ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ
อ่าน: 3196
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma)
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ เนื้องอกของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคประกอบไปด้วยเม็ดเลือดขาว ชนิดลิมโฟไซต์ ต่อมน้ำเหลือง หลอดน้ำเหลือง ต่อมทอนซิล และม้าม เสียไป
แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ซึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดพบได้น้อย การวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจพบว่าเซลล์ที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่ารีดสเทิร์นเบิร์ก ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ ๖๒,๐๐๐ คนทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นผู้ชายร้อยละ ๖๐ และเป็นผู้หญิงร้อยละ ๔๐ และโดยเฉลี่ยในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมน้ำ-เหลืองชนิดฮอดจ์กิน ๒๕,๐๐๐ คน ส่วนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด นอนฮอดจ์กิน สามารถ แบ่งย่อยได้มากกว่า ๓๐ ชนิด แต่ถ้าแบ่งจากอัตราการเจริญของมะเร็ง แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดแบบค่อยเป็นค่อยไป มีอัตราการแบ่งตัวช้า มีอาการน้อย แต่มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่หายขาด ชนิดรุนแรง มีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งเร็ว ผู้ป่วย มักจะมีอาการมาก มะเร็งชนิดนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน ๖ เดือน ถึง ๒ ปี แต่ข้อดีของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรงมีข้อดีคือสามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างเต็มที่
- ต่อมน้ำเหลืองมักเริ่มโตที่คอหรือรักแร้ นานกว่า 2 สัปดาห์ หรือใหญ่กว่า 2 ซม. และบริเวณที่ ต่อมน้ำเหลืองโต มักกดไม่เจ็บ
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวในเวลา 6 เดือน
- อาจมีไข้เป็นพัก ๆ ไม่สม่ำเสมอ มักพบว่ามีเหงื่อออก ตัวชื้นตอนกลางคืน
- เมื่อมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่น จะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้
- มีอาการบวมบริเวณใบหน้าและคอ เนื่องจากมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตไปกดเส้นเลือดใหญ่ ที่คอทำให้บวมและออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
- ถ้าลุกลามไปยังระบบทางเดินอาหาร จะพบอาการของทางเดินอาหารอุดตัน เช่น กลืนลำบาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง
- ตับ ม้ามโต ตัวตาเหลือง
- ถ้าลุกลามไปที่กระดูก จะมีอาการปวดกระดูก
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในผู้ที่มีภาวะพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, ผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้มีบางรายงานพบว่ามีความสัมพันธ์กับการได้รับสารเคมีบางชนิด
- แพทย์จะซักถามประวัติการเจ็บป่วย ลักษณะการโตของต่อมน้ำเหลือง คนไข้โรคฮ้อดกิ้นมักไม่มีประวัติการเจ็บป่วยมาก่อน อาจตรวจพบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีโดยบังเอิญ
- ตรวจร่างกายโดยการคลำต่อมน้ำเหลืองทั้งตัว พิจารณาขนาดและลักษณะของต่อมน้ำเหลืองที่โต
- ตัดเอาต่อมน้ำเหลืองที่โตไปตรวจทางพยาธิวิทยาด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนและสามารถบอกชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ โดยจะพบลักษณะของต่อมน้ำเหลืองที่เปลี่ยนแปลงไป พบเซลล์ที่ผิดปกติ และถ้าพบเซลล์ชนิด Reed-Sternberg แสดงว่าเป็นโรคฮ้อดกิ้น ในกรณีของ NHL การตรวจลักษณะของเซลล์จะช่วยวินิจฉัยชนิดของโรคได้ อาจเป็นชนิดไม่รุนแรง รุนแรงปานกลาง หรือรุนแรงมาก ช่วยในการเลือกวิธีรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุด
- ควรหลีกเลี่ยงการเจาะตรวจเนื้อเยื่อด้วยเข็ม หากข้อมูลจากอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยบ่งชี้ว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าโรคอื่น ๆ เนื่องจากการทำการเจาะตรวจเนื้อเยื่อด้วยเข็ม ไม่สามารถให้ข้อมูลการวินิจฉัยโรคที่สมบูรณ์ได้ และผู้ป่วยมักจะต้องถูกทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาอีก ถ้าผลอ่านจากการเจาะตรวจเนื้อเยื่อด้วยเข็มบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ-อุจจาระ อาจพบว่ามีการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุให้ต่อมน้ำเหลืองโต
- การตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อทราบระยะของโรค ได้แก่ การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก ช่องท้อง เชิงกราน การตรวจเอ็มอาร์ไอ การตรวจ PET scan การสแกนกระดูก ตับ ม้าม การตรวจไขกระดูก บางรายอาจต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อตรวจดูต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
-
ก่อนการรักษาควรประเมินสภาพความพร้อมของร่างกายของผู้ป่วยก่อน ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากจะช่วยประกอบการตัดสินใจว่าผู้ป่วยจะสามารถรับยาเคมีบำบัดในขนาดเต็มที่ได้หรือไม่ และยังเป็นปัจจัยการพยากรณ์โรคที่สำคัญอีกด้วย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รักษาโดยการฉายรังสีเฉพาะที่ หรือให้ยาเคมีบำบัดแล้วตามด้วยการฉายรังสีเฉพาะที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะโรคและชนิดย่อยของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์3. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 436-444.
2. Anthony S.Fauci, Eugene Braunwald, et al, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 17th edition. 2008, 551-562.
3. Alfred P.Fishman, Jack A.Elias, et al, editors. Fishman’s pulmonary diseases and disorders. Fourth edition. 2008, 1799-1941.
18 กรกฎาคม 2553
30 มีนาคม 2554