ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 2821
Small_font Large_font

อาการแพ้ท้อง (Morning sickness)

คำจำกัดความ

อาการแพ้ท้อง เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ (ภายใน 3 เดือนแรก) คือ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นมากหรือน้อยในแต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่นอนเชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ มักไม่มีอันตรายอะไร ยกเว้นคนที่อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้ทั้งวันหลายๆวันจนเกิดภาวะ ขาดอาหาร น้ำ และเกลือแร่

อาการแพ้ท้องอาจไม่เกิดกับทุกคนที่ตั้งครรภ์แต่หากมีอาการแพ้ก็ไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย โดยปกติแล้วจะหายได้เองเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 4

อาการ

อาการแพ้ท้องคืออาการคลื่นไส้ที่อาจจะมีหรือไม่มีอาการอาเจียนก็ได้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติในระหว่างตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก บางครั้งอาจจะมีอาการแพ้ท้องได้ตั้งแต่ 2 อาทิตย์แรกของการตั้งครรภ์

การแพ้ท้องมักมีลักษณะอาการดังนี้

  1. วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หน้ามืด อาเจียน พะอืดพะอม เหม็น หรือเบื่อสิ่งต่างๆ
  2. มีน้ำลายมากจนต้องบ้วนน้ำลายตลอดเวลา
  3. คลื่นไส้อาเจียนหลังจากดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร
  4. น้ำหนักลด
  5. ร่างกายขาดน้ำ จนกระหาย หรือ มีริมฝีปากแห้ง
  6. ปัสสาวะมีสีเข้มขึ้น
  7. ความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายอาจผิดปกติ

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการแพ้ท้อง จะหมดไปในช่วงเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดขึ้นได้อีกตลอดช่วงตั้งครรภ์ เพียงแค่ได้กลิ่นบางอย่างที่ชวนให้คลื่นไส้อาเจียน และแน่นอนว่ากลิ่นที่ชวนให้รู้สึกคลื่นเหียนอาเจียนก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน

สาเหตุ

สาเหตุอาการแพ้ท้องน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายขณะตั้งครรภ์ ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เอสโตรเจน” ( Estrogen) ที่เพิ่มสูงขึ้น และประสาทรับกลิ่นมีความไวมากขึ้น แม้แต่สภาพจิตใจและอารมณ์ก็เกี่ยวข้องกับอาการแพ้ท้องมากเช่นกัน คนที่มีสภาพจิตใจและอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย มักจะมีอาการแพ้ท้องมากและรุนแรงกว่าคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยใช้อาการ แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจปัสสาวะและเลือด และอัลตราซาวน์เพื่อยืนยันจำนวนตัวอ่อนในครรภ์และเพื่อหาสาเหตุเบื้องต้นของอาการคลื่นไส้

การวินิจฉัยจะอาศัยประวัติและอาการแสดงเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้การวินิจฉัย แต่แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ประเมินความรุนแรงของอาการแพ้ท้อง เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูค่าเกลือแร่ในเลือด และ การตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินความเข้มข้นของปัสสาวะที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำในร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อน

ในกรณีปกติอาการแพ้ท้องของแม่ไม่ส่งผลกระทบต่อลูก แต่หากว่าแม่ก่อนตั้งครรภ์มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้สุขภาพยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่นัด และลูกที่เกิดมาอาจมีภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่พบน้อยคือการอาเจียนบ่อยๆ ทำให้หลอดอาหารมีโอกาสฉีกขาดได้

การรักษาและยา

การรับประทานยาแก้แพ้ท้อง ยาที่ป้องกันอาเจียนมีหลายชนิด แต่ที่นับว่าปลอดภัยมีอยู่ 2-3 ชนิด ควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแล ถ้าแพ้ท้องมากจนเสียความสมดุลน้ำและเกลือแร่ ท่านจะมีอาการอ่อนเพลียมาก ควรนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือแร่ทดแทน
ข้อแนะนำ คือ

  1. พักผ่อนให้เพียงพอทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  2. เมื่อหิวควรหาอาหารรับประทานทันที ไม่ควรรอเวลาหรือรอให้หิวจัด จะพบว่าจะเริ่มหิวทุก 2-3 ช.ม. ไม่ว่าจะรับประทานอาหารมากหรือน้อยก่อนหน้านี้ จึงควรนำอาหารที่ชอบ พกพาสะดวกติดตัวไว้ด้วยเสมอเพื่อหยิบรับประทานได้ทันทีที่หิว ไม่ควรรับประทานครั้งละมาก ๆ ควรรับประทานแค่หายหิวในแต่ละครั้ง ดื่มน้ำทีละน้อย บ่อย ๆ ป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  3. ในระยะนี้เลือกรับประทานอาหารที่ชอบก่อน ยังไม่ต้องคำนึงว่ามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด
  4. การรับประทานวิตามินรวมจะช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น โดยเฉพาะวิตามินบี 6 โดยเลือกรับประทานยี่ห้อที่มีกลิ่นรสที่เราชอบ แต่ยังไม่ควรรับประทานยาบำรุงเลือดในช่วงแรก เพราะจะทำให้คลื่นไส้ได้
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเครื่องเทศเพราะกลิ่นแรง ควรงดอาหารทอด เพราะอาหารประเภทนี้ย่อยยาก
  6. ควรรับประทานอาหารเบาๆ (เช่น ขนมปังอบกรอบ) หรือ เครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน จะทำให้หลับสบาย ควรเตรียมไว้ที่ห้องนอน เผื่อลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกแล้วรู้สึกหิว จะได้ดื่ม-รับประทานได้ ตอนเช้าควรดื่มเครื่องดื่มที่เตรียมไว้ หรือรับประทานขนมปังอบกรอบ เมื่อตื่นนอนขึ้นทันทีก่อนลุกจากเตียงไปทำกิจวัตรประจำวัน
  7. ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม หรือ น้ำขิงดูบ้างซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้
  8. หลังจากตื่นนอนไม่ควรรีบลุกทันทีทันใด เพราะจะทำให้คลื่นไส้ได้ง่าย
  9. พยายามอยู่ในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ่ายเทสะดวกไม่อับชื้น
  10. รับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น
  11. สมาชิกในบ้านโดยเฉพาะสามีต้องให้ความรักและเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ และอดทนกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ หากปฏิบัติได้ทั้งหมด เชื่อว่าอาการแพ้ท้องของคุณแม่จะบรรเทาลงได้ ในกรณีที่มีอาการแพ้ท้องมากจนน้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ รวมทั้งอาจให้ยาหรือน้ำเกลือเพื่อแก้คลื่นไส้อาเจียน
  12. อาหารที่มีโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตสูงสามารถช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ เพราะฉะนั้น พยายามรับประทานอาหารทั้งสองชนิดนี้ร่วมกัน เช่น รับประทานไข่สุกกับขนมปังปิ้ง

เมื่อไรควรรีบไปโรงพยาบาลจากอาการแพ้ท้อง
1. เมื่อปัสสาวะออกน้อย (< 500 ซีซี.ต่อวัน หรือ 20 ซีซี.ต่อชั่วโมง) และมีสีเหลืองเข้ม
2. ดื่มน้ำไม่ได้เลยทั้งวัน
3. มีอาการหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน
4. อาการใจสั่น เต้นแรงมาก
5. อาเจียนมีเลือดปนออกมา แสดงว่ามีอาการแพ้ท้องมากเกิน ถึงขั้นอันตรายแล้ว

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย pyridoxine

แหล่งอ้างอิง

  1. Mayo Clinic staff. Morning sickness. [Online]. 2009 October 03 [cited 2010 May 13];Available from: URL: http://www.mayoclinic.com/health/morning-sickness/DS01150/
  2. สาโรจน์ ปรปักษ์ขาม, ยุวัน อนุมานราชธน, อัสนี สุวัตถี, บรรณาธิการ. คู่มือเวชปฏิบัติ : โรคและภาวะผิดปกติทางสูติศาสตร์ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ, พิมพ์ครั้งที่ 1. 2525.
  3. ธีระพร วุฒยวนิช, ธีระ ทองสง, จตุพล ศรีสมบูรณ์, บรรณาธิการ. ตำราสูติศาสตร์ . กรุงเทพฯ : พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส เซนเตอร์, พิมพ์ครั้งที่ 4. 2539.
  4. สมชัย นิรุตติศาสตร์ , บรรณาธิการ. แนวทางเวชปฏิบัติทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา = Clinical practice guidelines in obstetrics and gynecology . กรุงเทพฯ : คอนเซ็พท์ เมดิคัส,พิมพ์ครั้งที่ 1. 2549.
  5. อติวุทธ กมุทมาศ, บรรณาธิการ. ตำราสูติศาสตร์ : ชุดการตั้งครรภ์และการคลอดปกติ . กรุงเทพฯ : บุ๊คเน็ท, พิมพ์ครั้งที่ 1. 2546.


27 พฤษภาคม 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย