ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 849
Small_font Large_font

โรคหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa)

คำจำกัดความ

หูของคน แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
1. หูส่วนนอก (External ear) : ประกอบด้วย

  • ใบหู (Pinna) : มีหน้าที่ในการรวบรวมคลื่นเสียงที่มาจากที่ต่างๆ ส่งเข้าสู่รูหู
  • ช่องหูหรือรูหู (Auditory canal) : เป็นส่วนที่อยู่ถัดใบหูเข้ามาจนถึงเยื่อแก้วหู ทำหน้าที่เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูส่วนกลาง ในรูหูมีขนและต่อมสร้างขี้หู ทำหน้าที่สร้างขี้หูไว้ดักฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในรูหู ปกติในรูหูของเราจะทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในสภาพที่แห้ง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หูของเราสัมผัสความชื้น เช่น ว่ายน้ำมากเกินไป หรือการปั่นหู ที่ทำให้เยื่อบุรูหู ถลอก จะทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • แก้วหูหรือเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane หรือ ear drum) : มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่สั่นสะเทือนเมื่อมีเสียงมากระทบและส่งต่อการสั่นสะเทือนไปยังหูชั้นกลาง

2. หูส่วนกลาง (Middle ear) : เป็นส่วนที่ถัดจากแก้วหูเข้ามา ภายในมีกระดูก 3 ชิ้น ทำหน้าที่ในการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น แล้วจึงส่งต่อการสั่นสะเทือนเข้าสู่หูส่วนใน
3. หูส่วนใน (Inner ear) อยู่ถัดจากหูส่วนกลางเข้ามา ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ส่งต่อสัญญาณเสียงไปยังสมองเพื่อแปลความหมายของสิ่งที่ได้ยิน และทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัว

โรคหูชั้นนอกอักเสบ คือ การติดเชื้อที่บริเวณเยื่อบุผิวด้านในของรูหู ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน แต่ในผู้่ปวยบางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเกิดการติดเชื้อเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อราได้
โรคหูชั้นนอกอักเสบเป็นโรคที่มักไม่มีอันตรายและการรักษาทำได้ไม่ยาก แต่อาการจะเป็นมากขึ้นถ้าการติดเชื้อไม่ได้รับการรักษา ดังนั้น ถ้ารักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อที่รุนแรงได้

อาการ

อาการของโรคนี้ ประกอบด้วย

  • อาการปวดหู : เป็นอาการหลักที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ โดยอาการปวดหูในโรคนี้อาจรุนแรงมากได้ และอาการปวดจะมากขึ้นตอนอ้าปากหรือเคี้ยวอาหาร
  • อาการคันในหู
  • มีน้ำหรือหนองไหลออกจากหู
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหูอื้อหรือได้ยินลดลงได้ ถ้าเยื่อบุรูหูบวมมาก

สาเหตุ

โดยปกติรูหูของเรามีกลไกรักษาความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อ คือ
1. ต่อมข้างในรูหูสามารถขับเมือกออกมา ซึ่งมีประโยชน์ ดังนี้

  • เคลือบผิวของรูหูเพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอม สิ่งสกปรก และออกมาเป็น ขี้หู
  • มีสภาพเป็นกรด ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
  • ผลิตโปรตีนบางชนิดเพื่อช่วยต่อต้านแบคทีเรีย

2. ลักษณะเฉพาะของรูหู ที่มีแนวโน้มเทลงเล็กน้อยเพื่อป้องกันการสะสมของของเหลวในหู

โรคหูชั้นนอกอักเสบ เกิดจากกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมของรูหูเหล่านี้เสียไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถผ่านเยื่อบุรูหูและทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา โดยกลไกป้องกันของร่างกายนี้ จะสูญเสียไป ถ้า

  • มีของเหลวในรูหูมากเกินไป เช่น จากการว่ายน้ำบ่อยๆ
  • มีแผลถลอกในรูหู จากการเขี่ยหูบ่อยเกินไป

การวินิจฉัย

ประวัติ :

  • ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว
  • ผู้ป่วยมักจะมีประวัติของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย คือ ชอบว่ายน้ำ หรือปั่นหูเป็นประจำ

การตรวจร่างกาย :

  • เวลากดที่หน้าใบหู หรือดึงบริเวณใบหู จะพบว่ามีอาการปวดหูมากขึ้น
  • ตรวจหูด้วยเครื่องตรวจหูเฉพาะ(otoscope) : พบว่าเยื่อบุรูหูบวมแดง, อาจมีน้ำเหลืองและการตกสะเก็ด

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อน

โดยปกติโรคหูชั้นนอกอักเสบอาการมักไม่รุนแรง แต่ถ้าเราไม่รักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ ดังนี้

  • มีการติดเชื้อที่หูชั้นนอกเรื้อรัง (Chronic diffuse otitis externa) : มักเกิดจากการติดเชื้อราแทรกซ้อน มักพบในรายที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ, หูชื้นนานๆ และใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาสเตียร์รอยหยอดหูเป็นเวลานาน
  • การติดเชื้อแพร่กระจายไปยังผิวหนังบริเวณโดยรอบ
  • การติดเชื้ออาจลุกลามจนไปทำลายกระดูกอ่อนและกระดูกบริเวณกระโหลกศีรษะ (Malignant/Necrotizing otitis externa) : มักพบในรายที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ เช่น เป็นโรคเบาหวาน, เอดส์, ได้รับยาเคมีบำบัด และกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณหูอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเวลากลางคืนและมีหนองไหลออกมาจากหูหลังแคะหู ภาวะนี้เป็นภาวะที่อันตรายมาก มีอัตราตายถึงร้อยละ 50

การรักษาและยา

เป้าหมายของการรักษา คือ ยับยั้งการติดเชื้อและทำให้เยื่อบุรูหูกลับมาเป็นปกติ ประกอบด้วย
1. การกำจัดปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโรค คือ

  • แนะนำให้ผู้ป่วยไม่ว่ายน้ำจนกว่าจะหายขาด และถ้าจะว่ายน้ำ หลังจากว่ายน้ำเสร็จก็ควรซับในรูหูให้แห้ง
  • แนะนำไม่ให้ปั่นหู เพราะคนปกติมีกลไกในการกำจัดขี้หูออกมานอกร่างกายได้เอง ไม่มีความจำเป็นต้องปั่นหรือแคะขี้หูออก

2. การรักษาด้วยยาหยอดหู : ประกอบด้วย
  • สารละลายกรด : เพื่อปรับสภาพหูให้แห้งเป็นปกติและต่อต้านแบคทีเรีย เช่น boric acid, acetic acid
  • ยาปฏิชีวนะ : เพื่อทำลายเชื้อราหรือแบคทีเรีย เช่น polymycin

3. การให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราแบบกิน : ให้ในกรณีที่อาการรุนแรง
4. การทำความสะอาดรูหู : แพทย์จะใช้อุปกรณ์ดูดของเหลวในรูหูและทำความสะอาดแผลในรูหู เพื่อขจัดของเหลว, ก้อนขี้หู, ผิวหนังที่หลุดลอกหรือเซลล์ตายออก มีความจำเป็นในรายที่มีน้ำหรือหนองในหูปริมาณมาก จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น
5. การให้ยาแก้ปวด : เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยโรคหูชั้นนอกอักเสบมักมีอาการปวดหูที่รุนแรง

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย boric acid, acetic acid, polymycin

แหล่งอ้างอิง

1. พิชิต สิทธิไตรย์, สายสวาท ไชยเศรษฐ และสุวิชา อิศราดิสัยกุล, บรรณาธิการ. ตำราหู คอ จมูก สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. เชียงใหม่ : ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2553, 235-244.
2. กรีฑา ม่วงทอง, ประสิทธิ์ มหากิจ เจริญ และคณะ, บรรณาธิการ. ตำราโรคหู คอ จมูก. กรุงเทพฯ : นำอักษรการพิมพ์. 2548, 93-98.
3. เสาวรส อัศววิเชียรจินดา, บรรณาธิการ. โรคหู. กรุงเทพฯ : บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด. 2537, 27-31.



27 พฤษภาคม 2553 08 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย