่ามะเร็งชนิดอื่นเนื่องจากเห็นได้จากภายนอก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ธรรมชาติของมะเร็งผิวหนังจะขยายตัวค่อนข้างช้าอาจนานถึง 5-6 ปี แต่ถ้าไม่รักษาจะมีผลต่ออวัยวะใกล้เคียงไปจนถึงเกิด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

การพยากรณ์โรคขึ้นกับระยะของโรค ชนิดของมะเร็งผิวหนัง ขนาด ตำแหน่ง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย

มะเร็งผิวหนังชนิดเกิดจากเซลล์ไม่สร้างเม็ดสี ประกอบด้วย

  1. ผื่นแอคตินิค เคราโตซิล ( Actinic Keratisis = AKS ) เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ เป็นเนื้องอกของผิวหนังที่ไม่ใช่มะเร็ง โดยมีลักษณะเป็นผื่นขุยๆ มักพบบริเวณหน้า แขน ลำตัว หลังมือ หรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดมาก ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังชนิด squamous cell ได้
  2. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า ( Basal Cell Carcinoma = BCC ) เป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย เพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ มักเกิดการทำลาย เพราะบริเวณตำแหน่งที่เป็น ถ้าเป็นบริเวณใกล้เคียงอวัยวะที่สำคัญ เช่น ตา จมูก ปาก หู อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะนั้นได้ มะเร็งชนิดนี้มักพบบริเวณ หู จมูก ใบหน้า หน้าอก หลัง ลักษณะที่พบมีหลายแบบ
    • 2.1 เป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือ ชมพูใส มีขอบ อาจมีเลือดออกบ่อยๆ
    • 2.2 ลักษณะคล้ายสิว เป็นๆ หายๆ มักมีเลือดออก
    • 2.3 ลักษณะเป็นก้อนแบนแข็งติดกับผิวหนัง
    • 2.4 ลักษณะเป็นก้อนขุย มีสะเก็ดดำเลือดออก
อาการที่สำคัญ คือ มีการระคายเคืองบริเวณก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มีเลือดออก
  1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า ( Squamous Cell Carcinoma = SCC ) ลักษณะคล้ายกับมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า การลุกลามมักเร็วกว่ามะเร็งชนิดที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า มักจะลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ
    • มีสัญลักษณ์นูน แดง ผิวหนังแตกเป็นแผล เลือดออกง่าย
    • พบบ่อยบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ขอบใบหู
    • สามารถแพร่กระจายจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งได้
    • โตและขยายเป็นวงกว้างได้เร็วและลึกกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดแรก

ระยะของโรค
การกระจายของโรคไปได้ 3 ทางได้แก่มะเร็งโตเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างเคียงโดยตรง, กระจายไปทางต่อมน้ำเหลืองและไปทางเลือด แบ่งระยะของโรคดังนี้

  • ระยะที่ 0 พบเนื้อเยื่อผิดปกติไม่เกินชั้น basal
  • ระยะที่ 1 ก้อนเล็กกว่าหรือเท่ากับ 2 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 2 ก้อนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป
  • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งกระจายเข้า กล้ามเนื้อ กระดูกอ่อน กระดูก หรือต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
  • ระยะที่ 4 กระจายไปที่อื่นๆ

มะเร็งผิวหนังชนิดเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี ประกอบด้วย

  • มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี
  • มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี ( Malignant Melanoma ) ลักษณะคล้ายไฝดำหรือขี้แมลงวัน หรือ เป็นจุดดำบนผิวหนัง แต่จะกระจายอย่างรวดเร็วสู่อวัยวะภายใจสามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว มีความรุนแรงมากกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่ melanoma มีโอกาสกระจายเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และไปที่อื่นได้มากกว่า ในผู้ชายมักพบบริเวณลำตัว ศีรษะและลำคอ ผู้หญิงพบที่แขนขา พบมากในผู้ใหญ่ จัดเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงที่สุด สัญญาณอันตรายของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของผิว ของไฝหรือขี้แมลงวันเช่น มีการตกสะเก็ด ลอก หรือมีอาการปวด มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลเยิ้ม มีตุ่มนูนเกิดขึ้นข้าง ๆ มีการแพร่กระจายของเม็ดสีไปรอบ ๆ

ปัจจัยเสี่ยง

  • ไฝ ที่ผิดปกติ
  • สัมผัสกับแสงอาทิตย์หรือแสงอัลตราไวโอเลต
  • มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ชนผิวขาวและอายุมากกว่า 20 ปี ผมแดงหรือบรอนด์ ตาฟ้า

อาการแสดง

  • ไฝ โตเร็ว เปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนสี มีมากกว่า 1 สี ขอบไม่เรียบ ผิวไม่สม่ำเสมอ คัน มีเลือดน้ำเหลือง หรือแผล มีไฝเกิดขึ้นใหม่ใกล้ของเดิม
  • มีการเปลี่ยนสีของผิวหนัง

การวินิจฉัย

  1. ตรวจร่างกาย ดูลักษณะของก้อนและสี ขนาด รูปร่างของผิวหนังที่ผิดปกติ
    • ตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งอาจตัดบางส่วนหรือตัดทั้งก้อนก็ได้
    • Lymph node mapping and sentinel lymph node biopsy เป็นการตรวจต่อมน้ำเหลือง โดยฉีดสารกัมมันตภาพรังสีหรือสีย้อมเข้าในเส้นเลือดดำ สารเหล่านี้จะไหลไปตามทางเดินน้ำเหลืองและจับกับต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่มะเร็งจะกระจายไป หมอผ่าตัดจะนำต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้ไปตรวจ
    • เอ็กซ์เรย์ปอด, CT, MRI, PET scan

การพยากรณ์โรค
ขึ้นกับระยะของโรค ตำแหน่งของโรค มีแผลหรือเลือดออกที่ก้อน และสภาพร่างกายของผู้ป่วยร

ระยะของโรค

  • ระยะที่ 0 พบเนื้อเยื่อผิดปกติ ไม่ทะลุเกินชั้นหนังกำพร้า
  • ระยะที่ 1 หนา ≤ 1 mm. หรือหน้าน้อยกว่า 2 mm. โดยไม่มีแผล
  • ระยะที่ 2 ก้อนมากกว่าระยะที่ 1 ไม่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
  • ระยะที่ 3 ก้อนขนาดเท่าไรก็ได้ มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
  • ระยะที่ 4 กระจายไปยังอวัยวะอื่น

อาการ

  • แผลเรื้อรัง เจ็บ
  • บริเวณผิวหนังที่มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
    1. นูน เล็ก ผิวเรียบ มันเงา
    2. นูน เล็ก สีแดง หรือแดงน้ำตาล
    3. แบน ผิวขรุขระ สีแดง น้ำตาล เป็นเกล็ด
    4. เป็นเกล็ด และมีเลือดออก
    5. แผลเป็นแข็ง

สาเหตุ

  1. เกิดจากการถูกแสงแดดมากเกินไป แสงแดดซึ่งมีรังสีอัลตร้าไวโอเล็ท ในช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น.
  2. การระคายเคืองของสารเคมี เช่น การได้รับสารหนู ยาแผนโบราณ แหล่งน้ำ อาหาร
  3. การเป็นแผลเรื้อรังจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการทำลายยีนส์ที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังตามปกติ
  4. พันธุกรรม
  5. การถูกแสงเอกซเรย์ในปริมาณสูง
  6. แผลเป็นจากรอยไหม้

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค

  1. ผู้ที่ถูกแสงแดดมาก
  2. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง
  3. ผู้ที่มีผิวขาว และไวต่อการไหม้จากแสงแดด

การวินิจฉัย

  • ตรวจร่างกาย ดูลักษณะของก้อนและสี ขนาด รูปร่างของผิวหนังที่ผิดปกติ
  • ตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งอาจตัดบางส่วนหรือตัดทั้งก้อนก็ได้

ภาวะแทรกซ้อน

มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น การฉายแสง ได้แก่ มีเส้นเลือดฝอย (telanectasia), ผิวหนังบาง (skin atrophy), สีผิวผิดปกติ, กระดูกตาย, ผมร่วงและผิวหนังแห้ง

การรักษาและยา

มะเร็งผิวหนังชนิดเกิดจากเซลล์ไม่สร้างเม็ดสี ทางเลือกในการรักษา

  • การผ่าตัด
    1. Mohs microsurgery ผ่าตัดก้อนเป็นแผ่นบางๆทีละน้อยจนกว่าจะไม่พบมะเร็งโดยการตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ การผ่าตัดชนิดนี้จะผ่าเอาเนื้อเยื่อปกติออกน้อยที่สุด นิยมทำบริเวณหน้า
    2. Simple excision ผ่าปกติ
    3. Shave excision ใช้มีดโกนผ่าเป็นชั้นบางๆ
    4. Electrodesiccation and curettage ขูดโดยใช้เครื่องมือขูดร่วมกับการจี้ไฟฟ้า
    5. Cryosurgery จี้โดยใช้ความเย็น
    6. Laser surgery ใช้แสงเลเซอร์เป็นตัวตัด
    7. Dermabrasion เอาผิวหนังชั้นนอกออกโดยใช้ล้อหมุน
    8. การฉายแสง ใช้เอ็กซ์เรย์พลังงานสูงเพื่อกำจัดมะเร็ง มี 2 แบบได้แก่แบบฉายรังสีภายนอกและการฉายรังสีระยะโดยใช้เม็ดแร่ผ่านเข็มหรือเครื่องมือเข้าไปในตัวผู้ป่วย ในมะเร็งผิวหนังอาจใช้ Mold ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับใส่แร่ที่ใช้วางที่ผิวหนังปรับตามรูปร่างของตำแหน่งหรือใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์พลังงานต่ำเพื่อให้ได้รังสีเฉพาะบริเวณผิวหนัง การรักษาโดยการฉายแสงได้ผลการรักษาที่ดีและผลการรักษาด้านความสวยงามดี
    9. เคมีบำบัด โดยฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำทำให้สามารถออกฤทธิ์ได้ทั่วร่างกาย เคมีบำบัดอาจให้เฉพาะที่ได้ เช่นให้ในช่องท้อง ไขสันหลัง เพื่อให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ เคมีบำบัดในกลุ่มไม่ใช่ melanoma มักเป็นแบบทา
    10. Photodynamic therapy เป็นการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำร่วมกับแสงเลเซอร์ซึ่งจะทำให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะที่

การรักษามะเร็งผิวหนังชนิดเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี

  • ระยะที่ 0 ผ่าตัดเอาบริเวณที่มีเนื้อเยื่อผิดปกติออก
  • ระยะที่ 1 ผ่าตัดเอาก้อนและเนื้อเยื่อข้างเคียงออก อาจทำ sentinel lymph node biopsy
หรือไม่ก็ได้ ถ้าพบให้เอาต่อมน้ำเหลืองออก
  • ระยะที่ 2 เอาก้อนและเนื้อเยื่อข้างเคียงออกและทำ sentinel lymph node biopsy
  • ระยะที่ 3 ผ่าตัดเอาก้อนและเนื้อเยื่อข้างเคียงออกร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง
และพิจารณาฉายแสงหรือการรักษาทางภูมิคุ้มกันเสริมหลังการรักษาหลัก
  • ระยะที่ 4 ให้ยาเคมีบำบัดหรือการรักษาทางภูมิคุ้มกัน สำหรับการผ่าตัดและการฉายแสงใช้เพื่อ
บรรเทาอาการเมื่อมีอาการ

ผลข้างเคียงการรักษาโดยการฉายรังสี อาจเกิดขึ้นแต่โอกาสน้อย ได้แก่ มีเส้นเลือดฝอย (telanectasia), ผิวหนังบาง (skin atrophy), สีผิวผิดปกติ, กระดูกตาย, ผมร่วงและผิวหนังแห้ง

เราจะป้องกันได้อย่างไร

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น.
  • ใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF > 15
  • หลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการระคายเคืองของผิวหนัง เช่น การสัมผัสสารเคมีบ่อยๆ หรือ การใช้วัตถุขัดถูผิวหนังอย่างแรงๆ บางชนิด

ไฝบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง เราจะสังเกตได้อย่างไร
  • ไฝที่มีลักษณะขอบไม่เรียบ
  • สีไฝไม่สม่ำเสมอ
  • ขนาดโตมากกว่า 6 มม.
  • เมื่อแบ่งเส้นผ่าศูนย์กลางแล้ว ลักษณะของไฝสองข้างจะไม่เหมือนกัน

แหล่งอ้างอิง

1.อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. 2545.
2.ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548.



18 มีนาคม 2554 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย