ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 635
Small_font Large_font

วัณโรคปอด (Pulmonary tuberculosis)

คำจำกัดความ

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ติดต่อได้โดยการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไป
เชื้อวัณโรคมีความสามารถในการทนต่อความแห้งได้ดี แต่จะถูกทำลายได้ด้วยแสงแดดและแสงอุลตร้าไวโอเลต
เมื่อเชื้อวัณโรคเข้าสู่ปอด ก็ทำให้เกิดวัณโรคปอด และในบางครั้งเชื้อวัณโรคจะแพร่ไปสู่อวัยวะอื่นๆได้อีก ทำให้เกิดเป็นวัณโรคนอกปอด เช่น วัณโรคที่ลำไส้ ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนังและเยื่อหุ้มสมอง

จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สัมผัสเชื้อวัณโรคมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เกิดโรค โดยที่ร้อยละ 5 จะป่วยเป็นวัณโรคภายใน 2 ปีแรก
อีกร้อยละ 5 จะป่วยเป็นวัณโรคภายในระยะเวลา 10 ปี

อาการ

มักจะมาด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หรือเป็นไข้ต่ำ ๆ ตอนบ่าย ๆ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ต่อมาจึงมีอาการไอ ระยะแรก ๆ ไอแห้ง ๆ ต่อมาจะมีเสมหะ ไอมากเวลาเข้านอน หรือตื่นนอนตอนเช้า
อาการไอจะเรื้อรังเป็นแรมเดือน แต่บางคนอาจไม่มีอาการไอเลยก็ได้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอกโดยที่ไม่มีอาการไอ
ในรายที่เป็นมากอาจจะหอบหรือไอเป็นเลือด ในบางรายอาจมีไข้เรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจจะไม่มีอาการอะไรเลย แต่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการเห็น “จุด” ในปอดในภาพถ่ายรังสีทรวงอก วัณโรคในเด็กอาการมักจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เพราะมีภูมิคุ้มกันน้อย อาจแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูกไต ลำไส้ ฯลฯ ได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค

  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค (อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน)
  • ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เบาหวาน, ติดเชื้อ HIV, หรือ ได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง หรือ ยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของ steroids

สาเหตุ

เกิดจากการได้รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย

การวินิจฉัย

วินิจฉัยจากผลการตรวจย้อมเสมหะพบเชื้อวัณโรค โดยวิธีย้อมสีแอซิดฟาสต์ (Acid fast stian)
หรือ ตรวจไม่พบเชื้อวัณโรค แต่มีอาการทางคลินิก และภาพถ่ายรังสีทรวงอกที่ผิดปกติเข้าได้กับลักษณะของวัณโรคปอด

ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ , ฝีในปอด , น้ำในช่องหุ้มปอด ไอเป็นเลือด เป็นต้น

การรักษาและยา

เนื่องจากวัณโรคต้องใช้ยาร่วมกันหลายชนิดในการรักษา และใช้ระยะเวลารักษานาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยา
และลดการกลับมาเป็นซ้ำ ดังนั้นหลักที่สำคัญในการรักษา คือ การเลือกใช้ยาที่เหมาะสม และการได้รับยาครบถ้วน

  • โดยทั่วไปจะใช้ยาร่วมกัน 4 ชนิดในระยะ 2เดือนแรก และลดเหลือ 2 ชนิดใน 4 เดือนหลัง รวมระยะเวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือน (กรณีที่มีการแพ้ยา มีผลข้างเคียงจากยา หรือดื้อยา จะมีการปรับสูตรยา และระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาที่เหมาะสมโดยแพทย์)
  • แนะนำให้ทานยาทุกชนิดพร้อมกันวันละ 1 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่คือก่อนนอน เนื่องจากเชื้อวัณโรคแบ่งตัวช้าประมาณ 24 ชั่วโมง ระดับยาที่สูงขึ้นวันละครั้งจะได้ผลดีในการทำลายเชื้อ การแบ่งมื้อยาอาจทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

จะป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรคได้อย่างไร

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายกินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
  • ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรเอาใจใส่ดูแลให้กินยาครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน
  • ฉีดวัคซีน บี ซี จี ในทารกแรกเิกิดทุกราย
  • หากมีอาการผิดปกติ สงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเสมหะ และเอกซเรย์ปอด

แหล่งอ้างอิง

แนวทางการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคในประเทศไทย 2543



04 มิถุนายน 2553 20 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย