ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 394
Small_font Large_font

พยาธิตัวแบน (Platyhelminthes)

คำจำกัดความ

หนอนตัวแบนหรือแพลทีเฮลมินธิส (Platyhelminthes) เป็นไฟลัมหนึ่งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวแบนจากบนลงล่าง ลักษณะคล้ายริบบิ้น ผิวลำตัวอ่อนนิ่ม ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบปรสิต (ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นช่วยในการดำรงชีวิต ไม่สามารถอาศัยอยู่เดี่ยวได้ ) ยกเว้นบางชนิดอาจดำรงชีวิตแบบอิสระ ขนาดและความยาวแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดย่อยของหนอนตัวแบน แต่ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและสั้น ยกเว้นพยาธิตัวตืด
ลักษณะทางกายภาพของหนอนตัวแบน :

  • ระบบย่อยอาหาร : ทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์ มีแต่ปาก ไม่มีทวารหนัก
  • ระบบการหายใจ : ไม่มีระบบหายใจ แต่ใช้การแลกเปลี่ยนก๊าซโดยแพร่ผ่านผนังลำตัวแทน
  • ระบบประสาท : ระบบประสาทเป็นแบบวงแหวนหรือแบบขั้นบันได
  • ระบบโครงร่างค้ำจุน : ไม่มีระบบโครงค้ำจุน (คนมีกระดูกสันหลังเป็นโครงค้ำจุน)
  • ระบบหมุนเวียนโลหิต : หนอนตัวแบนไม่มีระบบหมุนเวียนโลหิตเหมือนคน แต่จะอาศัยการแลกเปลี่ยนก๊าซและของเสียผ่านทางผิวหนังโดยตรง ดังนั้นผิวหนังจึงสร้างความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • ระบบสืบพันธุ์ : สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบไม่อาศัยเพศ (โดยอาศัยการงอกใหม่) และการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (หนอนตัวแบนมีสองเพศในตัวเดียวกัน สามารถผสมพันธุ์โดยผสมข้ามตัวหรือผสมภายในตัวเองแล้วแต่ชนิดของหนอนตัวแบน ไข่ที่ได้จากการผสมพันธุ์จะมีขนาดเล็ก เมื่อผสมแล้วจะปล่อยออกภายนอกตัว จากนั้นตัวอ่อนมีทั้งที่หากินแบบเป็นอิสระและเป็นปรสิต) หนอนตัวแบนที่พบในประเทศไทยบ่อยๆ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
    1. พยาธิตัวตืด :
      • พยาธิตัวตืดหมู (Taenia solium)
      • พยาธิตัวตืดวัว (Taenia saginata)
    2. พยาธิใบไม้ :
      • พยาธิใบไม้ตับ : มี 2 ชนิดย่อย คือ Fasciola hepatica และ Opisthalchis viverrini
      • พยาธิใบไม้ลำไส้ (Fasciolopsis buski)
      • พยาธิใบไม้ปอด (Paragonimus heterotremus)
      • พยาธิใบไม้เลือด

อาการ

แล้วแต่ชนิดของพยาธิ คือ

  1. พยาธิตัวตืด : ผู้ป่วยจะมีอาการจากมีพยาธิตัวตืดอยู่ในลำไส้เล็ก คือ ระคายเคืองท้อง, อาหารไม่ย่อย, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลด ทั้งที่กินได้มาก, ท้องผูกหรือท้องเสีย
  2. พยาธิใบไม้ :
    • พยาธิใบไม้ตับ : มี 2 ชนิดย่อย คือ
      • Fasciola hepatica : ทำให้ตับม้ามโตและตัวเหลืองตาเหลือง
      • Opisthalchis viverrini : ตัวแก่จะเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำดีในตับ ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการท้องอืด, แน่นท้อง โดยเฉพาะหลังอาหาร, ตับโตและกดเจ็บ, ตัวเหลืองตาเหลือง
    • พยาธิใบไม้ลำไส้ (Fasciolopsis buski) : คลื่นไส้, ท้องเดิน, ปวดท้องเมื่อหิว, อาจเสียชีวิตจากขาดสารอาหาร, ถ้ามีมาก พยาธิอาจอุดตันในลำไส้ได้
    • พยาธิใบไม้ปอด (Paragonimus heterotremus) : ถ้ามีน้อยจะไม่มีอาการ แต่ถ้ามีพยาธิอยู่ในปอดจำนวนมาก จะทำให้มีอาการคล้ายวัณโรค คือ ไอเรื้อรัง ตอนแรกไอแบบแห้งๆ ต่อมาจะไอเสมหะสีสนิมเหล็ก, ไม่มีไข้
    • พยาธิใบไม้เลือด : ประกอบด้วย
    • ตอนที่ตัวอ่อนพยาธิไชผ่านผิวหนัง บางคนอาจไม่มีอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผื่นคันขึ้น
    • ตอนที่พยาธิตัวอ่อนเข้าสู่กระแสเลือดและไชผ่านอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้, หนาวสั่น, ปวดท้อง, ตับม้ามโต, เบื่ออาหาร, ขี้เป็นมูกเลือด
    • ตอนที่ตัวแก่ไปเจริญอยู่ในเส้นเลือดดำที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ อาจมีอาการตับม้ามโต, ปัสสาวะมีเลือดปนหรือกรวยไตอักเสบ เป็นต้น

สาเหตุ

พยาธิแต่ละชนิดจะมีวงจรชีวิตแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่การติดเชื้อพยาธิเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิปนอยู่ มีรายละเอียด คือ

  1. พยาธิตัวตืด ติดต่อโดยการกินเม็ดสาคูที่อยู่ในเนื้อวัวหรือเนื้อหมู (ตามชนิดของพยาธิตัวตืด) ที่ไม่สุก เช่น แหนมหรือลาบ พยาธิเกาะยึดกับผนังลำไส้เล็ก และเจริญเป็นตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็กโดยแย่งดูดซึมอาหารที่เรากินเข้าไป เมื่อพยาธิเจริญเป็นตัวแก่ จะสลัดปล้องที่สุกซึ่งอยู่ปลายสุดหรือปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระ หมูหรือวัวจะมากินไข่พยาธิที่ปนอยู่บนผักหรือพื้นดินเข้าไป พยาธิตัวอ่อนไชทะลุผนังลำไส้หมูหรือวัว เข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปอาศัยอยู่ในกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยการสร้างถุงหุ้มรอบตัวไว้ กลายเป็นเม็ดสาคูในเนื้อหมูหรือวัวในที่สุด
  2. พยาธิใบไม้ ติดต่อโดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ในสิ่งต่างๆ ตามชนิดของพยาธิ คือ
    • พยาธิใบไม้ตับ : Fasciola hepatica พบในพืชน้ำ และ Opisthalchis viverrini พบในเนื้อปลา
    • พยาธิใบไม้ลำไส้ พบในพืชน้ำ
    • พยาธิใบไม้ปอด พบในเนื้อปูหรือกุ้ง

หลังจากกินเข้าไปแล้ว พยาธิตัวอ่อนจะออกมาในลำไส้ จากนั้นจะไชออกจากผนังลำไส้ เพื่อไชไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ ตามชนิดของพยาธิ (ดูได้จากชื่อของพยาธิ)

ยกเว้นพยาธิใบไม้เลือด ไม่ได้ติดต่อโดยการรับประทานตัวอ่อนพยาธิ แต่ติดต่อโดยการที่คนลงไปเล่นน้ำ แล้วตัวอ่อนของพยาธิไชผ่านผิวหนังโดยตรง จากนั้นจะไชเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไปเจริญเป็นตัวแก่อยู่ในเส้นเลือดต่างๆ โดยเฉพาะเส้นเลือดดำในช่องท้อง

การวินิจฉัย

ส่วนใหญ่วินิจฉัยได้จากการพบไข่พยาธิอยู่ในอุจจาระ ยกเว้นไข่พยาธิบางชนิดจะพบได้ในสารคัดหลั่งอื่น นอกจากในอุจจาระ
ลักษณะของไข่พยาธิที่เห็นจากการเอาอุจจาระมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ คือ

