ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 460
Small_font Large_font

ภาวะพร่องแล็กเทส (Lactase deficiency)

คำจำกัดความ

ภาวะพร่องแล็กเทส เป็นภาวะที่ร่างกายของคุณไม่สามารถย่อยน้ำตาลในนมได้เนื่องจากขาดเอนไซม์ที่ชื่อว่า “แล็กเทส” แล็กเทสเป็นเอนไซม์ที่สร้างจากเซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กทำน้าที่ในการย่อยน้ำตาลที่ชื่อว่า “แล็กโทส” ซึ่งเป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในนม เมื่อร่างกายของเราไม่สามารถย่อยน้ำตาลในนมได้ก็จะทำให้เกิดอาการท้องอืด ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ แน่นท้อง ปวดมวนท้อง และถ่ายเหลว

ภาวะพร่องแล็กเทสมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับปริมาณของเอนไซม์แล็กเทสที่ขาดไป บางคนไม่สามารถสร้างเอนไซม์แล็กเทสได้เลยก็จะมีอาการรุนแรงเพราะสามารถย่อยน้ำตาลในนมได้เลย แต่บางรายร่างกายยังสามารถสร้างเอนไซม์แล็กเทสได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอทำให้ไม่สามารถย่อยน้ำตาลในนมได้ทั้งหมดจึงเกิดอาการดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น

อาการ

อาการจะเกิดขึ้นหลังดื่ม นมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม ประมาณ 10 นาที ถึง 2 ชั่วโมง อาการมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของภาวะพร่องแล็กเทสและปริมาณนม หรือผลิตภัณฑ์ของนมกินเข้าไป อาการที่เกิดขึ้นได้แก่ ท้องอืด มีลมในลำไส้มาก คลื่นไส้ ปวดมวนท้องและถ่ายเหลว ส่วนปริมาณนมที่ดื่มจนทำให้เกิดอาการท้องเดินนั้นแปรผันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย บางรายดื่มนมได้วันละ ๑-๒ แก้วก็ไม่เกิดอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายเพียงดื่มนมปริมาณเล็กน้อยก็เกิดอาการท้องเดิน

สาเหตุ

เกิดจากลำไส้ขาดเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่มีชื่อว่า “แล็กเทส (lactase)” เอนไซม์ชนิดนี้สร้างโดยเยื่อบุลำไส้เล็กทำหน้าที่ในการย่อยน้ำตาลชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “แล็กโทส (lactose)” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของน้ำนมทั้งนมมารดา นม วัว และนมแพะ น้ำตาลแล็กโทสจะถูกย่อยให้แตกตัวออกเป็นน้ำตาลที่มีขนาดเล็กลง 2 ชนิด ได้แก่ กลูโคส (glucose) กับกาแล็กโทส (galactose) ซึ่งลำไส้สามารถดูดซึมได้ดี แต่ถ้าร่างกายขาดเอนไซม์แล็กเทส น้ำตาลแล็กโทส ในนมไม่ถูกย่อยให้เป็นน้ำตาลที่มีขนาดเล็กลง ลำไส้ก็ไม่สามารถดูดซึมแล็กโทส เป็นผลให้มีการดึงดูดน้ำเข้ามาในโพรงลำไส้ และเมื่อแล็กโทสเคลื่อนผ่านลงไปในลำไส้ใหญ่ ก็จะทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่ เกิดเป็นแก๊ส (ลม) และสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด (ได้แก่ กรดแล็กติก และกรดอื่นๆ) ทำให้เกิดอาการท้องอืดและท้องเดินหลังดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น ช็อกโกแลต ไอศกรีม น้ำสลัด เนย คุกกี้ เป็นต้น)

สาเหตุที่ร่างกาย พร่องเอนไซม์แล็กเทส ส่วนใหญ่จะไม่มีสาเหตุชักนำ แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายคนเราที่ลำไส้เล็กจะสร้าง เอนไซม์ชนิดนี้มากที่สุดตอนแรกเกิด และจะค่อยๆ สร้างได้น้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มักจะเริ่มปรากฏอาการท้องเดินหลังดื่มนมเมื่ออายุประมาณ ๓-๕ ขวบ บางคนอาจเกิดภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส หลังจากเป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อซึ่งเชื้อโรคจะเข้าไปทำลายเยื่อบุ ลำไส้ ทำให้สูญเสียหน้าที่ในการสร้างน้ำย่อยชนิดนี้ ที่พบบ่อย ได้แก่ ทารกหรือเด็กเล็กที่เป็นโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา (rotavirus) หลังจากโรคนี้ทุเลาแล้ว เด็กจะมีอาการท้องเดินทุกครั้งที่ดื่มนม (ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดื่มนมตามปกติ) ซึ่งมักจะเป็นอยู่หลายสัปดาห์ แล้วในที่สุดเยื่อบุลำไส้จะฟื้นตัวกลับมาสร้างเอนไซม์ได้เหมือนเดิม อาการท้องเดินก็จะหายไปได้ ส่วนน้อยมากที่อาจมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ทำให้เยื่อบุลำไส้เล็กไม่สามารถสร้างเอนไซม์แล็กเทสตั้งแต่แรกเกิด ทำให้มีอาการท้องเดินทุกครั้งที่ดื่มนม และจะเป็นอย่างถาวรไปชั่วชีวิต ภาวะนี้เป็นภาวะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก และอาจทดลองให้ผู้ป่วยงดดื่มนมและงดกินผลิตภัณฑ์จากนมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถ้าหายเป็นปกติ ก็มักจะเป็นภาวะนี้จริง ในกรณีที่ไม่แน่ใจ อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จะทำการตรวจระดับไฮโดรเจนในลมหายใจ (hydrogen breath test) ซึ่งพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติ ส่วนทารกและเด็กเล็กอาจทำการตรวจหาระดับความเป็นกรดในอุจจาระ (stool acidity test) ซึ่งพบว่าสูงกว่าปกติ หากสงสัยมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ ก็อาจต้องทำการตรวจเลือด ปัสสาวะ ส่องกล้อง เอกซเรย์ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากสร้างความรำคาญ ส่วนทารกและเด็กเล็กที่อาศัยนมเป็นอาหารหลัก หากเกิดอาการท้องเดินเรื้อรัง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวไม่ขึ้นได้ โอกาสที่จะเป็นรุนแรงถึงขั้นขัดขวางการดูดซึมจนน้ำหนักลด และขาดสารอาหารนั้นมีน้อยมาก ถ้าพบมักจะเกิดจากการดูดซึมผิดปกติด้วยสาเหตุอื่น

การรักษาและยา

ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ต้องลดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานนมและผลิตภัณฑ์ของนมเพื่อลดการเกิดอาการดังที่ได้กล่างไปแล้วข้างต้น
การ ดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ภายใน 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง หลังดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม ให้ลองงดอาหารพวกนี้สัก 2 สัปดาห์ ถ้าหายดีก็น่าจะเป็นภาวะนี้ แต่ถ้าไม่แน่ใจ หรือพบในทารกหรือเด็กเล็ก หรือมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เมื่อพบว่าเป็นภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม ก็ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • สำหรับทารกควรให้ดื่มนมถั่วเหลืองแทนนมมารดาและนมวัว
  • สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ควรดื่มนมครั้งละน้อยๆ (น้อยกว่า 120 มล. หรือสังเกตว่าดื่มปริมาณเท่าใดจึงจะไม่เกิดอาการ) หรือดื่มพร้อมกับอาหารมื้อหลัก หรือกินโยเกิร์ต (ซึ่งผ่านการย่อยโดยแบคทีเรียมาระดับหนึ่งแล้ว) ก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการ หรือลดอาการให้น้อยลงได้ ถ้าไม่ได้ผลควรดื่มนมถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู แทน
  • ถ้าจำเป็นต้องงดดื่มนมโดยเด็ดขาด ควรกินโปรตีน แคลเซียมและสารอาหารอื่นๆ (ที่มีอยู่ในนม) จากแหล่งอาหารอื่น เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ งา ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง ผักใบเขียว หากไม่แน่ใจว่าจะได้รับปริมาณแคลเซียมพอ ก็ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรในการกินยาเม็ดแคลเซียม เสริม
  • ถ้าต้องการดื่มนมและกินผลิตภัณฑ์นมต่อไป (ทั้งๆ ที่ทำให้มีอาการไม่สบายท้อง) ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการกินเอนไซม์แล็กเทส (ในรูปของยาเม็ด) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งอาจช่วยให้ไม่เกิดอาการได้

การดำเนินโรค

หากเป็นภาวะพร่องแล็กเทสที่เกิดหลังจากเป็นโรค อุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ อาการมักจะเป็นเพียงชั่วคราวและหายได้เองภายใน 3-4สัปดาห์ ส่วนในรายที่เป็นแบบเรื้อรังก็ควรดูแลตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาและดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้

แหล่งอ้างอิง

  1. Lactose intolerance. In: Ferri FF. Ferri’s Clinical Advisor 2010. Philadelphia, Pa.: Mosby; 2010. http://www.mdconsult.com/das/book/body/178347893-5/0/2088/0.html. Accessed Jan. 14, 2010.
  2. Mayoclinic staff. Lcctose intolerance. http://www.mayoclinic.com/health/lactose-intolerance/DS00530 . Feb. 16, 2010


18 กรกฎาคม 2553 11 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย