ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ
อ่าน: 7256
เยื่อแก้วหูทะลุ (Rupture eardrum(Tympanic membrane perforation ))
การที่มีรูหรือรอยฉีกขาดที่เยื่อแก้วหู ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ ที่กั้นระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง การทะลุทำให้การได้ยินเสียงลดลงและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง โดยปกติเยื่อแก้วหูจะรักษาตัวเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องผ่าตัด
หูเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ 2 ประการ คือ
1.ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินหรือการรับฟังเสียง (Phonoreceptor)
2.ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกาย (Statoreceptor)
ส่วนประกอบของหู แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังรูป คือ
1.หูชั้นนอก : คือส่วนของหูที่อยู่ด้านนอกต่อเยื่อแก้วหู ประกอบด้วย
- ใบหู (auricle) : มีหน้าที่ในการรวบรวมคลื่นเสียงที่มาจากที่ต่างๆ ส่งเข้าสู่รูหู
- ช่องหูชั้นนอก (external auditory canal) : เป็นส่วนที่อยู่ถัดใบหูเข้ามาจนถึงเยื่อแก้วหู ทำหน้าที่เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูส่วนกลาง รวมทั้งในรูหูยังมีขนและต่อมสร้างขี้หู ทำหน้าที่สร้างขี้หูไว้ดักฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในรูหู
- เยื่อแก้วหู (Tympanic membrane หรือ ear drum) : มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่สั่นสะเทือนเมื่อมีเสียงมากระทบและแยกคลื่นเสียงที่แตกต่างกันได้
2.หูชั้นกลาง : เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากแก้วหูเข้ามา ภายในหูชั้นกลางประกอบด้วย
- กระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน (malleus), กระดูกทั่ง (incus) และกระดูกโกลน (stapes) เรียงตามลำดับจากด้านนอกเข้าสู้ด้านใน มีหน้าที่ในการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น แล้วส่งต่อการสั่นสะเทือนเข้าสู่หูส่วนในเพื่อแปลเป็นความรู้สึกและส่งต่อไปยังสมอง
- มีการติดต่อกับท่อยูสเทเชียน (Eustachian tube) : มีลักษณะเป็นท่อกลวงขนาดเล็ก เชื่อมติดระหว่างคอหอยกับหูชั้นกลาง มีหน้าที่ปรับความดันภายในหู ให้ภายในหูมีความดันเท่ากับความดันภายนอก เพราะถ้าหากระดับความดันของทั้งสองแห่งไม่เท่ากัน จะมีผลทำให้รู้สึกหูอื้อ และถ้าเกิดความแตกต่างมากจะทำให้รู้สึกปวดหูได้
3.หูชั้นใน : ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- ท่อขดก้นหอยหรือคอเคลีย (Cochlea) : ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน คือ รับคลื่นเสียงจากหูชั้นกลางแล้วส่งต่อทางเส้นประสาทเข้าไปแปลความหมายที่สมอง
- เวสทิบิวล่าร์แอพพาราตัส (Vestibular apparatus) : ทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัว
เนื่องจากเยื่อแก้วหู เป็นอวัยวะที่เป็นเยื่อบางๆ จึงง่ายต่อการฉีกขาด ทั้งจากการกระทบกระแทกต่างๆ และเกิดตามหลังการติดเชื้อ ถ้าเกิดการฉีกขาดของเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane perforation) จะทำให้เกิดความผิดปกติในการได้ยินและอาจมีน้ำหรือเลือดไหลออกมาจากหูได้
- มีการได้ยินที่ผิดปกติไป คือ ได้ยินเสียงเบาลง
- ถ้าเบ่ง เช่น ตอนสั่งน้ำมูก จะรู้สึกว่ามีลมออกมาจากในหู เกิดจากตอนเบ่งจะมีลมจากในจมูกผ่านออกมาทางท่อท่อยูสเทเชียน มาถึงหูชั้นกลาง จากนั้นลมจะผ่านเยื่อแก้วหูที่ทะลุออกมาด้านนอกได้
- ในรายที่เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น หลังปั่นหู อาจมีเลือดไหลออกมาจากหูได้
- ถ้ามีการติดเชื้อในหูชั้นกลางแทรกซ้อน จะทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหรือหนองไหลออกมาจากหู
- ผู้ป่วยมักไม่มีอาการปวดหู ยกเว้นเกิดตามหลังการกระทบกระแทกอย่างเฉียบพลัน
เยื่อแก้วหูฉีกขาดหรือทะลุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ
- จากการกระทบกระแทก (Traumatic tympanic membrane perforations) : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น การปั่นหูลึกเกินไปจนโดนเยื่อแก้วหู, เสียงประทัดที่ดังเกินไป, การมีความดันภายนอกสูงเกินไป เป็นต้น
- เกิดตามหลังการติดเชื้อในหูชั้นกลาง : เกิดในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในหูชั้นกลางเรื้อรังหรือรักษาไม่ดี ทำให้หนองในช่องหูชั้นกลางมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความดันในหูชั้นกลางสูงขึ้น จนดันให้เยื่อแก้วหูทะลุตามมา
- ภาวะเยื่อแก้วหูทะลุ สามารถวินิจฉัยได้ง่าย จากการตรวจร่างกายด้วยที่ตรวจหู (Otoscope) แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีหนองหรือขี้หูในหูชั้นนอกมากจนทำให้แพทย์ไม่สามารถมองเห็นเยื่อแก้วหูได้ชัดเจน แพทย์อาจมีความจำเป็นต้องให้หยอดยาละลายขี้หูก่อน หรือใช้เครื่องมือเข้าไปดูดเอาหนองหรือขี้หูออกให้สะอาด เพื่อจะได้มองเห็นเยื่อแก้วหูได้ชัดเจน
- การตรวจการได้ยิน : ผู้ป่วยเยื่อแก้วหูทะลุจะมีการสูญเสียการได้ยินรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของรูทะลุที่เยื่อแก้วหู
- สูญเสียการได้ยิน : จนกระทั่งการฉีกขาดนั้นจะถูกรักษา ขนาดและตำแหน่งของการฉีกจะส่งผลต่อระดับของการสูญเสียการได้ยิน
- การติดเชื้อในหูชั้นกลาง : หากมีการติดเชื้อเนื่องจากการฉีกขาดไม่ได้รับการรักษาและไม่หาย การติดเชื้อจะเรื้อรังต่อไปและอาจทำให้สูญเสียการได้ยินถาวร
- โรคหูน้ำหนวก (cholesteatoma) : คือถุงน้ำในหูชั้นกลางซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนัง, ขี้หู, และเศษซากต่างๆ ที่ควรออกมายังหูชั้นนอกกลายเป็นขี้หู แต่ถ้ามีการฉีกขาดของเยื่อแก้วหู จะทำให้เศษซากนี้เคลื่อนเข้าไปที่หูชั้นกลางและเกิดเป็นถุงน้ำ ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อและทำลายกระดูกในหูชั้นกลางต่อไป
- เยื่อแก้วหูทะลุจากการกระทบกระแทก (Traumatic tympanic membrane perforations) : ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่เยื่อแก้วหูที่ขาดจะกลับมาติดกันได้เองสูงมาก จึงมักไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซ่อมแซม คือ จากข้อมูลพบว่าเยื่อแก้วหูที่ขาดจะกลับมาติดกันได้เองภายในเวลา 1 เดือน ได้ประมาณร้อยละ 68 ของผู้ป่วย และที่เวลา 3 เดือน พบว่าร้อยละ 94 ของผู้ป่วยมีเยื่อแก้วหูกลับมาเป็นปกติ แต่ในระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องรักษาหูให้แห้งอยู่เสมอ ห้ามไม่ให้น้ำเข้าไปในหูข้างนั้นเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา โดยห้ามว่ายน้ำ, เวลาอาบน้ำใช้โฟมอุดในหูชั้นนอกเพื่อไม่ให้น้ำเข้า เป็นต้น
- เยื่อแก้วหูทะลุที่เกิดตามหลังการติดเชื้อในหูชั้นกลาง : กลุ่มนี้มักไม่สามารถหายได้เอง มักต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเยื่อมาปิดบริเวณเยื่อแก้วหูที่ทะลุ
- Mayo Clinic staff. Rupture eardrum. [Online]. 2009 Febuary 04 [cited 2010 May 12];Available from: URL: http://www.mayoclinic.com/health/ruptured-eardrum/DS00499/
- WWW.mayoclinic.com
- http://emedicine.medscape.com/article/858558-overview
- http://www.bcm.edu/oto/jsolab/tm_me_mastoid/tympanicmembrane.htm
- http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=eye;action=display;num=1094317717
- http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%B9
- สุภาวดี ประคุณหังสิต และสมยศ คุณจักร, บรรณาธิการ. ตำราโสต ศอ นาสิกวิทยา. กรุงเทพฯ : บริษัท เฮลท์ ออทอริตี้ส์ จำกัด. 2544 ; 1-14 และ 71-80.
27 พฤษภาคม 2553
25 กรกฎาคม 2553