  1. พยาธิตัวตืด : พบไข่พยาธิอยู่ในอุจจาระ
  2. พยาธิใบไม้ :
    • พยาธิใบไม้ตับ : Fasciola hepatica และ Opisthalchis viverrini พบไข่พยาธิในอุจจาระ
    • พยาธิใบไม้ลำไส้ (Fasciolopsis buski) : พบไข่พยาธิอยู่ในอุจจาระ, น้ำดี และน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก
    • พยาธิใบไม้ปอด (Paragonimus heterotremus) : พบไข่พยาธิอยู่ในอุจจาระ, ปนกับเสมหะ, ส่งตรวจชิ้นเนื้อปอด
    • พยาธิใบไม้เลือด : พบไข่พยาธิอยู่ในอุจจาระ,ชิ้นเนื้อจากลำไส้ตรง

ภาวะแทรกซ้อน

  1. พยาธิตัวตืด :
    • ทำให้น้ำหนักน้อย จากมีพยาธิมาแย่งดูดซึมอาหาร
    • ในพยาธิตืดหมู มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ และไม่พบในพยาธิตืดวัว คือ คนติดเชื้อโดยการได้รับไข่มา (ปกติติดโดยการกินพยาธิตัวอ่อนในเม็ดสาคู) โดยการกินปล้องสุกหรือไข่พยาธิในอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระหรือผักดิบที่ใช้อุจจาระทำปุ๋ย รวมทั้งการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวตืดตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็ก เกิดการขย้อนปล้องแก่กลับขึ้นมาในกระเพาะอาหาร พยาธิในร่างกายคนจะทำตัวคล้ายอยู่ในหมู คือ พยาธิตัวอ่อนไชทะลุผนังลำไส้เล็กออกมาเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นจะไปสร้างถุงหุ้มอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ อาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิตัวอ่อนไปสร้างถุงหุ้มอยู่ คือ
      • ไปสร้างถุงหุ้มอยู่ในสมอง เรียกว่า พยาธิตัวตืดหมูขึ้นสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ, ชัก , อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
      • ไปสร้างถุงหุ้มอยู่ในตา ทำให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นผิดปกติ, ปวดตา หรือตาบอดได้
      • ไปสร้างถุงหุ้มอยู่ตามผิวหนัง ทำให้มีคล้ายเม็ดข้าวสารอยู่ตามผิวหนัง
  2. พยาธิใบไม้ :
    • พยาธิใบไม้ตับ Opisthalchis viverrini : ถ้าเป็นมากและนาน อาจทำให้เกิดมะเร็งที่ท่อทางเดินน้ำดีได้ (Cholangiocarcinoma)
    • พยาธิใบไม้ลำไส้ (Fasciolopsis buski) : ถ้ามีมาก อาจทำให้เกิดลำไส้อุดตันได้
    • พยาธิใบไม้ปอด (Paragonimus heterotremus) : ถ้าพยาธิไม่ได้อยู่ในปอด จะมีอาการจากพยาธิอยู่ผิดที่ เช่น ที่สมองจะมีอาการชักคล้ายโรคลมบ้าหมู, ที่ช่องท้อง จะทำให้มีอาการปวดท้องและถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น

การรักษาและยา

  1. การรักษาโรค : รับประทานยาขับถ่ายพยาธิตามคำแนะนำของแพทย์ โดยพยาธิแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันของชนิดของยา, ขนาดยาที่ใช้ และจำนวนวันที่ต้องกินยา
  2. การป้องกันการติดพยาธิ : แตกต่างกันตามชนิดของพยาธิ
    • พยาธิตัวตืด :
      • ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
      • ก่อนซื้อเนื้อวัวหรือเนื้อหมูมารับประทาน ควรตรวจดูด้วยว่าเนื้อนั้นมีเม็ดสาคูหรือไม่
      • รับประทานเนื้อวัว หรือเนื้อหมู ที่ผ่านการทำให้สุกแล้วเท่านั้น
    • พยาธิใบไม้ตับ, ลำไส้และปอด : กินเนื้อปู, กุ้ง, ปลาและพืชน้ำที่ต้มสุกแล้ว

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย mebendazole, albendazole, praziquantel

แหล่งอ้างอิง

  1. พรรณทิพย์ ฉายากุล, บรรณาธิการ. ปรสิตวิทยา. หาดใหญ่ : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. พิมพ์ครั้งที่2. 2531.
  2. ประยงค์ ระดมยศ, บรรณาธิการ. Atlas of medical parasitology : with 465 colour illustrations. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, 2547.


18 กรกฎาคม 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย