ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 861
Small_font Large_font

มะเร็งปอด (Lung cancer)

คำจำกัดความ

ปกติเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเมื่อทำงานไปถึงอายุขัยก็จะเสื่อมลงและตายไป ร่างกายจะสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไป การสร้างเซลล์ใหม่อยู่ใต้การควบคุมของร่างกาย เมื่อไม่สามารถคุมการสร้างเซลล์ใหม่ได้ เซลล์นั้นจะเติบโตไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นก้อนเนื้อที่ผิดปกติ เราเรียกก้อนเนื้อส่วนนั้นว่าเนื้องอก (Neoplasm) ถ้าเนื้องอกนั้นโตขึ้นโดยเบียดอวัยวะของเราแต่ไม่แทรกออกไปทำลายอวัยวะใกล้เคียงเราก็เรียกว่า เป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย (Benign Tumor) แต่ถ้ามันทำลายอวัยวะของเราที่อยู่ใกล้เคียงกับมัน เราก็เรียกว่าเนื้อร้ายหรือ มะเร็ง (Cancer)

นอกจากนี้มะเร็งส่วนใหญ่ยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายทางกระแสน้ำเหลืองและกระแสเลือด การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เป็นเพราะเซลล์ที่ปกติถูกกระตุ้นหรือถูกพิษทำให้ส่วนประกอบของเซลล์ DNA หรือยีน เปลี่ยนไปกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ

โดยทั่วไปเราแบ่งมะเร็งของปอดเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มซึ่งเซลล์ของมะเร็งเป็นเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) และกลุ่มที่เซลล์ของมะเร็งไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC)

1. กลุ่มมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) พบราวๆ 15-20% มะเร็งพวกนี้แพร่ไปเร็ว แม้ว่าเมื่อแรกพบ มะเร็งจะยังมีก้อนเล็กแต่ก็มักแพร่กระจายไปแล้ว การรักษามะเร็งพวกนี้จึงมักเป็นการรักษาทางยา

2. กลุ่มมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) พบประมาณ 80% ของมะเร็งปอด พวกนี้การพยากรณ์โรคดีกว่าและมีชีวิตอยู่ได้นานกว่ากลุ่มมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็กมาก แบ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มมะเร็งชนิดไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็กตามลักษณะของเซลล์ ประกอบด้วย

  • เซลล์ชนิด Squamous Cell Carcinoma ประมาณ 40-45% มะเร็งพวกนี้สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่มาก มักพบในปอดส่วนกลางใกล้ๆ ขั้วปอด
  • เซลล์ชนิด Adenocarcinoma ประมาณ 25-30% มักพบในปอดส่วนนอก อาจพบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่ และอาจเกิดจากแผลเป็นในปอด เช่น แผลเป็นวัณโรค แผลเป็นจากปอดบวม เป็นต้น
  • เซลล์ชนิด Large Cell Undiferentiated Cancer ประมาณ 5-10%
  • เซลล์ชนิด Bronchioloalveolar Carcinoma น้อยกว่า 5%
  • เซลล์ชนิดอื่นๆ น้อยกว่า 5%
  • มะเร็งของเยื่อหุ้มปอด หรือ Mesothilioma พบได้ในพวกทำงานอุสาหกรรมหรือเหมืองแร่โดยเฉพาะเกี่ยวกับผง Abestos

ผู้ป่วยเป็นมะเร็งของปอดจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร แล้วแต่เวลาที่ตรวจพบและเริ่มรักษา และขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งนั้นอยู่ในระยะไหน การแบ่งระยะของมะเร็งจึงมีความสำคัญในการพยากรณ์โรคโดยเฉพาะมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) ส่วนมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) นั้นการแบ่งระยะของโรคมีความสำคัญน้อยกว่าเพราะโรคแพร่เร็วและผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ระยะสั้นๆ หลังเป็นโรค อีกทั้งการรักษาก็ยังไม่ได้ผลดี

ระยะของมะเร็งแต่ละชนิด
มะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) นั้นการแบ่งระยะของโรค สามารถแบ่งออกเป็นเพียง 2 ระยะเท่านั้น คือ

ระยะโรคจำกัดที่ (Limited Stage) หมายถึง มะเร็งอยู่ในปอดข้างหนึ่งและถ้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองก็ไปที่ทรวงอกด้านเดียวกัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ได้ 2 ปี ประมาณ 20%

ระยะที่โรคกระจายไปแล้ว (Extensive Stage) หมายถึง โรคกระจายไปยังปอดด้านตรงข้ามแล้ว หรือกระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ได้ 2 ปี ประมาณ 5%

สำหรับมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) นั้น มีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่ามากโดยเฉพาะผู้ป่วยที่พบในระยะแรก (Stage I)

การแบ่งระยะของมะเร็งกลุ่มนี้ ใช้ระบบที่เรียกว่า TNM System (T คือ ขนาดของก้อนมะเร็ง, N คือ การลุกลามของมะเร็งไปต่อมน้ำเหลือง, M คือ มีการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น)

  • Stage 0 : มะเร็งพบในหลอดลมแต่ไม่กินลึกลงไปในปอด อยู่เฉพาะที่ และไม่กระจายไปที่ใด (Carcinoma in Situ)
  • Stage I : มะเร็งจำกัดอยู่ในปอด ยังไม่กระจายแพร่ออกไป ก้อนมะเร็งจะโตเท่าไรก็ได้
  • Stage II : มะเร็งแพร่กระจายไปในต่อมน้ำเหลืองในปอดข้างเดียวกันแล้ว
  • Stage IIIA : มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ หลอดลม อาจลามไปถึงทรวงอก และกระบังลมข้างเดียวกัน
  • Stage IIIB : มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ปอดด้านตรงข้าม และที่คอ
  • Stage IV : มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นในร่างกายแล้ว

อัตราการตายขึ้นอยู่กับระยะของโรค จากรายงานของสมาคมโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา พบว่าจำนวนร้อยละของผู้ป่วยในแต่ละกลุ่มที่มีชีวิตอยู่ได้ 5 ปี แบ่งเป็นแต่ละกลุ่มได้ดังนี้ : Stage I = 47%, Stage II = 26%, Stage III = 8%, Stage IV = 2% ผู้ป่วยใน Stage I นั้นขนาดของก้อนมะเร็งมีความสำคัญมาก ก้อนมีขนาดเล็กจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าก้อนโต

ในประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นโรคที่พบมากและเป็นสาเหตุการตาย ในอันดับต้นๆ ทั้งในเพศชายและหญิง โดยอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเพศหญิง ผู้ป่วยมะเร็งปอด ส่วนใหญ่ (80-90%) เกิดจากการสูบบุหรี่จึงสามารถป้องกันได้ ธรรมชาติทางชีววิทยาของมะเร็งปอด ทำให้เราพบผู้ป่วย เมื่อเริ่มมีอาการในขณะที่โรคอยู่ในระยะลุกลามและแพร่กระจาย เป็นผลให้ผู้ป่วยประมาณ 90% เสียชีวิตจากโรคมะเร็งภายในเวลา 1-2 ปี

มะเร็งปอดพบมากในคนอายุ 50-75 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80%) จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ และ ประมาณ 5% จะเป็นผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 26%

จำนวนมวนของบุหรี่ที่สูบต่อวัน และ ชนิดของบุหรี่ที่สูบจะสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ผู้ที่สูบบุหรี่10-13% จะเกิดมะเร็งปอดภายในเวลา 30-40 ปี อย่างไรก็ตามถ้าเลิกสูบบุหรี่ก็สามารถลดอัตราการเสี่ยง ต่อการเกิดมะเร็งปอดลงเหลือเท่าผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ภายในเวลา 10-15 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่ และ เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปอด

สารก่อมะเร็งที่อาจเป็นสาเหตุของโรคในผู้ป่วย 10-15% ซึ่งไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ แอสเบสตอส (ตัวอย่าง เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานผลิตผ้าเบรครถยนต์ เป็นต้น) โดยเฉพาะถ้าผู้นั้นสูบบุหรี่ด้วย จะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งสูงถึง 50 เท่า สารก่อมะเร็งอื่นได้แก่ แร่เรดอน มลภาวะในอากาศจากอุตสาหกรรมโลหะหนัก ควันมลภาวะในสิ่งแวดล้อม การฉายรังสีเพื่อรักษา

มะเร็งชนิดอื่นก็อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ร่วมด้วย นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มะเร็งปอดเป็นโรคที่ตรวจค้นหาในระยะเริ่มแรกได้ยาก การนำเอาผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ชายสูบบุหรี่อายุเกิน 40 ปี) มาตรวจเสมหะและเอ็กซเรย์ปอดเพื่อพยายามจะลดอัตราการตายจากโรคมะเร็ง พบว่า สามารถพบ ผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มแรกมากขึ้น แต่ไม่สามารถลดอัตราตายลงได้ เชื่อว่าเนื่องจากมะเร็งปอดแม้จะมีขนาดเล็กก็พบการแพร่กระจายได้สูง มะเร็งปอดมักจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคลุกลามมากแล้ว อาการที่พบได้แก่ อาการไอ หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ปอดอักเสบบ่อย และเจ็บลึกที่หน้าอก หายใจลำบากจากน้ำท่วมปอด เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีอาการเนื่องจากมะเร็งลุกลามหรือแพร่กระจาย เช่น เสียงแหบ อาการทางสมอง ปวดกระดูก เป็นต้น

อาการ

มะเร็งปอดในระยะแรกจะยังไม่มีอาการ ส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงเมื่อโรคเป็นมากแล้ว อาการที่อาจพบได้ คือ

  • อาการทางปอด มี ไอ ไอมีเสมหะ ไอเป็นเลือด เหนื่อย เจ็บหน้าอก ไข้อาจเป็นจากการติดเชื้อหรือจากมะเร็งก็ได้
  • อาการจากมะเร็ง มี เพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • อาการจากการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ไปต่อมน้ำเหลืองจะมีต่อมน้ำเหลืองโต บางคราวอาจอุดหลอดเลือดที่พบบ่อยคือ การอุดหลอดเลือดดำที่คอทำให้เลือดคั่งบวมที่หน้า อาจร่วมกับอาการอื่น ไปที่เยื่อหุ้มปอดทำให้มีน้ำในช่องเยื่อบุหุ้มปอด (Pleural Effusion) ไปที่สมอง มีปวดหัว ชัก อัมพาต ซึม หมดสติ ไปที่กระดูก มีปวดกระดูก กระดูกหัก ไปที่ตับ มีตัวเหลือง ตาเหลือง

ผู้ป่วยบางรายมีอาการที่เรียกว่า Paraneoplastic Syndrome ซึ่งปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการพวกนี้ อาการเหล่านี้ประกอบด้วย มีไข้หนาวสั่น ปวดข้อและกล้ามเนื้อ ข้อบวม ระดับแคลเซี่ยมในเลือดสูง และระดับฮอร์โมนบางตัวในเลือดสูง อาการเหล่านี้จะหายไปถ้าสามารถตัดก้อนมะเร็งออกไป และถ้าโรคกลับมาอาการก็จะกลับมาใหม่ได้

  • ไอเรื้อรัง \ ไอเป็นเลือด
  • หอบเหนื่อย \ เจ็บแน่นหน้าอก
  • น้ำหนักลดรวดเร็ว \ เบื่ออาหาร
  • กลืนอาหารลำบาก
  • เสียงแหบ
  • มีก้อนที่คอ (มะเร็งกระจายมาตามต่อมน้ำเหลืองที่คอ)
  • ปวดกระดูกซี่โครง ไหปลาร้า ปวดกระดูกสันหลัง (มะเร็งกระจายมากระดูก)
  • แขน ขา อ่อนแรง (มะเร็งกระจายไปสมอง)
  • ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้
  • อัมพาต เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจาย ไปยังสมองหรือไขสันหลัง
  • บวมที่หน้า คอ แขน และอกส่วนบน เนื่องจากมีเลือดดำคั่ง

โดยอาการดังกล่าว อาจเป็นอาการร่วมของโรคต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป

การแยกโรค
ในระยะที่มีอาการไอหรือเจ็บหน้าอก น้ำหนักตัวยังไม่ลด อาจแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

  • หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการไอมีเสมหะ โดยไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร ไม่อ่อนเพลีย มักจะมีอาการหลังจากเป็นไข้หวัด
  • ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นตรงลิ้นปี่ และร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ หรือต้นแขนมักพบในคนสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันเลือดสูง คนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด

ในระยะที่มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

  • วัณโรคปอด ผู้ป่วยมักมีอาการไข้และไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ หรือไอมีเลือดปนเสมหะร่วมด้วย
  • มะเร็งตับ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บบริเวณชายโครงข้างขวา คลำได้ก้อนแข็งที่ใต้ชายโครงขวา (เป็นก้อนของตับที่โต) ท้องบวมร่วมด้วย

สาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมีหลายอย่าง ที่สำคัญคือ การสูบบุหรี่ ประมาณ 80% ของมะเร็งปอดเกิดในผู้ที่สูบบุหรี่ ยิ่งสูบวันละมากๆ และสูบมานานยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น

  • ผู้สูบมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบ ถึง 10 เท่า
  • ผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่ของผู้อื่นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน
  • ควันบุหรี่ มีสารประกอบมากกว่า 4,000 ชนิด และในจำนวนนี้ ประมาณ 60 ชนิด ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ตัวกระตุ้นและตัวส่งเสริมให้เกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ทาร์ นิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นต้น
  • มะเร็งปอดพบมากในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งนิยมสูบบุหรี่พื้นเมือง ยามวน ซึ่งมีปริมาณทาร์ และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ สูง
  • ผู้สูบบุหรี่โดยเฉลี่ยมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 12 เท่า
  • ผู้ที่สูบบุหรี่นานไม่เกิน 20 ปี จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 9 เท่า
  • ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 21-40 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 30 เท่า
  • ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 41-60 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 47 เท่า
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดร้อยละ 80 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี
  • ผู้ที่ต้องดูดควันบุหรี่ของคนอื่น เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งด้วย

ประโยชน์ของการหยุดบุหรี่

  • ถ้าผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดบุหรี่ได้ทัน ก่อนที่ปอดจะได้รับความเสียหายอย่างถาวร โอกาสของการเกิดโรคมะเร็งปอดจะลดลงทันที
  • ผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้นาน 10-15 ปี จะลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้ครึ่งหนึ่ง
  • สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอดแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะทำให้อาการดีขึ้น และอยู่ได้นานขึ้นกว่าผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป

ผงแอสเบสตอส (Asbestos) เป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ ผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีการใช้ แอสเบสตอสในอุตสาหกรรมนั้นๆ รวมทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของๆ ที่ใช้ในบ้านด้วยทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ คนงานที่ทำงานในโรงงานอุสาหกรรมนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งในปอดมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า และถ้าสูบบุหรี่ด้วยโอกาสเป็นมากกว่าถึง 50-90 เท่า นอกนั้นอาจทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อหุ้มปอด (Mesothelioma)

เรดอน (Radon) เป็นก๊าซกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของยูเรเนี่ยม ซึ่งหลายแห่งมีสารยูเรเนี่ยมอยู่ในดินจะมีก๊าซเรดอนสูงกว่าปกติรวมทั้งในเหมืองบางแห่ง โอกาสที่มีเรดอนสูงกว่าปกติจะทำให้คนเป็นมะเร็งได้โดยเฉพาะถ้าสูบบุหรี่ด้วยยิ่งเป็นมากขึ้น

สารในที่ทำงานที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ และเราควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ยูเรเนี่ยม (Uranium), สารหนู (Arsenic), พลาสติก (Vinyl), คลอไรด์ (Chloride), นิเกิล (Nickel Chromates), ผลิตภัณท์จากถ่านหิน (Coal Products), ควันพิษมัสตัส (Mustard Gas), อีเธอร์ (Chloromethyl Ethers), น้ำมันเบนซิน (Gasoline), ควันท่อไอเสียจากน้ำมันดีเซล (Diesel Exhaust)

กัญชา (Marijuana) บุหรี่กัญชาจะมีน้ำมันดิบปนมากกว่าบุหรี่ธรรมดา และยังมีสารอื่นที่ทำให้เกิดมะเร็งร่วมอยู่ด้วย ยิ่งกว่านั้นผู้สูบกัญชามักสูดควันเข้าไปลึกและกลั้นหายใจค้างไว้ทำให้ควันถึงปอดได้มากกว่า

รังสีรักษามะเร็ง (Radiotherapy) ผู้ที่ต้องฉายแสงรังสีเพื่อรักษาโรคในทรวงอกด้วยรังสีรักษาอาจเกิดมะเร็งของปอดได้ โดยเฉพาะถ้าสูบบุหรี่ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น

โรคอื่นๆ โรคที่ทำให้เกิดมีแผลเป็นในปอด เช่น วัณโรค ปอดบวมบางอย่าง อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งในปอด บางโรคที่เกิดจากการหายใจเอาสารแร่เข้าไปในปอดอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น เช่น โรคซิลิโคซีส

ประวัติครอบครัว ถ้ามีบุคลในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันเป็นมะเร็งปอด เรามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

อาหาร มีรายงานแนะว่า ผู้ที่ทานอาหารที่มีผลไม้และผักน้อยมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น และมีผู้เชื่อว่าอาหารพวกนี้อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งของปอด

มลภาวะเป็นพิษ อาจทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าสูบบุหรี่ ผู้ที่อยู่ในเมืองมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่อยู่ในชนบท 1.2-2.3 เท่า

การวินิจฉัย

  • 1. ถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • 2. ตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง (Sputum Cytology)
  • 3. ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม (Bronchoscopy)
  • 4. ตัดชิ้นเนื้อจากหลอดลมหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ไปตรวจเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา (Biopsy, Scalene node biopsy)

ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน (เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) หรือมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) ทำให้หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ที่สำคัญคือ มะเร็งมักจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ไขสันหลัง ตับ กระดูก ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย พิการ หรือทุกข์ทรมาน

อาการต่างๆ ประกอบด้วย

  • หายใจหอบเหนื่อย : ถ้ามะเร็งกั้นทางเดินหายใจ หรือมีการคั่งของของเหลวรอบๆปอดทำให้ปอดขยายลำบาก
  • ไอเป็นเลือด
  • ปวด : ถ้าในระยะท้ายๆ มะเร็งปอดสามารถแพร่ไปยังส่วนอื่นของร่างกายและทำให้เกิดอาการปวดได้ อาการปวดอาจปวดน้อยๆ ปวดชั่วคราว หรือปวดตลอดก็ได้
  • มีของเหลวคั่งในช่องอกหรือน้ำคั่งในเยื่อหุ้มปอด จากการแพร่ของมะเร็งไปนอกปอดหรือจากผลของมะเร็งในปอด
  • มะเร็งแพร่ไปยังส่วนอื่นของร่างกาย : โดยมักไปที่ปอดอีกด้าน สมอง กระดูก ตับ และต่อมหมวกไต ซึ่งจะทำให้ปวด คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หรืออาการตามอวัยวะที่แพร่ไป
  • เสียชีวิต : มะเร็งปอดมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก โดยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิต ดังนั้นหากวินิจฉัยได้ก่อนในระยะต้นๆจะมีโอกาสในการรักษาได้มากกว่า

การรักษาและยา

เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้ว แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษา แบบใด จึงจะเหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาถึงอายุ ภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ระยะของโรค ชนิดของมะเร็ง และการยอมรับของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วย

  • 1. การผ่าตัด หากเป็นในระยะเริ่มแรก
  • 2. รังสีรักษา
  • 3. เคมีบำบัด
  • 4. การรักษาแบบผสมผสาน คือ การใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันเพื่อบรรเทาอาการ
  • 5. การรักษาแบบประคับประคอง

การป้องกัน 1. เลิกสูบบุหรี่ 2. หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม 3. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น และอาหารที่มีวตามินซี วิตามินอี รวมทั้งเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด 4. การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มสุรา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

แหล่งอ้างอิง

1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์3. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 436-444.
2. Anthony S.Fauci, Eugene Braunwald, et al, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 17th edition. 2008, 551-562.
3. Alfred P.Fishman, Jack A.Elias, et al, editors. Fishman’s pulmonary diseases and disorders. Fourth edition. 2008, 1799-1941.
4. Harvey I.pass, David P.carbone, et al, editors. Lung cancer principles and practice. Third edition.2005.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย