ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 1094
Small_font Large_font

สะเก็ดเงิน (Psoriasis)

คำจำกัดความ

โรคสะเก็ดเงินหรือเรื้อนกวาง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันมีความบกพร่อง ทำให้เซลล์ผิวหนังกำพร้าแบ่งตัวเร็ว ผิวหนังจึงหนาตัวขึ้นเป็นตุ่มหรือปื้นแดงที่มีขุยหรือเกล็ดขาวติดอยู่ มักพบรอยโรคบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสีบ่อยๆ , ศีรษะและเล็บ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคและยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ โรคนี้ มักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น และพบมากในช่วงวัยกลางคน ไม่ติดต่อโดยการสัมผัส โรคมีหลายรูปแบบและความรุนแรงก็มีหลายระดับ

อาการ

อาการที่พบในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ประกอบด้วย

  1. รอยโรคที่ผิวหนัง : เริ่มแรกจะเป็นตุ่มเล็กๆ, สีแดง, มีขอบชัดเจน, รูปร่างอาจจะเป็นทรงกลมหรือรูปไข่ และมีขุยหรือสะเก็ดสีขาวเงินอยู่ที่ผิว ซึ่งติดค่อนข้างแน่น เมื่อพยายามแกะขุยออกจะมีเลือดออกซิบๆที่ผิว จากนั้นตุ่มจะค่อยๆ ขยายออกกลายเป็นปื้นใหญ่และหนา ผื่นเหล่านี้สามารถพบได้ที่ผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่มักจะเป็นที่ศีรษะ, ข้อศอกข้อเข่า, ก้นและบริเวณที่เคยมีความชอกช้ำของผิวหนัง เช่น รอยขีดข่วน ผื่นเหล่านี้จะเป็นเรื้อรัง ขึ้นๆ ยุบๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด โดยปัจจัยที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบ ได้แก่ การได้รับบาดเจ็บของผิวหนัง เช่น การเกา , ผิวไหม้จากแดด, การติดเชื้อไวรัส, แพ้ยา เป็นต้น

ถ้าแบ่งตามลักษณะของผื่น สามารถแบ่งโรคสะเก็ดเงินออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายแบบ คือ

  1. Chronic plaque type psoriasis : เป็นปื้นนูนหนา มีขุยสีขาวด้านบน เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด
  2. guttate psoriasis : ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งตัว
  3. Flexure psoriasis : เป็นผื่นที่ขึ้นตามบริเวณเนื้ออ่อน คือ ผิวหนังตามข้อพับของร่างกาย มีลักษณะเป็นปื้นแดง ค่อนข้างแฉะ แยกยากจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
  4. Palmoplantar psoriasis : เป็นผื่นแห้งหนา มีขุยมาก แยกยากจากโรคผื่นแพ้เรื้อรัง
  5. รอยโรคที่เล็บ : ลักษณะเล็บเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หลายแบบ เช่น เล็บเป็นหลุม (pitted nail) , ตัวเล็บขรุขระ (nail dystrophy) , เล็บแยกตัวจากผิวหนังใต้เล็บ (onycholysis) หรือผิวใต้เล็บหนา (subungual keratosis) , ถ้าเป็นมาก เล็บจะผุทั้งเล็บ
  6. รอยโรคที่ข้อ : พบข้ออักเสบได้ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วย มักมีอาการภายหลังจากมีอาการทางผิวหนังแล้ว โดยข้อที่ปวดมักเป็นข้อเล็กๆ เริ่มที่ปลายนิ้วมือและข้อนิ้วเท้า ส่วนใหญ่มักเป็นทั้งสองข้าง ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นที่ข้อใหญ่ได้

สาเหตุ

พยาธิกำเนิดของโรคนี้ คือ บริเวณผิวหนังรอยโรคมีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าเร็วกว่าปกติหลายเท่า ทำให้ผิวหนังหนาขึ้นเป็นปื้น แต่เซลล์ผิวหนังนี้ขาดแรงยึดเหนี่ยวกันตามปกติ ทำให้ผิวหนังส่วนบนหลุดลอกออกเป็นแผ่นๆ ได้ง่าย

สำหรับสาเหตุของโรคนี้ ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าปัจจัยด้านพันธุกรรมมีส่วนทำให้เกิดโรค ร่วมกับมีปัจจัยจากสิงแวดล้อมมากระตุ้นให้เกิด ได้แก่ ความเครียด, ผิวหนังที่มีแผล, การติดเชื้อ, จากการกินยาบางชนิด

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคนี้ ทำได้โดยการดูลักษณะของผื่นเป็นหลัก แต่ในรายที่สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน สามารถตรวจเพิ่มเติมได้โดย

  • การขูดบริเวณผิวหนังไปย้อมหาเชื้อรา
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค

ภาวะแทรกซ้อน

ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคสะเก็ดเงิน, มีรอยโรคที่ใดบ้างและรอยโรคกว้างแค่ไหน แต่ถ้ามีรอยโรคกระจายเป็นวงกว้าง จะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ ตามมา

  • การเกาบริเวณผื่นเรื้อรัง จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นหนาตัวขึ้นเรื้อรัง และอาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้
  • สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง จากผื่นตามผิวหนังทำให้ดูไม่สวยงามและอาจเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง บางคนออาจรุนแรงถึงขั้นเก็บตัว ไม่มาพบปะสังสรรค์กับเพื่อนอีกเลย
  • ซึมเศร้าและเครียด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด

การรักษาและยา

  1. การรักษาด้วยยาทา : มีความสำคัญในเวชปฏิบัติทั่วไปมากที่สุด เพราะเป็นวิธีการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง แต่วิธีนี้เหมาะกับรอยโรคที่เป็นไม่มาก คือ ไม่เกินร้อยละ 25 ของพื้นที่ผิวกายทั้งหมด ยาทาที่ใช้ ได้แก่
    • ยาสเตียรอยด์ชนิดทา : ทาเฉพาะบริเวณรอยโรควันละ 2 ครั้ง เมื่อผื่นยุบก็สามารถหยุดยาได้
      • ข้อดี คือ ใช้สะดวก , ทำให้รอยโรคยุบได้เร็ว
      • ข้อเสีย คือ มีผลข้างเคียงเฉพาะที่ได้มาก เช่น เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน , หลังหยุดยา รอยโรคมักจะเห่อขึ้นมาใหม่ได้เร็ว , ถ้าทายาบริเวณกว้างและติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถทำให้เกิดการดูดซึมยาผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดได้
    • น้ำมันถ่านหิน(Coal tar) : ยามีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง ทาบริเวณผื่นวันละ 1-2 ครั้ง จะช่วยให้ผื่นยุบได้
      • ข้อดี คือ ราคาถูก, ทำให้รอยโรคยุบหายไปได้นาน
      • ข้อเสีย คือ ไม่มีวางขายในท้องตลาด ต้องให้เภสัชกรผสมยาให้, มีกลิ่นฉุน, มีสีเข้ม ทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้ง่าย
    • วิตามินดี (Diavonex) : มีฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า ทำให้รอยโรคยุบลงได้
      • ข้อดี คือ ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเฉพาะที่เหมือนการใช้ยาสเตียรอยด์, รอยโรคที่ยุบไปแล้วมีโอกาสหายไปได้นาน
      • ข้อเสีย คือ มีฤทธิ์ระคายเคืองค่อนข้างสูง, ราคาแพง
  2. การรักษาด้วยแสง : แสงแดดจะช่วยให้รอยโรคของโรคสะเก็ดเงินดีขึ้นได้
    • แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยตากแดดบ้าง โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณแสงแดดขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ รอยโรคดีขึ้นโดยไม่มีการไหม้เกรียมของผิวหนัง แต่ในทางปฎิบัติทำได้ยาก เพราะปริมาณแสงแดดในแต่ละเวลาไม่เท่ากันและการอาบแดดไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทย
    • การรักษาด้วยแสง (light therapy) : ใช้เครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเลต ร่วมกับให้ผู้ป่วยกินยา psoralen ต้องทำการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ เท่านั้น โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยมารับการฉายแสงที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละประมาณ 3 ครั้ง ส่วนใหญ่รอยโรคจะดีขึ้นในเวลา 1-2 เดือน
  3. การรักษาตามระบบ : เป็นการให้กินยากดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง วิธีนี้ต้องใช้เครื่องมือพิเศษมาก, มักจะมีผลข้างเคียงมากและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังเท่านั้น มักสงวนไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีรอยโรคมาก (เกินร้อยละ 20 ของพื้นผิวร่างกาย) ซึ่งดื้อต่อการรักษาด้วยยาทา หรือผู้ป่วยซึ่งมีรอยโรคที่รุนแรงมาก เท่านั้น

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย coal cream, Diavonox, Psoralen

แหล่งอ้างอิง

  1. อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. 2545 ; 101-108.
  2. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2548.


27 พฤษภาคม 2553 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย