ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 752
Small_font Large_font

หิด (Scabies)

คำจำกัดความ

โรคหิดเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังโรคหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการคันที่ผิวหนังอย่างรุนแรง เกิดจากการติดเชื้อไรชนิดหนึ่งชื่อ Sarcoptes scabiei (ซาโคปเทส สะเกบิอาย)

โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก ทางการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้อยู่ ทำให้มักพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้เหมือนกันทั้งครอบครัวหรือระบาดอยู่ในชุนชน ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำให้รักษาหมดทั้งครอบครัวหรือในสถานที่ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

อาการ

  • ในระยะแรกของโรค ที่ผู้ป่วยเพิ่งได้รับตัวหิดมาและตัวหิดกำลังขุดอุโมงค์เพื่อวางไข่ ทำให้ตัวหิดแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการคันเลย
  • 10-20 วันหลังจากติดเชื้อ ผู้ป่วยจะสร้างปฎิกิริยาไวเกินต่อตัวหิด, ไข่และสิ่งขับถ่ายของตัวหิด ทำให้เกิดอาการคันและผื่นขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันที่ผิวหนังเป็นหลัก โดยอาการคันในโรคหิดมักมีความรุนแรงมากกว่าอาการคันที่เกิดขึ้นในโรคผิวหนังทั่วๆ ไป ยิ่งในเวลากลางคืนจะยิ่งมีอาการคันมากเป็นพิเศษ ส่วนลักษณะผื่นของผู้ป่วยโรคหิด มี 2 แบบ คือ
    1. รอยนูนคดเคี้ยวคล้ายเส้นด้ายสั้นๆ ที่ผิวหนัง ยาวประมาณ 5-15 มิลลิเมตร เป็นอุโมงค์ที่ตัวหิดขุดใต้ผิวหนังเพื่อใช้วางไข่ (เรียก burrow) แต่ผื่นนี้ไม่ค่อยพบ เนื่องจากบริเวณนี้ผู้ป่วยจะคันมาก จึงมักถูกเกาหลุดไปหมด
    2. เป็นตุ่มคันกระจายไปทั้งตัว เกิดตามหลังการเกาของผู้ป่วย เป็นลักษณะนี้ไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคนี้ สามารถพบได้ในโรคอื่นด้วย

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไรชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มี 8 ขา ตัวไรนี้มีชี่อว่า Sarcoptes scabiei

เมื่อผู้ป่วยได้รับตัวหิดนี้มาจากคนอื่น ตัวหิดตัวเมียกับตัวผู้จะผสมพันธุ์กัน จากนั้นตัวเมียจะขุดผิวหนังชั้นตื้นๆ ของเราให้เป็นอุโมงค์เพื่อใช้เป็นที่วางไข่ ไข่จะใช้เวลาเจริญเติบโตจนออกมาจากไข่ 21 วัน จากนั้นตัวหิดตัวใหม่จะเริ่มผสมพันธุ์กันใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ตัวหิดสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และการติดเชื้อจะลามไปที่ผิวหนังบริเวณอื่นไปเรื่อยๆ หรือติดต่อไปที่ผิวหนังของคนอื่นที่สัมผัสใกล้ชิดกัน

โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก ทางการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้อยู่ ทั้งการที่ผิวหนังมาชิดกัน, การใช้เสื้อผ้าร่วมกัน หรือการนอนบนที่นอนเดียวกับผู้ป่วยที่มีตัวหิดอยู่

ตัวหิดมีหลายชนิดย่อย (species) เช่น หิดคน, หิดสุนัข หรือหิดแมว เป็นต้น แต่ละชนิดจะทำให้เกิดการติดเชื้อกับสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่จำเพาะเท่านั้น ถ้าหิดไปทำให้เกิดการติดเชื้อกับสิ่งมีชิวิตต่างสปีชี่ย์กัน ตัวหิดนั้นจะมีอายุขัยน้อยกว่าปกติและก่อโรคไม่รุนแรงเท่า เช่น ถ้าคนไปสัมผัสกับหิดสุนัขมา อาจทำให้เกิดอาการคันได้นิดหน่อยและเป็นระยะเวลาไม่นาน แต่จะไม่คันรุนแรงและเป็นเรื้อรังเหมือนการติดเชื้อหิดคน

การวินิจฉัย

การที่ผู้ป่วยมีอาการคันที่ผิวหนังอย่างรุนแรงร่วมกับมีตุ่มคันกระจายที่ผิวหนัง ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหิดเสมอไป อาจเป็นโรคผิวหนังชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายกัน เช่น ผิวหนังอักเสบจากการแพ้หรือการสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวไม่ควรจะซื้อยามาทาเองหรือคิดว่าแค่อาบน้ำบ่อยๆ จะช่วยให้หายจากโรคได้เอง ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและให้การรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละสาเหตุ การวินิจฉัยโรคนี้ประกอบด้วย
ประวัติ

  • ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการคันที่ผิวหนังอย่างรุนแรง และผื่นต่างๆ ที่จำเพาะกับโรค
  • ถ้าได้ประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยอาการเหมือนกัน ก็จะยิ่งสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้

ตรวจร่างกาย
  • อาจพบเป็นตุ่มคันกระจายไปทั้งตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคนี้ แต่ผื่นคันในโรคนี้จะมีการกระจายตัวเฉพาะ คือ มักพบที่บริเวณง่ามมือ, ข้อมือ, รักแร้, สะดือ, อวัยวะเพศและข้อเท้า แต่ผื่นคันในโรคนี้จะไม่พบที่ใบหน้าและศีรษะ (เพราะเป็นบริเวณที่มีไขมันมาก) รวมทั้งฝ่ามือฝ่าเท้า (เพราะเป็นบริเวณที่ผิวหนังหนา)
  • ลักษณะที่จำเพาะเจาะจงกับโรคนี้ คือ การตรวจพบรอยนูนคดเคี้ยวคล้ายเส้นด้ายสั้นๆ ที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ตัวหิดขุดใต้ผิวหนังเพื่อใช้วางไข่ (เรียก burrow) แต่ผื่นนี้ไม่ค่อยพบ เนื่องจากบริเวณนี้ผู้ป่วยจะคันมาก จึงมักถูกเกาหลุดไปหมด เหลือเป็นตุ่มคันแทน

ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม : ในรายที่ตรวจพบรอยนูนคดเคี้ยวคล้ายเส้นด้ายสั้นๆ ที่ผิวหนัง(burrow) แพทย์จะใช้ใบมีดจุ่มน้ำมัน มาขูดที่ผิวหนังบริเวณรอยนูนที่ยังไม่ได้เกานั้น มาป้ายลงบนกระจกแก้วและนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าพบตัวหิด, ไข่หรืออุจจาระของตัวหิด จะทำให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

ภาวะแทรกซ้อน

  1. เนื่องจากโรคหิดทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจึงมักเกามาก จนทำให้ผิวหนังซึ่งปกติเป็นเกราะกำบังเชื้อโรคของร่างกายถูกทำลายไป เปิดโอกาสให้เชื้อแบคทีเรียติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา ทำให้เกิดเป็นแผล มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มและผิวหนังรอบผื่นมีลักษณะแดงร้อน
  2. ถ้าผู้ป่วยเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคเอดส์, มะเร็งเม็ดเลือด, โรคภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตัวเอง (SLE) , คนที่มีโรคประจำตัวมากหรืออายุมาก พักอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานสงเคราะห์ จะทำให้เกิดโรคหิดชนิดรุนแรง คือ หิดจะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนเพิ่มจำนวนเป็นพันเป็นหมื่น ทำให้ตามตัวผู้ป่วยกลายเป็นผื่นที่มีสะเก็ดขุยพอกหนา ซึ่งภายในสะเก็ดนั้นมีตัวหิดอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้แพร่เชื้อได้ง่าย ภาวะนี้เรียกว่า Crusted scabies หรือ Norwegian ซึ่งเป็นภาวะที่รักษาได้ยากมาก

การรักษาและยา

1. การรักษาโดยการทายาแก้หิด : มียาหลายชนิดให้เลือกใช้ คือ
1.1 แกมมา เบนซีน เฮคสะคลอไรด์ เจล (Gamma benzene hexachloride 0.3% gel) : ข้อดีของยานี้ คือ

  • ระคายผิวน้อย : ถ้าใช้ในขนาดปกติ จะไม่ทำให้เกิดอันตรายอะไร แต่ถ้านำมาทาพร่ำเพรื่อหรือใช้ในเด็กทารก จะมีอาการดูดซึมยาผ่านผิวหนังในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท คือ ทำให้ชักได้
  • ประสิทธิภาพของยาดี การทายาทั่วตัวแค่ครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะฆ่าตัวหิดได้หมด ไม่จำเป็นต้องทายาซ้ำหลายครั้ง

1.2 เบนซิล เบนโซเอท (25% benzyl benzoate suspension), โครทามีทัน ครีม (crotamiton 10% cream) และขี้ผึ้งกำมะถัน 10% ยาพวกนี้มีประสิทธิภาพการรักษาต่ำ ทำให้ต้องทายาซ้ำติดต่อกันหลายวันจึงจะหาย
การทายาแก้หิด ต้องใช้อย่างถูกวิธี คือ หลังอาบน้ำผู้ป่วยต้องทายาทั่วตัว ตั้งแต่ระดับคอลงมาจนถึงปลาย
เท้า (ต้องมั่นใจว่าทาทั่วตัวแล้ว ไม่อย่างนั้นจะกำจัดเชื้อได้ไม่หมด) โดยเฉพาะที่ซอกอับ ปล่อยทิ้งไว้ทั้งคืน (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) แล้วอาบน้ำล้างออกในเวลาเช้า
2. การรักษาอาการคัน : ปกติหลังทายาแก้หิดแล้ว อาการคันจะไม่ได้หายไปทันที แต่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ จนหายไปเองในเวลาไม่กี่วัน ส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องรักษาอาการคัน ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายซึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากความคันมาก แพทย์อาจให้ยาลดอาการคันกลุ่มแอนติฮีสตามีนช่วย (Anti-histamine) รวมทั้งการอาบน้ำเย็นและฟอกสบู่บ่อยๆ จะสามารถช่วยลดอาการคันได้
3. การป้องกันการแพร่ระบาด, การกลับเป็นซ้ำของโรคหิด และป้องกันการติดเชื้อหิดจากคนอื่น : ทำได้โดย
3.1 ผู้สัมผัสโรค เช่น อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน จะต้องทายาแก้หิดเช่นเดียวกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ เพราะแม้ว่าผู้สัมผัสโรคจะไม่มีอาการคันก็อาจกำลังอยู่ในระยะฟักตัวของโรคได้
3.2 เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและเครื่องนอน ควรนำมาซักด้วยน้ำร้อนแล้วตากแดด เพื่อกำจัดตัวหิดที่ติดอยู่ให้หมด
3.3 ไม่ใช้เสื้อผ้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Gamma benzene hexachloride 0.3% gel, 25% benzyl benzoate suspension, crotamiton 10% cream, hydroxysine

แหล่งอ้างอิง

  • อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2545.
  • ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2548.


27 พฤษภาคม 2553 27 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย